เรื่องแรกที่อยากอัพเดทให้ฟังกันคือ ผู้ใช้ iPhone สามารถติดตั้ง Emulator ของ GameBoy Advance ลงในเครื่องโดยไม่ต้องเจลเบรกได้แล้ว!
และข่าวร้ายต่อมาคือตอนนี้แอปเปิ้ลบล็อกช่องโหว่นี้ไปเรียบร้อย ทำให้ติดตั้ง Emulator ไม่ได้แล้ว T T


Emulator หรือแอพจำลองการทำงานของเครื่องต่างๆ นั้นเป็นแอพต้องห้ามใน App Store เสมอ ซึ่งมีกฏระบุไว้ชัดเจนว่าห้ามแอพลักษณะนี้เข้าไปขายในสโตร์
เพราะถึงตัว Emulator จะไม่ผิดกฏหมาย แต่การหาเกมหรือรอมเข้าไปเล่นกับ Emulator ส่วนใหญ่นั้นได้มาจากแหล่งผิดกฏหมายทั้งสิ้น ซึ่งถ้าเปิดให้ Emulator สามารถจำหน่ายได้ในแอพสโตร์อย่างเสรี ค่ายเกมต่างๆ คงไม่สามารถขายเกมรีเมกได้ เพราะผู้ใช้คงโหลดเกมเถื่อนมาเล่นผ่าน Emulator กันหมด
กรณีล่าสุดของอีมูเลเตอร์เครื่อง Gameboy Advance คือ GBA4iOS ที่อาศัยช่องโหว่ของ iOS Developer Enterprise Program ทำให้สามารถติดตั้งแอพจากเว็บลงเครื่องได้โดยไม่ต้องผ่าน App Store
iOS Developer Enterprise Program คือช่องที่แอปเปิ้ลเปิดไว้สำหรับองค์กรที่ต้องการพัฒนาแอพใช้เองในบริษัท โดยสามารถติดตั้งแอพที่ลงทะเบียนไว้กับโปรแกรมนี้ในอุปกรณ์ iOS ต่างๆ โดยไม่ผ่าน App Store ได้ ซึ่งแอปเปิ้ลจำกัดไว้ให้ลงแอพได้เพียง 100 เครื่องเท่านั้น
แต่ GBA4iOS อาศัยช่องโหว่บางอย่างของโปรแกรมนี้ ทำให้สามารถติดตั้งแอพลงกี่เครื่องก็ได้
ซึ่งตอนนี้แอปเปิ้ลก็จัดการกับช่องโหว่นี้เรียบร้อยแล้ว ทำให้เราไม่สามารถติดตั้ง GBA4iOS จากเว็บง่ายๆ ได้อีกต่อไป และคนที่เคยติดตั้งแอพแล้วก็จะเปิดแอพไม่ได้ด้วย
ถ้าใครอยากใช้ Emulator ต่อ ตอนนี้คงต้องเจลเบรกหรือสมัครบัญชี Dev กับแอปเปิ้ล (คิดปีละ $99) แล้วโหลดไฟล์ GBA4iOS เข้าไปเอง

Play video

จบเรื่องอีมูเลเตอร์เฉียดสโตร์ไปแล้ว มาดูแอพชื่อดังที่เคยเข้าไปอยู่ใน App Store แล้วถอดออกมาและกลับเข้ามาใหม่อย่าง VLC บ้าง

vlc_for_ios-620x330
VLC หรือ VideoLAN Client โปรแกรมที่ตั้งใจจะเอาไว้เล่นไฟล์มีเดียผ่าน LAN แต่พัฒนาไปๆ มาๆ 12 ปี ก็กลายเป็นโปรแกรมเล่นไฟล์มีเดียครอบจักรวาล ที่พอร์ตไปยังระบบปฏิบัติการ หลากหลายมากที่สุดตั้งแต่ Windows, OS X, Linux, Android และสุดท้ายมันก็ลง iOS จนได้
การเดินทางของ VLC กับ iOS นั้นยาวนานมาตั้งแต่ปี 2011 ที่บริษัท Applidium นำโค้ดของ VLC ที่เปิด Open Source อยู่แล้วมาพัฒนาต่อออกมาเป็นแอพเวอร์ชั่น iOS ให้โหลดฟรี  แต่ก็อยู่บน App Store ได้ไม่กี่เดือน VLC ของ Applidium ก็ถูกนักพัฒนาในโครงการหลักออกมาโวยวาย ด้วยเหตุผลที่เถรตรงจนน่าหงุดหงิด คือ VLC เผยแพร่ใน App Store ไม่ได้เพราะขัดกับสัญญา GPL(General Public License)  ที่ถึงแอพจะแจกฟรี ด้วยมีข้อจำกัดในการแจกจ่ายทำให้ไม่ตรงตามข้อกำหนดใน GPL
จนสุดท้ายแอปเปิ้ลก็ต้องถอด VLC ออกจากแอพสโตร์ไป

