ประกาศผลการแข่งขัน TechJam 2018 The Final ศึกประชันไอเดีย สร้างสรรค์ผลงาน จัดโดย KASIKORN Business-Technology Group (KBTG) ซึ่งถูกจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 เป็นอีก 1 เวทีการประลองฝีมือด้านเทคโนโลยีและการออกแบบระดับประเทศ แบ่งออกเป็นการแข่ง 3 กลุ่มด้วยกันคือ

  • Code Squad การประชันฝีมือด้านการ Coding หรือการเขียนโปรแกรมเพื่อตอบรับโจทย์ที่ให้มาได้อย่างสมบูรณ์แบบ
  • Data Squad การประชันฝีมือด้านการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสร้างความเป็นไปได้ที่ถูกต้องแม่นยำที่สุด
  • Design Squad การประชันฝีมือด้านทักษะการแก้ปัญหาด้วยการออกแบบด้วยความคิดสร้างสรรค์ เพื่อตอบโจทย์เทคโนโลยีที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งการแบ่งออกมาเป็น 3 กลุ่มแยกกันชัดเจนแบบนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมทุกคนไม่รู้สึกว่าตัวเองต้องทำงานในด้านที่ไม่ถนัด เป็นการแบ่ง Skill อย่างชัดเจน โดยแบ่งเป็นทีมละ 1 – 2 คน และยังมีความหลากหลายด้านอายุตั้งแต่ 14 – 60 ปี จึงถือได้ว่าการแข่งขันนี้เป็นการแข่งที่เปิดกว้างทางความคิดอย่างแท้จริง

Techjam เป็นการแข่งขันที่จัดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2017 โดยการแข่งขันในปี 2018 นี้มีทีมเข้าร่วมแข่งขันกว่า 1,476 ทีม แบ่งเป็นทีม Code Squad 758 ทีม Data Squad 496 ทีม และ Design Squad 222 ทีม ทุกทีมได้ถูกแข่งขันผ่านรอบคัดเลือกจากผู้เข้าแข่งขันทั่วประเทศไทย และมาแข่งขันในรอบสุดท้ายวันที่ 3 พฤศจิกายน ณ อาคาร KBTG ทั้งสิ้น 62 ทีม แบ่งเป็น Code Squad 20 ทีม Data Squad 22 ทีม และ Design Squad 20 ทีมเพื่อคัดเลือกเพื่อให้เป็น Tomorrow Squad ผู้เป็นที่ 1 ขุนพลของไทยที่ได้ไปต่อในระดับโลก

โดยงานนี้ก็ได้แข่งขันกันตลอดทั้งวันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการแข่งขันรูปแบบนับคะแนนทุกทีม แล้วตัดสินผู้ชนะจากคะแนนสูงสุด ซึ่งงานนี้ หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ก็ได้รับหน้าที่เป็นพิธีกรในงาน TechJam 2018 นี้ตลอดทั้งวัน

คุณ คุณสมคิด จิรานันตรัตน์ ประธาน KBTG

คุณ คุณสมคิด จิรานันตรัตน์ ประธาน KBTG กล่าวว่า KBTG ไม่ได้ต้องการจัด Techjam ขึ้นมาให้เป็นเพียงแค่การแข่งขันเท่านั้น แต่เขาตั้งใจที่จะรันวงการนี้ไปสู่ระดับประเทศ ซึ่งผู้ชนะทาง KBTG อยากขอทำ Business Partner กับผู้ชนะ โดยไม่จำเป็นต้องมาทำงานอยู่ภายใต้ KBTG ก็ได้ โดยการจัด Techjam 2018 เพื่อสร้าง Community ที่จะประกาศความสามารถของคนไทยในด้าน IT ให้รับทราบในวงกว้าง

ทุกวันนี้คนที่จะเก่ง IT จะต้องเก่ง 3 เรื่องคือ เก่งด้าน Coding ซึ่งถ้าคุณต้องเขียน Code ให้รองรับคนเป็นล้าน ๆ คนเข้ามาได้ การเขียนโปรแกรมเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ เรื่อง Data เป็นการพลิกโฉมวิธีคิด จากการมองลูกค้าเป็นกลุ่ม ๆ ก็ใช้ Machine Learning เพื่อแบ่งให้ลูกค้ากลายเป็นรายบุคคล ซึ่งสามารถสร้างประโยชน์ให้กับลูกค้าได้อย่างแท้จริง ซึ่งถ้าเราไม่สามารถทำได้ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า ต่างประเทศจะเข้ามาแทนที่ และเรื่อง Design เป็นอีก 1 เรื่องสำคัญที่ต้องสร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้งานทั่วประเทศ ถ้า Design ไม่โดนใจ คนก็ไม่ใช้งาน

