สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดข้อมูล 7 เทรนด์นวัตกรรมต้อนรับปี 2023 ตอกย้ำเป้าหมายการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมและติดอันดับ 1 ใน 30 ของประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลกภายในปี 2030 พร้อมเผยกลยุทธ์ผลักดันภาครัฐและเอกชน เร่งปั้นสตาร์ทอัปและผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมให้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า กรุงเทพฯ มีความพร้อมในการเป็นเมืองนวัตกรรม ซึ่งมีการจัดอันดับเมืองสตาร์ทอัป ซิตี้ทั่วโลก กรุงเทพฯ ติดเป็นอันดับที่ 99 รองลงมาคือภูเก็ต อันดับที่ 3 เป็นของเชียงใหม่ และอันดับที่ 4 คือพัทยา ทั้ง 4 เมืองนี้ติดอยู่ในท็อป 1,000 ของโลก คำถามคือจะทำยังไงให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในบ้านเรา

โดยหนึ่งในกลไกสำคัญคือการเร่งปั้นสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมให้สอดรับกับเทรนด์โลก ซึ่งพบว่าในปี 2023 มี 7 เทรนด์นวัตกรรมที่สามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ได้แก่

ขาขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ด้านพลังงาน (New energytech on the rise) จากปัญหาของค่าไฟ ค่าน้ำมันแพงและโลกร้อน ทำให้ความคิดของคนไทยเปลี่ยน เห็นได้จากการที่คนไทยยอมรับรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้สถานีชาร์จจะมีมากขึ้นและนวัตกรรม parking จะเปลี่ยนไป กรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ๆ จะเป็นเมืองด้านพลังงานไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนาเรื่องพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์เซลล์หรือ GreenTech จะมีมากขึ้น รวมถึงบริษัทที่ทำเรื่องวัสดุด้านพลังงานจะมีมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้คนมองเห็นภาพรวมของธุรกิจพลังงานได้ชัดเจนขึ้นนั่นเอง

การฟื้นสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอากาศยาน (Regenerating travel and aviation industries) แม้ว่าช่วงหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่รูปแบบการเดินทางและท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไป ผู้ประกอบการต้องนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ ไม่ได้หวังพึ่งแค่นักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว จะเกิดนวัตกรรมที่เป็นแหล่งพลังงานใหม่อย่างน้ำมันสำหรับเครื่องบิน เช่น ประเทศญี่ปุ่นคิดค้นเชื้อเพลิงที่ทำจากสาหร่าย ทำให้เห็นว่าสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงที่เป็น Bio Base จะมีมากขึ้น แทนที่ Carbon base แบบเดิม

ผู้เล่นใหม่จากวงการเทคโนโลยีเชิงลึก (Deeptech startup, a newcomers) หรือกลุ่มเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อน ยากต่อการเลียนแบบ จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันบนฐานของทรัพย์สินทางปัญญา แต่ก่อนเราสตาร์ทอัพเราเริ่มจากการนำ Pain Point มาเป็นจุดเริ่มต้น แต่เดี๋ยวนี้เราเริ่มต้นจากการนำงานวิจัยมาแปลงเป็นนวัตกรรม ช่วงนี้จึงเป็นเวลาของสตาร์ทอัพที่อยู่ในแล็ป พบว่าธุรกิจ Deeptech มีการระดมทุนมากขึ้นตั้งแต่ปี 2018 จากระดับ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

คำถามคือใครเป็นบริษัท Deeptech กลุ่มตัวอย่างของนวัตกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ของ Apple, วัคซีนโควิด 19 หรือรถไฟฟ้า Tesla ส่วนประเทศไทยเราก็พยายามทั้งในด้านอุตสาหกรรมอาหารและอวกาศ ทั้งนี้ Deeptech เป็นธุรกิจที่ต้องใช้เวลา 5-10 ปี เป็นอย่างน้อย ทำให้แต่ก่อนคนจึงหันไปให้ความสนใจทางดิจิทัลมากกว่านั่นเอง ปัจจุบันมี Deeptech VC แล้วที่ประเทศสิงคโปร์ จีนและญี่ปุ่น

การกลับมาผงาดอีกครั้งของญี่ปุ่นด้วยซอฟต์พาวเวอร์ (Return of Japan Soft Power) ญี่ปุ่นเคยใช้ Soft Power ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอดีต ทั้งในเรื่องของตัวละครจากมังงะ อนิเมะ ฟิกเกอร์และเกม ไปจนถึงอาหาร คำถามคือทำยังไงให้ออริจินัลดีไซน์ของไทยที่อยู่ในอันดับ 90 กว่าๆ ของโลกมีบทบาทมากขึ้นได้ ในไทยเอง TPOP ก็กำลังมา รวมถึง NFT (Non-fungible Token) ที่เน้นตลาดของกลุ่มนักสะสม เราสามารถผลักดันเรื่องเหล่านี้ได้

ปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์เนื้อหาจากข้อมูล (Sophisticated AI for data-driven content creation) AI จะกระจายไปอยู่ในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นและจะเป็นไปอย่างปัจเจกมากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น Deepfake หรือ Content Creator ต่าง ๆ อย่าง Virtual influencer ที่มีหน้าตาและอิริยาบถไม่ต่างจากมนุษย์ นี่จึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมสื่อสาร และทำให้การพัฒนา Creative Design ของเราสูงขึ้นด้วย

เข้าสู่ยุคใหม่ของเทคโนโลยีอาหาร (Next generation of foodtech) Foodtech จะมาแน่ ๆ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาทรัพยากรอาหารที่มีอย่างจำกัด ยกตัวอย่าง คนจะไม่รู้สึกแปลกแยกกับ Insect Protein หากในอนาคตจะบริโภคเป็นตัวได้ รวมถึง Plant base ตลาดที่อินเดียมีความต้องการสูงมาก เพราะคนอินเดียกินวีแกนเยอะมาก โดยมีการคาดการณ์ว่าตลาดอาหารแห่งอนาคตของโลกในปี 2025 จะมีมูลค่าถึง 0.31 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้จะตามมาด้วยความต้องการด้าน Foodtech Engineer ที่เป็นการพัฒนาในด้านโรงงาน การใช้หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่โครงสร้างสายพาน การพัฒนาระบบที่ทำให้วัตถุดิบดีขึ้น ปัจจุบันทั่วโลกยังขาด Foodtech Engineer อยู่ ถ้าไทยสามารถพัฒนาด้านนี้ อาจจะตั้งบริษัทเกี่ยวกับการพัฒนา Foodtech Engineer ขึ้นมาเลย จะทำให้เราเป็นมหาอำนาจทางด้านอาหารในอนาคต

การลงทุนขนานใหญ่ในเทคโนโลยีความมั่นคง (Hyper Spending on Defense Tech) ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย รัสเซียและสหราชอาณาจักรมีการใช้จ่ายงบประมาณด้านความมั่นคงสูงสุด ซึ่งเขาเน้นพัฒนานวัตกรรมด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการบินเหนือเสียง หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ ความมั่นคงทางไซเบอร์และอาวุธพลังงานสูง

แม้ประเทศที่มีงบประมาณไม่มากก็อาศัยการพัฒนาร่วมกันอย่างเกาหลีกับอินโด แต่ในประเทศไทยเป็นโจทย์ยากที่สุด อีก 2-3 ปีจะมีการลงทุนด้านความมั่นคงมหาศาลในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ทบทวนเรื่อง Defense Tech ว่าเรายังขาดและบกพร่องส่วนไหนอยู่บ้าง

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ยังกล่าวถึงจุดเด่นของประเทศไทยอีกว่า เป็นเมืองน่าอยู่ มูลค่าการใช้ชีวิตลงตัว และในปี 2023 จะเกิดความร่วมมือต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ปีแห่งนวัตกรรมไทย-ฝรั่งเศส ที่ NIA เป็นเจ้าภาพร่วมกับสถานทูตไทยและฝรั่งเศส นำเสนอนวัตกรรมด้านต่าง ๆ รวมถึงมีอีเวนต์ใหญ่ที่ปารีสด้วย อีกทั้งยังมีเป็นปีแห่งการครบรอบความสัมพันธ์ 50 ปีของ Japan Asian จึงจะเกิดความร่วมมือต่าง ๆ ตาม ไปจนถึงการดึงประเทศที่อยากทำเรื่องนวัตกรรมกับเรา เช่น ฟินแลนด์หรือออสเตรีย เข้ามาร่วมจอยในโปรเจกต์นวัตกรรมอื่น ๆ ต่อไป

นอกจากนี้ NIA ยังเผยกลยุทธ์การดำเนินงานระยะ 5 ปี ทั้งการเปิดกว้างระดับประเทศ เพื่อโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและความร่วมมือต่าง ๆ การพลิกโฉมระบบการเงินไทยในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนรูปแบบต่าง ๆ อีกทั้งยังสร้างระบบข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรม และการสร้างความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงระบบนวัตกรรม เช่น การปรับองค์กรและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้วยระบบดิจิทัล เร่งผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยให้มีความเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์โลก

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส