ถือเป็นเรื่องฮือฮาในวงการสอบภาษาอังกฤษ เมื่อผู้ใช้ทวิตเตอร์ หมี, ในโลกที่เข้าไม่ถึง ʕ´•ᴥ•`ʔ ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากเว็บไซต์ Oxford เว็บไซต์พจนานุกรมภาษาอังกฤษที่ได้บัญญัติศัพท์ pad-thai ให้เป็นคำศัพท์ระดับ C2 โดยในหมวดนี้จะเป็นคำศัพท์ที่รู้จักกันทั่วโลก ไม่ใช่แค่ชื่อเฉพาะ ซึ่งถ้ายังนึกไม่ออกคือถูกจัดอยู่ในหมวดเดียวกับ pizza tacos อาหารตะวันตกที่เราคุ้นเคย เหตุนี้ทำให้คำว่า pad-thai ไม่ต้องพิมพ์ตัวพิมพ์ใหญ่อีกต่อไป

C2 คือหนึ่งในระดับของภาษา ซึ่งมีมาตรฐานสากลที่สหภาพยุโรปจัดทำขึ้นเพื่อใช้วัดระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษทั้ง 4 ทักษะ ฟัง พูด อ่าน เขียน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม 6 ระดับ A1, A2, B1, B2, C1, C2

ระดับเริ่มต้น

  • A1 คือสามารถเข้าใจประโยคที่ใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน สามารถแนะนำตัวเอง ถามและตอบคำถามเกี่ยวกับรายละเอียดส่วนบุคคลได้ เช่น ของที่มี สถานที่อยู่อาศัย และสามารถโต้ตอบกับผู้อื่นได้ง่าย ๆ
  • A2 คือเข้าใจประโยคและสำนวนที่ใช้บ่อยเกี่ยวกับสิ่งรอบตัว เช่น ข้อมูลพื้นฐานส่วนตัว, ข้อมูลครอบครัว, การซื้อของ, ภูมิศาสตร์ท้องถิ่น และการจ้างงาน

ระดับกลาง

  • B1 คือเข้าใจจุดประสงค์หลักในเรื่องที่คุ้นพบเจอบ่อยในที่ทำงาน, โรงเรียน, เวลาว่าง สามารถจัดการรับมือสถานการณ์ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นระหว่างการท่องเที่ยว เชื่อมโยงและสื่อสารเรื่องที่คุ้นเคยอยู่แล้วได้ และสามารถอธิบายประสบการณ์ของเหตุการณ์, ความฝัน, ความต้องการส่วนตัว ด้วยเหตุผลหรือมีลักษณะเป็นแผนการได้
  • B2 คือเข้าใจแนวคิดหลักของเรื่องราวที่ซับซ้อนไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม รวมถึงในเชิงของความเชี่ยวชาญพิเศษ สามารถสื่อสารตอบโต้กับเจ้าของภาษาได้โดยไร้ความเคร่งเครียด สามารถสร้างถ้อยคำที่มีความละเอียดชัดเจนในหัวข้อที่หลากหลาย พร้อมอธิบายมุมมองเกี่ยวกับปัญหาเฉพาะที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียได้

ระดับสูง

  • C1 คือสามารถเข้าใจความต้องการที่หลากหลาย หนังสือที่มีข้อความยาวได้ มีความรู้ ความเข้าใจภาษาอย่างเป็นธรรมชาติ สามารถแสดงความคิดได้อย่างคล่องแคล่วและเป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้เวลามากนัก แต่ยังคงใช้ภาษาในการพูดคุยตั้งแต่ระดับไม่เป็นทางการไปจนถึงทางการได้อย่างยืดหยุ่น และสามารถทำความเข้าใจและเขียนเรื่องซับซ้อนออกมาได้
  • C2 คือสามารถเข้าใจและมองเห็นภาพได้ทั้งจากการอ่านหรือได้ยินอย่างง่ายดาย สามารถสรุปข้อมูลจากหลายๆแหล่งแล้วนำมาปรับคำและเชื่อมโยงถึงกันได้ สามารถแสดงออกและสื่อสารได้อย่างเป็นธรรมชาติ คล่องแคล่ว และแม่นยำ สามารถแยกแยะความหมายที่ใกล้เคียงกันของสถานการณ์ที่มีความซับซ้อนได้

นับเป็นเรื่องราวดีดีรับต้นปีสำหรับคำศัพท์คำนี้ การบัญญัติชื่ออาหารไทยนั้นถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์อีกอย่างหนึ่งเช่นกัน เพราะเป็นอาหารที่ชาวต่างชาติชื่นชอบและเป็นคำแรกที่ถูกบัญญัติในหมวดอาหารประจำชาติอีกด้วย

อ้างอิง 1

อ้างอิง 2

อ้างอิง 3

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส