2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาของโควิด-19 ระบาดแม้แต่สถานที่ท่องเที่ยวหลัก ๆ ยังขาดรายได้มหาศาล การกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งก็เป็นอีกหนึ่งความหวังของผู้ประกอบการที่ยังเหลือและรอดจากสถานการณ์ที่ผ่านมา ยิ่งเป็นเมืองรองที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวหลักแล้วโอกาสที่คนจะสนใจยิ่งน้อยลง สังเกตว่าคนส่วนใหญ่เวลาไปเที่ยวมักจะหาสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังโดยมักจะมองข้ามสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นทางผ่าน ทำให้โอกาสการพัฒนาของเมืองรองช้าลงเรื่อย ๆ ยิ่ง

หลายหน่วยงานพยายามช่วยเหลือและร่วมส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองเพื่อกระตุ้นการรับรู้ให้กับประชาชน ล่าสุดดีแทคจับมือสถาปัตย์ จุฬาฯและบุญมีแล็บ ร่วมวิจัย “ศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดเมืองรองจาก Mobility data” ซึ่งค้นพบคำตอบกับ 3 แนวทางสำคัญส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองในประเทศ ได้แก่ 1. การดึงดูดการท่องเที่ยวระยะใกล้หรือ Micro-tourism 2. การส่งเสริมการค้างคืนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ และ 3. การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัด นักวิชาการชี้ที่ผ่านมาท่องเที่ยวไทย “ขาดสมดุล” หนุนยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวเมืองรองสร้างท่องเที่ยวไทยให้เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน

ข้อมูล Mobility Data ฟื้นฟูการท่องเที่ยว

คุณชารัด เมห์โรทรา ซีอีโอ ดีแทค

คุณ ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เล่าว่า โครงการวิจัยศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดเมืองรองจาก Mobility data เป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และเอกชนในการนำร่องใช้ Mobility data เพื่อประโยชน์สาธารณะ โจทย์การวิจัยครั้งนี้เน้น ‘ฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว’ หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด-19 เป็นระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา

เพื่อให้กระบวนการออกแบบนโยบายมีประสิทธิภาพมากขึ้น “ข้อมูล” เชิงพฤติกรรม จึงสำคัญ โดยเฉพาะ Mobility data ที่มีข้อได้เปรียบและศักยภาพมหาศาล โดยเฉพาะความสามารถประเมินสถานการณ์การเดินทาง และการกระจุกตัวของผู้คนได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และสามารถวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงในเชิงพื้นที่ได้หลากหลายระดับ

“ภาคส่วนต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวควรใช้วิกฤตินี้ในการ รีเซ็ต เพื่อทำความเข้าใจและสร้างสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวในประเทศและระหว่างประเทศ สนับสนุนการเติบโตซึ่งกันและกัน นำมาสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เข้มแข็งและยั่งยืน” ชารัด กล่าว 

สร้างสมดุลกระจายรายได้

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมงาน

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า  แม้การท่องเที่ยวจะเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมาผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวกระจุกตัวอยู่เพียงในบางจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก การระบาดของโรคโควิด 19 ยังสร้างผลกระทบต่อภาคการค้าการบริการและการท่องเที่ยวในประเทศเป็นอย่างมาก 

ขณะเดียวกัน ความต้องการเดินทางท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศ และจากต่างประเทศ กำลังเพิ่มปริมาณมากขึ้นจากการลดลงของโรคระบาด จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะสร้าง “สมดุล” ระหว่างการกระจายนักท่องเที่ยวและผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจไปสู่จังหวัดที่เป็นเมืองรองด้านการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนสามารถกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นและชุมชนได้มากยิ่งขึ้น

การวิจัยโดยใช้ข้อมูลการเคลื่อนที่หรือ Mobility data ระหว่างเดือนมิถุนายน 2563 ถึงตุลาคม 2564* พบว่า ผู้เดินทางในภาพรวม เป็นเพศชายราว 40% เพศหญิงราว 35% และไม่ได้ระบุเพศ 25% โดยส่วนใหญ่มีถิ่นพำนักในกรุงเทพฯ ถึง 54% ทั้งนี้ นักเดินทางท่องเที่ยว 47% มีอายุระหว่าง 21-40 ปีหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ตามด้วยวัยกลางคน (41-60 ปี) มีสัดส่วนที่ 35% วัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) 14% และวัยเด็กและเยาวชน (ต่ำกว่า 20 ปี) ที่ 4% นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงลักษณะนักท่องเที่ยวในช่วงการระบาดโควิด-19 พบว่ามีลักษณะเป็นการเดินทางแบบพักค้างถึง 67% และการเดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับ 33%

สรุป 3 แนวทางเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง

  1. การส่งเสริม Micro tourism หรือการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับในระยะการเดินทางประมาณ 150 กิโลเมตร หรือใช้เวลาเดินทางราว 1-2 ชั่วโมง เพื่อมาร่วมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้รวมถึงบริโภคสินค้าและบริการของท้องถิ่น 
  1. การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบค้างคืนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ (Experience-based overnight tourism) เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการกระจายผลลัพธ์เชิงบวกจากการท่องเที่ยวสู่เมืองรอง เนื่องจากการท่องเที่ยวแบบค้างคืนเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายและเวลาพำนักของนักท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวและเพิ่มโอกาสในการบริโภคสินค้าและบริการในท้องถิ่นเพื่อกระจายรายได้ให้กับผู้ประกอบการและชุมชน
  1. การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัด (Tourism Cluster) เป็นแนวคิดการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนากิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่างกลุ่มจังหวัดเมืองรองที่นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเดินทางไปเยือนในการเดินทางท่องเที่ยว 1 ทริป เพื่อเพิ่มทางเลือกในเป้าหมายการเดินทางท่องเที่ยวให้กับผู้มาเยือน ซึ่งจะช่วยเพิ่มทั้งแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนพื้นที่ เพิ่มการใช้เวลาในการท่องเที่ยวภายในประเทศ และกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนและท้องถิ่นในจังหวัดเมืองรอง

การพัฒนา Micro-tourism 

รูปแบบ Mobility data ถือเป็นการท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับนี้เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่หลายประเทศให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวภายในประเทศที่สามารถสร้างการกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นมีความพยายามโดยภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับภายใต้แนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ Micro-tourism หรือการส่งเสริมประชาชนเดินทางท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ธรรมชาติ สวนเกษตรกรรม และเมืองเก่าในต่างจังหวัดที่ตั้งอยู่โดยรอบถิ่นที่อยู่ของตนในระยะเดินทางที่ใช้เวลาประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง 

แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากการที่ประเทศญี่ปุ่นมีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศคิดเป็น 60% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด จึงเกิดเป็นแนวคิดในการกระตุ้นให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ มากขึ้น ภายใต้แนวคิดการส่งเสริม Exchange population หรือ ประชากรที่ก้าวข้ามถิ่น ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นเพื่อรับมือกับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ

การศึกษา Micro tourism พบว่าจังหวัดเมืองรองที่มีศักยภาพโดดเด่น ในการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบ Micro tourism มี 16 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช เชียงราย นครพนม ลำพูน นครนายก ระนอง เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี แม่ฮ่องสอน พัทลุง ราชบุรี นครสวรรค์ บุรีรัมย์ มหาสารคราม สุพรรณบุรี และชุมพร