ที่เพจ “สายตรงกฎหมาย” โดยทนายรัชพล ศิริสาคร รายงานว่า การแอบดูโทรศัพท์มือถือของแฟน แม้จะไม่มีกฎหมายระบุเฉพาะ แต่ก็ถือว่าผิดกฎหมาย พรบ.คอม หากแฟนใช้โทรศัพท์ประเภทสมาร์ทโฟน (มีองค์ประกอบเหมือนคอมพิวเตอร์คือ มี CPU (หน่วยประมวลผล) หน่วยความจำหลัก หน่วยความจำสำรอง ระบบปฏิบัติการ และสามารถเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายเช่น Wi-Fi, Bluetooth ฯลฯ ได้) ซึ่งเข้าข่ายนิยามของคำว่า คอมพิวเตอร์ ซึ่ง พรบ.คอมพิวเตอร์นั้นครอบคลุมอยู่

ดังนั้นการที่แฟนได้ตั้งรหัสผ่าน หรือล็อคเครื่องด้วยวิธีอื่นๆ หากมีการพยายามปลดล็อคไม่ว่าจะวิธีใดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของเครื่อง (แฟน) ถือว่าเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ “เข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ”

สรุปคือการแอบดูโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนที่มีการป้องกันไว้ ไม่ว่าจะของใครก็ตามโดยไม่ได้รับอนุญาตถือว่าผิดกฎหมายตาม พรบ. คอมพิวเตอร์

แต่ว่าทางเพจนี้ก็ปิดท้ายว่า “ในทางปฏิบัติคงไม่น่ามีใครดำเนินคดี แต่ถ้ามีการฟ้องร้องกันจริงคงต้องทะเลาะกันแรงจริงๆ”

ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าถ้าจะฟ้องร้องกันจริงๆ ก็น่าจะสามารถทำได้เพราะมันเข้าข่ายผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ จริงๆ และผู้ชายน่าจะเป็นฝ่ายสิ้นชีพไปก่อนถ้ากล้าหือกับภรรยา 😛

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

มาตรา 3 “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูล ข้อความ คำสั่ง ชุดคำสั่งหรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้ และให้หมายความรวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

มาตรา 7 ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอรที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สําหรับตน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ที่มา: ข่าวสด, เพจ “สายตรงกฎหมาย”

ภาพหน้าปกบทความ : Pexels.com