11505066114_6cbb57d890_z_610x410

จุดเด่นและจุดด้อยของการอ่านหนังสือคือการที่ผู้อ่านต้องจินตนาการถึงอารมณ์ ความรู้สึกและวาดภาพเรื่องราวขึ้นมาเองในจินตนาการ ที่บอกว่าเป็นจุดเด่นเพราะว่าสำหรับคนช่างคิด ช่างฝันและมีอารมณ์ร่วมไปกับเรื่องราว จะรู้สึกและเห็นภาพชัดเจน เป็นจินตนาการเฉพาะตัว แต่สำหรับคนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ การต้องมานั่งจินตนาการเรื่องเหล่านี้เองก็กลับเป็นจุดด้อยที่ทำให้หนังสือน่าเบื่อไปซะอย่างนั้น

นักศึกษาจาก MIT Media Lab (แล็ปวิจัยเรื่องเทคโนโลยี การออกแบบและสื่อประสมของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์หรือ MIT ที่เคยมีงานวิจัยอย่าง e-ink หรือ OLPC ออกในเชิงพาณิชย์แล้ว) จึงได้สร้าง SENSORY FICTION ต้นแบบของหนังสือที่สื่ออารมณ์ได้มากขึ้น พร้อมอุปกรณ์สวมใส่กับร่างกายที่อาจเรียกได้เป็นว่า Wearable book เล่มแรกๆ ของโลก

SENSORY FICTION ตัวต้นแบบนั้นใช้เนื้อหาจาก The Girl Who Was Plugged In นิยายวิทยาศาสตร์โดย James Tiptree ที่มีความหลากหลายทางอารมณ์ในเรื่องสูง ทั้งตึงเครียด กดดัน รักๆ ใคร่ๆ ไปจนช่วงที่สบายใจ โดยเมื่อผู้อ่านพลิกหน้ากระดาษ ไฟ LED ที่อยู่บนปกหนังสือจะเรืองแสงเป็นสีต่างๆ ให้อารมณ์กับผู้อ่านตามเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในหน้านั้นๆ พร้อมส่งเสียงประกอบได้ นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ที่ให้ผู้อ่านสวมใส่ระหว่างอ่านหนังสือ ที่จะให้ความร้อน แรงบีบ และจังหวะการเต้นของiหัวใจไปตามเนื้อเรื่อง เช่น ในช่วงที่ตัวละครเอกกดดันมากๆ ผู้อ่านก็จะรู้สึกอึดอัดไปด้วย

ก็ไม่รู้ว่าการทดลองครั้งนี้ของ MIT Media Labs จะประสบความสำเร็จจนได้ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์จริงๆ ออกมาวางจำหน่ายไหม แต่ก็ต้องนับถือในความคิดสร้างสรรค์ของผู้สร้างจริงๆ

ที่มา: CNET