ล่า สุดทาง VideoLAN ก็ส่งแอพ VLC ที่พัฒนาขึ้นโดยทีมงานหลักขึ้น App Store เรียบร้อยแล้ว โดยใช้สัญญาในการแจกจ่ายแบบ Mozilla Public License v2 ทำให้ไม่มีปัญหาในการโหลดฟรีผ่าน App Store แล้ว ความสามารถของ VLC ตัวใหม่ใน iOS คือสามารถอัพโหลดวิดีโอขึ้นแอพผ่าน Wifi ได้, เรียกไฟล์จาก Dropbox ได้, โหลดไฟล์จากเว็บแล้วเล่นภายหลังได้, เล่นไฟล์สตรีมจากเน็ตเวิร์คได้ รวมถึงสามารถปรับสีวิดีโอได้  ตอนนี้สามารถดาวน์โหลดฟรีใน App Store ได้ทั้ง iPhone, iPad เลย

 

มาถึงเรื่องสุดท้ายที่แบไต๋ไฮเทคจะพูดถึงวันนี้คือราคาแอพเฉลี่ยใน App Store นั้นลดลงทุกปี
รายงาน จาก Flurry บริษัทวิเคราะห์ร้านค้าแอพต่างๆ ทั่วโลกระบุว่าในเดือนเมษายน 2013 ที่ผ่านมา ราคาเฉลี่ยแอพของ iPad นั้นอยู่ที่ $0.50 ส่วน iPhone อยู่ที่ $0.19 และ Android นั้นราคาเฉลี่ยต่ำสุดคือ $0.06

1.chart-infographic-iphone-android-ipad-app-average-price-macthai
ซึ่งจากการเก็บข้อมูลราคาแอพเฉลี่ยใน App Store แต่ละปี จะเห็นว่าจำนวนแอพฟรีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปี 2011 มีแอพฟรีอยู่ 80% ของตลาด ต่อมาในปี 2012 ก็เพิ่มขึ้นเป็น 84% และในปี 2013 ก็เพิ่มขึ้นเป็น 90%

2.chart-infographic-iphone-ipad-app-average-price-macthai
นอกจากแอพฟรีแล้ว สัดส่วนราคาของแอพที่มากรองลงมาก็คือ $0.99  ที่ผ่านมานักพัฒนาทดสอบการเปลี่ยนแปลง ราคาแอพอยู่เรื่อยๆ เช่นการลดราคาแอพเป็นช่วงๆ หรือการแจกฟรีแอพที่เคยขาย เพื่อทดสอบการตั้งราคากับผู้ใช้ ซึ่งข้อมูลจาก Flurry ก็บอกว่าสัดส่วนของแอพที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงราคาจนกลายเป็นแอพฟรีใน App Store นั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งจากตัวเลขเหล่านี้ก็พอวิเคราะห์ ได้ว่า ถึงคนจะไม่ชอบโฆษณาที่อยู่ในแอพ แต่ถ้าให้เลือกแอพฟรีที่มีโฆษณา กับแอพ $0.99 ที่ปลอดโฆษณา ผู้ใช้ส่วนใหญ่ก็ยังเลือกแอพฟรีมากกว่า และผู้ใช้ iOS มีแนวโน้มที่จะจ่ายเงินค่าแอพมากกว่า Android

จากตัวเลขแอพฟรีที่เพิ่มมากขึ้น ก็แสดงถึงความเติบโตในเนื้อหาแบบ free-to-play หรือต้องเสียเงินซื้อของในเกมได้เช่นกัน ซึ่งก็แสดงถึงรากฐานความคิดที่ว่า “เนื้อหาควรจะฟรี” ที่ผู้ใช้ปลูกฝังมายาวนานตั้งแต่สื่อโทรทัศน์, วิทยุ ที่ให้เสพกันฟรีๆ แล้วอาศัยรายได้จากโฆษณาเอา

ที่มา readwrite , tuaw , flurry