สวัสดีครับ ช่วงนี้มีอีกประเด็นที่กำลังพูดถึงเป็นอย่างมากในโลกออนไลน์ นั่นก็คือ “พรบ. ไซเบอร์” ซึ่งแต่เดิมนั้นจะนำเข้า สนช. ไปพิจารณาตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ล่าสุดมีการเลื่อนเป็นนำเข้าในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยวันที่ 27 จะมีการพิจารณา พรบ. ดังกล่าวนี้ แต่ล่าสุดเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 27 ก็มีการแจ้งเลื่อนการพิจารณาเป็นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เนื่องจาก สนช. ทำการพิจารณา “พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลไม่เสร็จ” และยังมีเวลาพิจารณาในวันพฤหัสและศุกร์

สรุปสาระสำคัญของ พรบ. ไซเบอร์

  1. มีการจัดตั้ง คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ขึ้นมาดูแล
  2. งบประมาณและทรัพย์สินจัดตั้งมาจากการโอนจาก กระทรวงดีอี และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA
  3. เงินงบประมาณแผ่นดินรายปีตามที่รัฐบาลจัดสรร

ระดับของการกำกับ

  • ระดับไม่ร้ายแรง ภัยที่ส่งผลต่อระบบของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ รวมถึงหน่วยงานรัฐบาลทำงานช้าลง เข้าถึงยากขึ้น
  • ระดับร้ายแรง ภัยที่ส่งผลต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ ความมั่นคง ของรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ การสาธารณสุข ความปลอดภัยสาธารณะ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนเสียหายจนไม่สามารถทำงานหรือให้บริการได้ 
  • ระดับวิกฤติ
    • ภัยคุกคามจากการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ในระดับที่สูงขึ้นกว่าภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง ส่งผลกระทบรุนแรงต่อโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ของประเทศเป็นวงกว้าง และอาจส่งผลต่อชีวิต
    • ภัยคุกคามทางไซเบอร์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียงร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันหรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมาย

หากใช้จริงจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง?

มีการสรุปจากเพจกฎหมาย iLaw ไว้ ซึ่งมีข้อสังเกตว่าตีความได้กว้างไปจนน่ากังวล

  • ตีความด้านเนื้อหา มากกว่าความปลอดภัยทางไซเบอร์ตามที่เป็นจุดประสงค์ที่แท้จริง
  • เจ้าหน้ารัฐที่สามารถขอข้อมูลจากใครก็ได้ และตรวจ ยึด ค้น ทำสำเนาข้อมูล แม้กระทั่ง “แฮก” ระบบคอมพิวเตอร์ได้ทันที หากมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามไซเบอร์ ไม่สามารถอุทธรณ์เพื่อยับยั้งได้
  • เจ้าหน้าที่รัฐสามารถสอดส่องแบบ Real time ได้
  • ถ้าเร่งด่วนสามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรอหมายศาล

ทำให้เกิดความกังวลทั้งด้านความเป็นส่วนตัว ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิในการแสดงความคิดเห็น การยัดข้อกล่าวหาและมีประเด็น (ที่ยังไม่ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริงไหม) ว่าถ้าเจ้าหน้าที่ยึดเครื่องไปแล้วทำเสียหาย จะไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น

จากความกังวลทำให้เกิดเสียงวิจารณ์

hashtag #พรบไซเบอร์ ติดเทรนด์ Twitter ในหลายช่วงเวลาตั้งแต่คืนวันที่ 26 จนถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ โดยเมื่อกดเข้าไปดูพบว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย แต่ก็มีบางส่วนมองว่าอย่าเพึ่งรีบตัดสิน นอกจากนี้ก็มีการแชร์แคมเปญลงชื่อคัดค้านบนเว็บ Change.org

ทั้งนี้ต้องติดตามต่อพรุ่งนี้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นต่ออีกหลังจากนี้ ทั้งนี้สามารถเข้าไปอ่านร่าง พรบ.ไซเบอร์ ได้ที่ https://ictlawcenter.etda.or.th/de_laws/detail/de-laws-cyber-security-protection-act

อ้างอิง: