ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมเผยว่า ประชาชนทั่วไป (18-59 ปี) สามารถจองคิวการฉีดวัคซีน ผ่านแอปฯหมอพร้อม ได้ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป โดยเมื่อจองคิวจากแอปหมอพร้อมแล้วจะได้วันนัดมา แต่เราก็สามารถ Walk-in ไปฉีดวัคซีนก่อนวันนัดได้ ซึ่งถ้าวัคซีนเหลือและเราได้ฉีด ระบบจะบันทึกข้อมูลพร้อมยกเลิกนัดเดิมให้อัตโนมัติ

เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมก่อนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่หลายคนอาจจะสงสัยว่า เราเป็นโรคนี้ กินยานี้อยู่ จะฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่ แบไต๋นำข้อมูลเหล่านี้มานำเสนอให้อ่านกันครับ

เริ่มจากกลุ่มโรคก่อน

  • โรคหัวใจและหลอดเลือด สามารถฉีดได้
  • โรคหลอดเลือดสมอง สามารถฉีดได้ (ยกเว้นผู้ป่วยที่อาการยังไม่คงที่หรือยังมีอาการที่อันตรายต่อชีวิต)
  • โรคลมชัก สามารถฉีดได้
  • ไทรอยด์ สามารถฉีดได้ (ไม่ว่าจะเป็นไทรอยด์แบบใดก็ตาม เช่น มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์, คอพอก, ไทรอยด์เป็นพิษหรือมีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ)
  • โรคปอดอุดกั้น, โรคหอบหืด สามารถฉีดได้
  • โรคมะเร็ง สามารถฉีดได้
    • ยกเว้นผู้ป่วยโรคมะเร็งที่กำลังได้รับการผ่าตัดหรือกำลังได้รับเคมีบำบัดควรปรึกษาแพทย์ก่อน
    • ผู้ป่วยมะเร็งระบบเลือด โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกควรฉีดหลังจากรักษาครบ 3 เดือนและควรปปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนทุกครั้ง
  • โรคเอดส์ สามารถฉีดได้
  • วัณโรค สามารถฉีดได้

กลุ่มตัวยาที่ใช้

  • On Warfarin สามารถฉีดได้ (INR < 3.0)
  • On ASA, Clopidogrel, Cilostazol สามารถฉีดได้ไม่ต้องหยุดยา
  • On NOACS สามารถฉีดได้ไม่ต้องหยุดยา

ข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับตัวยาข้างต้น ควรใช้เข็มขนาดเล็กกว่า 23G และไม่ควรคลึงกล้ามเนื้อหลังฉีดวัคซัน และควรกดตำแหน่งที่ฉีดหลังการฉีดยานานกว่าปกติจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีเลือดออกผิดปกติ

  • Methotrexxate ให้หยุดยาก่อน 1 สัปดาห์หลังการฉีดวัคซีนในแต่ละครั้งแล้วจึงให้ยาต่อตามปกติ (เฉพาะผู้ป่วยที่อาการคงที่) และควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
    • หมายเหตุให้พิจารณาหลีกเลี่ยงการใช้วัคซีนชนิดไวรัสเวคเตอร์และเลือกใช้วัคซีนชนิดเชื้อตาย ชนิด mRNA หรือชนิดส่วนประกอบของโปรตีน
  • ยากดภูมิคุ้มกัน azathioprine, mycophenolate, IVIG, cyclophosphamide ชนิดกิน สามารถฉีดวัคซีนได้โดยไม่ต้องหยุดยา
    • ให้พิจารณาหลีกเลี่ยงการใช้วัคซีนชนิดไวรัสเวคเตอร์และเลือกใช้วัคซีนชนิดเชื้อตาย ชนิด mRNA หรือชนิดส่วนประกอบของโปรตีน
  • Steroid
    • ยา Prednisolone ที่น้อยกว่า 20 mg/day หรือเทียบเท่า สามารถฉีดวัคซีนโดยไม่ต้องหยุดยา
    • ยา Prednisolone ที่มากกว่า 20 mg/day หรือเทียบเท่า ในผู้ป่วยที่อาการคงที่และอยู่ในช่วงที่กำลังลดปริมาณ Steroid สามารถให้การฉีดวัคซีนได้เช่นกัน
    • ให้พิจารณาหลีกเลี่ยงการใช้วัคซีนชนิดไวรัสเวคเตอร์และเลือกใช้วัคซีนชนิดเชื้อตาย ชนิด mRNA หรือชนิดส่วนประกอบของโปรตีน

การรับวัคซีนอื่น ๆ

  • ไข้หวัดใหญ่ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก พิษสุนัขบ้า หัดเยอรมัน แนะนำให้ฉีดห่างกันอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน วัคซีนที่มีความจำเป็น เช่นเมื่อถูกสัตว์กัดให้ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าได้เลยโดยไม่ได้จำเป็นต้องทิ้งช่วงเวลา เนื่องจากความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้ามีความสำคัญกว่า

การบริจาคเลือด

  • กรณีได้รับวัคซีนชนิด mRNA หรือวัคซีนชนิดเชื้อตาย อาจเว้นระยะประมาณ 1 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีนก่อนบริจาคเลือด
  • หากได้รับวัคซีนชนิด live virus vaccine ควรเว้นระยะ 4 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีนก่อนบริจาคเลือด

ภาวะอื่น ๆ

  • กำลังให้นมบุตร สามารถฉีดได้
  • กำลังตั้งครรภ์ ยังไม่แนะนำให้ฉีดในหญิงตั้งครรภ์ เว้นแต่ความเสี่ยงในการเกิดโรคสูง และประเมินว่าวัคซีนให้ประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง ซึ่งในหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในกลุ่ม 7 โรคเสี่ยงต่อภาวะรุนแรงจากโรคโควิด รวมถึงมีความเสี่ยงที่จะติด แนะนำให้ฉีดเมื่ออายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ และแนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตาย
  • กำลังมีประจำเดือน ไม่ได้มีข้อห้าม แต่มีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญว่าควรหลีกเลี่ยงการฉีดในช่วงที่มีประจำเดือนเพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียง
  • เคยติดโควิดแล้ว ควรฉีดหลังจากติดเชื้ออย่างน้อย 3-6 เดือน และอาจฉีดเพียง 1 เข็ม

อ้างอิง

  • งานบริบาลเภสัชกรรม กลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.ชลบุรี
  • www.thainapci.org
  • แนวทางการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 สำหรับผู้ป่วยโรคระบบประสาท
  • www.thaiendocrine.org/th/2021/05/05/covid-19
  • มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งปประเทศไทย
  • Expert opinion, CBH
  • Expert opinion, RY
  • กรมควบคุมโรค
  • www.redcross.or.th/news/information/13082
  • กรมอนามัย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส