ดีแทคชูงานเสวนา “ผ่าทางตัน 5G คลื่นความถี่นำไทยสู่ 4.0 อย่างยั่งยืน” ชี้ไทยกำลังเผชิญหน้ายุคเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลทุกภาคส่วน ทางออกต้องเร่งวางแผนชัดเจนสู่อนาคต พลิกธุรกิจให้แข่งขันด้วยเทคโนโลยีเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ควงผู้เชี่ยวชาญโทรคมนาคมจากสมาคมจีเอสเอ็ม ไอทียู หัวเหว่ย และอีริคสัน ร่วมชี้ความท้าทายและโอกาสของเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อนำสู่ความร่วมมือทุกภาคส่วน ย้ำการวางแผนจัดสรรคลื่นความถี่รองรับ 5G คือตัวแปรแจ้งเกิดเศรษฐกิจไทยยุคใหม่แบบก้าวกระโดด

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ความท้าทายของ 5G เทคโนโลยีดิจิทัลที่กำลังกำหนดมาตรฐานใหม่ของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยจะผสานเทคโนโลยีดิจิทัลและการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงกับอุปกรณ์สิ่งของทุกสรรพสิ่ง หรือเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง (IoT) มาสู่นวัตกรรมใช้ให้เกิดประโยชน์กับคุณภาพชีวิตมากที่สุด ดีแทคได้เดินหน้าสนับสนุนประเทศไทยไปสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงร่วมผลักดันและร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐที่เป็นผู้ออกกฎหมายและกำหนดนโยบาย ภาคเอกชน และภาคสังคมต่างๆ”

สำหรับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น ได้มุ่งส่งเสริมให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ ประชาชน เศรษฐกิจ รวมทั้งเพิ่มโอกาสการแข่งขันทางธุรกิจในภูมิภาค โดยดีแทคได้ร่วมมุ่งเน้นที่จะสรรหาแผนงานในอนาคต ซึ่งสามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม  เพื่อจะนำประเทศไทยไปสู่สังคมดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบภายในปี พ.ศ. 2563 “เมื่อเข้าสู่ยุค 5G เราจะเห็นการพัฒนาด้านการนำหุ่นยนต์มาใช้ในการผ่าตัดช่วยชีวิตคนไข้ โดยเป็นการผ่าตัดที่มีความแม่นยำอย่างสูงและสามารถวินิจฉัยอาการของคนไข้ได้อย่างถูกต้องในพริบตา รถยนต์อัจฉริยะไร้คนขับที่ขับเคลื่อนสู่จุดหมายได้เอง ทั้งการรายงานสภาพการจราจรอย่างทันต่อเหตุการณ์ พร้อมทั้งแจ้งที่ว่างในลานจอดรถให้ทราบล่วงหน้า ส่วนในอุตสาหกรรมประมง เทคโนโลยี 5G ยังสามารถถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มผลกำไร ผ่านระบบเซ็นเซอร์และระบบวิเคราะห์ภาพอันทันสมัย ในการตรวจสอบและคัดแยกปลาที่มีคุณภาพเพื่อนำออกขายตั้งแต่แรก บริการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากมายจะเกิดขึ้นและกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในระดับองค์กรและไลฟ์สไตล์ดิจิทัลของผู้คนทั่วไป ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น หากปราศจากเทคโนโลยี 5G” นายลาร์ส กล่าว

ตัวอย่างการเริ่มทดสอบอย่างจริงจังในต่างประเทศ เช่น ในประเทศนอร์เวย์ ทางเทเลนอร์และหัวเหว่ยได้ร่วมจัดการทดสอบระบบ 5G ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศนอร์เวย์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการรับส่งข้อมูลความเร็วสูงผ่านสัญญาณวิทยุ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในบริการสื่อสารไร้สายความเร็วสูงในอนาคตอันใกล้ พร้อมการสาธิต 5G ตามแผนการผลักดันให้เกิดสังคมดิจิทัล และการเปิดให้บริการ 5G ในอนาคต
นายลาร์ส กล่าวต่อไปว่า “ที่ผ่านมาดีแทคในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลได้ทดลองการนำ IoT มาใช้นำร่องให้เกษตรกรไทยก้าวสู่ความเป็น Smart Farmer ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของดีแทคด้วยการพัฒนาโซลูชั่น IoT เพื่อใช้ในการเพาะปลูก ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นในดิน ความชื้นในอากาศ สภาพแสง และปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องในการเพาะปลูก ซึ่งจะเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน ในการแสดงผล การตั้งค่า เก็บข้อมูล และวิเคราะห์ผล เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้อย่างแม่นยำ โดยได้ทำโครงการดังกล่าวนำร่องไปกับ 2 โครงการเกษตรกรคือฟาร์มแตะขอบฟ้า ปลูกมะเขือเทศ เชอร์รี่ และโคโค่ เมล่อน ซึ่งปลูกเมล่อน ที่ จ.สุพรรณบุรี โดยได้รับผลสำเร็จจากการนำ IoT มาใช้งานได้เป็นอย่างดีตามแผนการผลักดันให้เกิดสังคมดิจิทัลและการเปิดให้บริการ 5G ในอนาคต”

5G จะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ที่ผู้ใช้งานจะไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน ด้วยแบนด์วิธและอัตราการส่งถ่ายข้อมูลความเร็วสูง แม่นยำ และความน่าเชื่อถือที่ดีเยี่ยม คุณสมบัติเหล่านี้คือสิ่งที่ต้องการช่วยให้ “ทุกสรรพสิ่ง” สามารถเชื่อมต่อเข้ากับโครงข่าย 5G หรือ IoT ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการเตรียมพร้อมวางแผนคลื่นความถี่จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะนำประเทศไปสู่อนาคตของ 5G ได้แบบก้าวกระโดด

“ในขณะที่หลายประเทศกำลังเดินหน้าสู่ 5G และประเทศไทยกำลังเตรีมความพร้อมสู่นโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ที่จะพัฒนาให้ทันกับแนวโน้มของโลก พร้อมทั้งกำหนดทิศทางมุ่งหน้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (The Fourth Industrial Revolution) หลายสิ่งที่จะถูกสร้างขึ้นด้วยนวัตกรรมและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รองรับทุกภาคส่วนในประเทศ ความเท่าเทียมที่จะเกิดขึ้นจะลดช่องว่างที่ประชาชนไทยกับธุรกิจกำลังประสบอยู่ อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์นี้จะเป็นจริงได้ต่อเมื่อทุกสิ่งในโลกดิจิทัลถูกเชื่อมต่อกันด้วยอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง สู่นวัตกรรมดิจิทัล การจะพัฒนาสู่ 5G ได้นั้นประเทศไทยต้องมียุทธศาสตร์การจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum roadmap) อย่างชัดเจนในระยะยาว” นายลาร์ส กล่าวในที่สุด