ซิสโก้ (Cisco) ประกาศกลยุทธ์และแผนธุรกิจสู่ตลาด (Go-to-market) สำหรับปีงบประมาณ 2566 เสริมสร้างความยืดหยุ่นด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานแอปพลิเคชัน พร้อมเผยแผนธุรกิจสู่ตลาดสำหรับประเทศไทย และอัปเดตความเคลื่อนไหวของโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลในประเทศไทย (Country Digital Acceleration – CDA) ของซิสโก้

นายทวีวัฒน์ จันทรเสโน กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทย และพม่า กล่าวว่า ปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนในทุกระดับ โดยเฉพาะในยุคที่มีวิกฤตโรคโควิด-19 มาเป็นตัวเร่งให้เกิดการปรับตัว (Adapt) ทางเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งทางซิสโก้ก็อยากจะให้ทุก ๆ คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากยิ่งขึ้น ตอนนี้ทางซิสโก้ได้มีการทำ Network Academy เพื่อเพิ่มคนที่มีความสามารถด้านเน็ตเวิร์ค ในการเพิ่มแรงงานคนด้านนี้มากขึ้น นอกจากนั้น ในระดับโลก ทางซิสโก้ก็อยากจะลดการสร้างคาร์บอนให้ได้มากที่สุด และตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนจนเหลือศูนย์ (Net-Zero) ให้ได้ภายในปี 2040 อีกด้วย

สำหรับในประเทศไทยเองก็มี Network Academy แล้วเช่นเดียวกัน และกำลังพัฒนาบุคลากรเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยมีนักเรียนทั้งหมดกว่า 72,222 คน และมีผู้สอนเกือบ 100 คนแล้วด้วย

ในตลาดของประเทศไทยนั้น ทางซิสโก้คาดว่าตลาดของบริการด้านดิจิทัล (Digital Services) และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ จะเติบโตขึ้นกว่า 9-10 % ภายในปี 2024 นี้ นอกจากนั้น ประเทศไทยเอง ก็เป็น 1 ในหลายประเทศที่มีความสุข และปรับตัวจากการต้องทำงานแบบ Hybrid หรือทำงานสลับกันระหว่างออฟฟิศ และที่บ้าน ข้อมูลจากสำรวจของซิสโก้พบว่าบุคคลากรกว่า 85% มีความสุขเมื่อได้ทำงานแบบ Hybrid และสุดท้าย กลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก (SMB) กว่า 65% ของไทยนั้นได้พบเจอกับปัญหาด้านไซเบอร์ในปี 2021 ที่ผ่านมาด้วย

ซิสโก้ในฐานะบริษัทที่ผลิตทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์​ พร้อมที่จะทำทั้งคู่ควบคู่กันไป ในฐานะบริษัทแพลตฟอร์ม และได้เพิ่มผู้ที่ใช้บริการซอฟต์แวร์ หรือตัดสินใจเข้ามาใช้ซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปีด้วย

สำหรับปีงบประมาณ 2566 ซิสโก้ได้กำหนดกลยุทธ์และแผนงานธุรกิจสู่ตลาด 4 ด้านโดยร่วมงานกับภาครัฐ ลูกค้า และพาร์ทเนอร์ ได้แก่ การปรับโฉมแอปพลิเคชัน, การทรานส์ฟอร์มโครงสร้างพื้นฐาน, ความปลอดภัยขององค์กร, การขับเคลื่อนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแบบไฮบริด

นอกจากนั้น ประเทศไทยกำลังอยู่บนเส้นทางของการเร่งพัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค ในขณะที่กำลังวางแผนการเติบโตในเฟสต่อไป องค์กรและธุรกิจต่าง ๆ จำเป็นต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงานเพื่อก้าวให้ทันกับเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเฟื่องฟู ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือ ความรู้ และความเชี่ยวชาญที่ส่งผลต่อความสำเร็จ ซิสโก้ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลและพันธมิตรในอีโคซิสเต็มของเราเพื่อสร้างนวัตกรรมสำหรับอนาคต ปลดล็อกโอกาสของไทยแลนด์ 4.0 และขับเคลื่อนอนาคตของทุกคน

เพื่อสนับสนุนประเทศไทยและวิสัยทัศน์ของรัฐบาลด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ ซิสโก้ได้เริ่ม “โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัล (CDA Program)” ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 โดยให้ความสำคัญกับ 4 ด้านหลักได้แก่ : Connected Healthcare, 5G สำหรับองค์กร, สมาร์ทซิตี้และระบบขนส่ง, ความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • Connected Healthcare : ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซิสโก้ทำงานร่วมกับกรมควบคุมโรคเพื่อควบคุมอุณหภูมิและการจัดเก็บวัคซีนโควิด-19 ให้คงประสิทธิภาพสูงสุดระหว่างการใช้งาน ด้วยความร่วมมือกับผู้จัดจำหน่ายวัคซีน ซิสโก้ได้ให้โซลูชัน Meraki ให้กับโรงพยาบาล 10 แห่งทั่วประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยทางกายภาพสำหรับการจัดเก็บวัคซีน, การใช้วัคซีนอย่างยืดหยุ่นด้วยการกระจายวัคซีนแบบโมบายล์ และการมอนิเตอร์ทราฟฟิกแบบรีโมทซึ่งช่วยในการรักษาระยะห่างทางสังคม กล้องอัจฉริยะและเซ็นเซอร์ของ Cisco Meraki จะจำกัดการเข้าถึงวัคซีนที่ไม่ได้รับอนุญาต รักษาการควบคุมการบริหารวัคซีนอย่างมีคุณภาพ และควบคุมระบบเปิด-ปิดประตูตู้จัดเก็บวัคซีน รวมถึงตรวจสอบและแจกจ่ายวัคซีนสำหรับสถานที่ที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนมากที่สุดนอกเหนือจากโรงพยาบาลต่าง ๆ, ช่วยในการจัดส่งทางไกล และลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคด้วย
  • ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) : การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันมีภัยคุกคามที่พัฒนาตลอดเวลา โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงคือ อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ทางซิสโก้ได้ทำงานร่วมกับบริษัทในอุตสาหกรรมนี้แห่งหนึ่งของประเทศไทยเพื่อประเมินและพัฒนาความสามารถของ Security Operations Center (SOC) ที่ตรงตามหลักการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบการจัดการ การตรวจจับภัยคุกคามและการตอบสนอง รวมทั้งระบบข่าวกรองภัยคุกคาม ซึ่งได้แต่งตั้งทีมที่ปรึกษาโดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับทีมรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ขององค์กรเพื่อประเมินความสามารถในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์
  • ระบบสมาร์ทซิตี้ : เป็นการสร้างระบบสมาร์ตซิตี้ผ่านการสร้างศูนย์ข้อมูลที่เป็น 1 ในข้อจำกัดที่ทำให้สมาร์ตซิตี้เกิดขึ้นได้ยาก ทางซิสโก้เลยได้ทำเป็นตัวอย่างให้เห็นได้ชัดว่าไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็สามารถสร้างสมาร์ทซิตี้ได้ โดยเริ่มที่ อ.บ้านฉาง จ. ระยอง เป็นที่แรก