ประเทศไทยวันนี้ไม่เคยมีศูนย์รวมความฝัน เพราะทุกคนต่างกระจายกันไปหารายได้ ทำให้ความฝันของพวกเขานั้นจางหายไปด้วย ซึ่งวันนี้ผมก็อยากเชิญชวนให้ทุกคนที่มีความฝัน เข้ามาสร้างสิ่งที่ต่างประเทศอยากจะเข้ามาใช้งานขึ้นมาด้วยกัน ซึ่งการแข่งขัน TechJam ครั้งนี้ก็ทำให้ผมรู้สึกมีความฝันขึ้นมาอีกครั้ง

ซึ่งเป้าหมายในอนาคตคือ นอกจากการเดินทางไปดูงานที่ Silicon Valley แล้ว อยากให้ทีมงานจาก Silicon Valley เข้ามาดูการทำงานของเราแทนเมื่อถึงเวลา ซึ่งมั่นใจว่าคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก วันนี้มีเด็กบางคนถือได้ว่ามีความเก่งแล้วแม้จะอยู่ในระดับมัธยมศึกษา แต่สิ่งที่พวกเขายังขาดนั่นคือประสบการณ์ในระดับโลก ซึ่งถ้าเด็กเหล่านี้ผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ ก็จะทำให้พวกเขาเติบโตทัดเทียมต่างชาติได้อย่างแน่นอน

และสุดท้ายนี้ผู้ที่ไม่ได้ชนะในวันนี้ก็อย่าท้อ เพราะทุกคนถือได้ว่าเป็นสุดยอดแล้วถึงสามารถก้าวเข้ามาในจุดนี้ได้ จงเชื่อมั่นว่าการแข่งขันในครั้งหน้าจะต้องเป็นของเราอย่างแน่นอน

ประมวลภาพกิจกรรมตลอดทั้งวัน

หลังจากที่แข่งกันมาตลอดตั้งแต่ 7 โมงเช้าจนถึงเวลากว่า 2 ทุ่มในการประกาศผลรางวัล โดยมีเงินรางวัลตามลำดับคือ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับโล่รางวัลพร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับโล่รางวัลพร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท และสุดท้ายรางวัลชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมตั๋วเที่ยวบินเพื่อเดินทางไปยังสวรรค์ของนักพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ มากมายอย่าง Silicon Valley อีกด้วย งานนี้ก็ได้ผู้ชนะเลิศ 3 ลำดับทั้ง 3 Squad ออกมาดังต่อไปนี้

ผู้ชนะ Code Squad

  • รางวัลชนะเลิศ ทีม MEOW MEOW :3
    กิตติภณ พละการ
    กิตติภพ พละการ
  • รองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม NOOBPROGRAMMER
    พงศพล พงศาวกุล
    ชวิญญ์ เสรีสิทธิพิทักษ์
  • รองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม WIZARD OF SKN
    รชตะ คำพิทักษ์
    ภัทระ ธีระพงษ์

สัมภาษณ์ทีม Meow Meow :3

พวกเขาก็ได้เผยข้อมูลว่า การแข่งขันนั้นโจทย์มี 2 รอบคือ การแข่งช่วงเช้าจะเป็นรูปแบบคล้าย ๆ เกมโชว์ที่ได้คำถามมา แล้วตอบเสร็จภายใน 5 นาที ใครตอบไวก็ได้คะแนนเยอะ ส่วนช่วงบ่ายเป็นโจทย์เขียนโปรแกรม ได้ปัญหามา แล้วเขียน code เพื่อตอบโจทย์ใน 3 ชั่วโมงครึ่งให้ได้ครอบคลุมมากที่สุด

โดยโค้ชก็ได้เปิดเผยว่า ทีมนี้ถือได้ว่าเป็นอีก 1 ทีมม้ามืด พวกเขาเป็นที่ 3 ใน Stage แรก และในรอบที่ 2 เป็นการตอบโจทย์ 3 โจทย์ระดับโลก และโจทย์สุดท้ายของรอบที่ 2 คือ ต้องตอบโจทย์ได้เทียบเท่าและดีกว่าคนอื่นจึงจะได้คะแนน ซึ่งทีมสุดท้ายนี้มีความสามารถที่ All-Around สุด ๆ จึงสามารถคว้าชัยชนะไปได้

และพวกเขาก็ได้เผยว่า การแข่งขันนี้นอกจากความรู้ที่ได้รับแล้ว ยังรู้สึกดีใจที่ได้กลับมาเจอกับทีมผู้เข้าแข่งกันคนอื่นที่เคยพบกันอีกครั้ง เพราะการแข่งขันในรูปแบบแบ่งหมวดหมู่ชัดเจนแบบนี้ไม่ค่อยมีให้เห็นในไทย ซึ่งครั้งนี้ถือว่าได้มาทบทวนและได้วิธีประยุกต์แก้โจทย์ที่มีความยากในระดับที่

