เรียกได้ว่าเป็นกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในวงการดิจิทัลทีวีของไทยเลยก็ว่าได้ กับการประกาศงดชำระ และขอคืนใบอนุญาตประกอบกิจการดิจิทัลทีวี ของบริษัท ไทยทีวี จำกัด ซึ่งมี “ติ๋ม ทีวีพูล” หรือ “เจ๊ติ๋ม” หรือนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หัวเรือใหญ่แห่งเครือทีวีพูล โดยคืนทีเดียวถึงสองช่องด้วยกัน ได้แก่ ช่องไทยทีวี (หมายเลข 17) และช่องโลก้า ที่ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็นเอ็มวีทีวีแฟมิลี่ (หมายเลข 15) เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2558

พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย (Source: Forbes Thailand)

แน่นอนว่าเรื่องนี้ กลายเป็นข้อพิพาทระหว่างเจ๊ติ๋ม และหน่วยงานรัฐอย่างกสทช. ที่เป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบการ จนถึงขั้นมีการฟ้องร้องในชั้นศาล โดยก่อนหน้านี้ ทางกสทช. ได้ทำการยึดใบอนุญาต, ระงับการออกอากาศในช่องหมายเลข 15 และช่อง 17 บนระบบดิจิทัลทีวี มีการฟ้องร้องเพื่อขอให้มีการชำระค่าธรรมเนียมให้ครบถ้วนก่อน ถึงจะสามารถยกเลิกใบอนุญาตได้ และทำการริบเงินประกัน หรือ แบงก์การันตี (Bank Guarantee) จากธนาคารกรุงเทพ ซึ่งภายหลัง ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้กับทางไทยทีวี ในกรณีของการถูกริบเงินประกัน ซึ่งกสทช. ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากศาลยังไม่ได้พิพากษาว่าใครผิด ใครถูก

อ่านเพิ่ม: ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวเจ๊ติ๋มทีวีพูล ชะลอ กสทช.ยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันไทยทีวี

ล่าสุด (13 มีนาคม 2561) ศาลปกครองได้นัดอ่านคำพิพากษาในคดีดังกล่าว ศาลได้พิจารณาและพิพากษาลงความเห็นว่า นางพันธุ์ทิพา และไทยทีวี ชนะคดีนี้ และฝ่ายของไทยทีวี มีสิทธิ์ที่จะขอคืนใบอนุญาตประกอบการ และมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาได้ โดยที่กสทช. ไม่มีสิทธิ์ที่จะริบเงินประกัน มูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาท จากทางธนาคารกรุงเทพได้ และต้องคืนเงินดังกล่าว ภายใน 60 วัน นับจากวันที่คดีถึงที่สุด

หากเจาะลงไปถึงคำพิพากษาของศาลปกครองที่ออกมานั้น ในคำพิพากษาได้อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้เจ๊ติ๋ม และไทยทีวี ตัดสินใจคืนใบอนุญาตกับทางกสทช. เมื่อปี 2558 โดยสรุปได้ว่า

  1. การแจกคูปองกล่องรับสัญญาณทีวี (Set Top Box) ล่าช้ากว่ากำหนดการที่กำหนดไว้ถึง 6 เดือน แถมไม่ทั่วถึง ชาวบ้านไม่เข้าใจ และขาดการประชาสัมพันธ์เพื่อเกิดความเข้าใจ ทำให้หลายครอบครัวไม่สนใจ
  2. การขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศเกิดความล่าช้า ส่งผลกระทบให้รายได้ของสถานี ซึ่งมาจากเม็ดเงินลงทุนโฆษณาอีกทอดหนึ่ง
  3. ไม่มีแผนและการเยียวยาที่ชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ต้องแบกรับต้นทุนในช่วงระยะแรกของการออกอากาศ

“เจ๊ติ๋ม” ยิ้มร่า หลังฟังคำพิพากษา

พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย กับสีหน้าที่ยิ้มแย้ม หลังรับฟังคำพิพากษา (Source: Thairath)

ทางด้านเจ๊ติ๋มได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่รอไปทำข่าวว่า ตนเองพอใจในคำพิพากษาที่ออกมาในวันนี้ และจะขอยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ในกรณีของค่าเสียหาย และค่าใบอนุญาตงวดที่ 2 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ได้ยุติการดำเนินกิจการไปแล้ว โดยจะยื่นขออุทธรณ์ภายใน 30 วัน

กสทช. น้อมรับ ส่วนจะอุทธรณ์หรือไม่ ขอประชุมก่อน

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.

เลขาธิการกสทช. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ได้เปิดเผยว่า ตนเองได้รับทราบถึงคำพิพากษาแล้ว และจะนำเรื่องดังกล่าวนี้ เสนอต่อที่ประชุมกสทช. ในวันพรุ่งนี้ (14 มีนาคม 2561) ต่อไป ในส่วนของการขอยื่นอุทธรณ์ต่อศาลนั้น ทางบอร์ดบริหารกสทช. จะวินิจฉัยต่อไป ทั้งนี้ การที่ศาลมีคำพิพากษาออกมา ถือว่าเป็นการกำหนดกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถทำได้ง่ายขึ้น หลังจากที่ไม่มีบรรทัดฐานกำหนดไว้ว่าทำได้ หรือทำไม่ได้ หากผู้ประกอบการต้องการจะยกเลิกก็สามารถทำได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าเรื่องดังกล่าว กสทช. ขออุทธรณ์ คงต้องรอผลจากการขอยื่นอุทธรณ์ต่อไป และในส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจ ไม่สามารถเรียกร้องได้

อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่า กรณีระหว่างไทยทีวี กับทางกสทช. เป็นกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในวงการโทรทัศน์ไทย โดยเฉพาะวงการดิจิทัลทีวี ที่ยังดูไม่ออกว่าจะไปในทิศทางไหน การแข่งขันจะเป็นอย่างไร และใครจะล้มก่อนกัน แน่นอนว่าเรื่องนี้มีคำพิพากษาของศาลปกครองกลางออกมาแล้ว หากมีการสู้คดีไปถึงศาลปกครองสูงสุดแล้วเมื่อใด เมื่อนั้น คงจะได้เห็นภาพของวงการดิจิทัลทีวีในประเทศไทยได้ชัดยิ่งขึ้น และอาจจะมีช่อง หรือสถานี ที่อาจจะใช้โมเดลทำนองนี้ในการขอคืนใบอนุญาตกับทางกสทช. ต่อไป…

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, ไทยโพสต์, กรุงเทพธุรกิจ, ยามเฝ้าจอ, เฟซบุ๊ก Whee Pongpipat