โดยสิ่งที่พวกเขาตั้งใจจะไปเยี่ยมที่ Silicon Valley คือมหาวิทยาลัย Stanford เพราะมีความสนใจด้านการเรียนการสอน โดยคิดว่าจะไปศึกษาเพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับการศึกษาในประเทศไทย

ผู้ชนะ Data Squad

  • รางวัลชนะเลิศ ทีม TEMP
    ชวาล เพียรสัตยานนท์
    พิสิษฐ์ วจนสาระ
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม KUTA
    เอมฤดี จงทวีสถาพร
    วัชรินทร์ เหลืองวัฒนากิจ
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม ASQUARE2
    ปุริมพัฒน์ เจียรสุนันท์
    อินทัช คุณากรธรรม

สัมภาษณ์ทีม TEMP

พวกเขาได้เปิดเผยโจทย์การแข่งขันออกมา ให้ทุกทีมวิเคราะห์การกระทำของผู้ใช้งานแอปฯ K Plus เป็นรูปแบบ Big Data บน User 49,900 คน ที่มีการใช้งานภายใน 22 สัปดาห์ แล้วให้วิเคราะห์การใช้งานในสัปดาห์ถัดไปว่า ผู้ใช้กลุ่มนี้จะเข้ามาทำอะไรบ้าง ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นการ Simulation ขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับ Data จริงมากที่สุด โดยไม่ได้นำข้อมูลจริง ๆ ของลูกค้ามาใช้แข่งขันแต่อย่างใด

พวกเขาก็ได้เปิดเผยว่า การแข่งขันครั้งนี้ได้รับประสบการณ์การทำงานบน Data ใกล้เคียงของจริง รวมไปถึงได้ไอเดียการทำงานในเวลาที่จำกัด

ซึ่งโค้ช Data Squad ก็เผยว่าทีมนี้ถือว่าเป็น 1 ในทีมม้ามืดในการแข่งนี้ก็ว่าได้ เพราะพวกเขาได้ใช้วิธีแก้ปัญหาที่ต่างจากทีมอื่น ๆ ซึ่งทีมอื่น ๆ ใช้วิธีแก้ปัญหาคล้าย ๆ กันเพื่อให้ได้ผลลัพท์ซึ่งมีความเสี่ยงน้อย แต่ทีมผู้ชนะนี้ใช้วิธีแก้ปัญหาที่อันตรายแต่แม่นกว่าคนอื่นอย่างเห็นได้ชัด นั่นคือการใช้ระบบ Deep Learning ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาภายในระยะเวลา 6 ชั่วโมงเท่านั้น

โดยสิ่งที่พวกเขาตั้งใจไปเยี่ยม Facebook และ Google รวมไปถึง Microsoft เพราะอยากทราบการทำงานและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่พวกเขาสร้างขึ้นมา โดยเฉพาะด้าน AI

ผู้ชนะ Design Squad

  • รางวัลชนะเลิศ ทีม TREXCODEJR
    ชิตวีร์ จงเรียน
    จักรพงษ์ สารครศรี
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม HOUSEPARTNER
    คคนานต์ เจริญมาก
    ชนัญชิดา แสนลาน
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม D-LIGHTS
    อุมาพร ศรีหุ่น
    เจนจิรา ธาราพันธ์

สัมภาษณ์ทีม TREXCODEJR

พวกเขาได้เผยการแข่งขันครั้งนี้ โดยจะแบ่งเป็น 2 ช่วงหลัก ๆ คือ ช่วงแรกเป็นการรับทราบความต้องการของกลุ่มลูกค้า โดยจะต้องไปสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง แล้วให้ทำการดีไซน์แอปฯ ออกมาเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน ซึ่งของพวกเขานั้นได้ดีไซน์ออกมาเป็น K Plus Live ระบบที่จะทำให้ผู้ใช้งานแอปฯ K Plus สามารถเข้ามาสร้าง Community ได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้แอปฯ เป็นมากกว่า Application ทางการเงิน

ซึ่งโค้ช Design Squad ได้เผยข้อมูลว่า โจทย์คราวนี้ค่อนข้างยากและกว้างมาก ๆ แต่ทีมนี้สามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี และการ Phishing สมบูรณ์ชัดเจนสุด ๆ จนสงสัยว่าเตรียมตัวมาตั้งแต่ที่บ้านหรือเปล่าเลยทีเดียว

โดยพวกเขาก็ให้คำตอบว่า จริง ๆ แล้วพวกเขาก็ทำงานในการดีไซน์ UI แบบนี้เป็นปกติอยู่แล้ว จึงทำให้การสร้างผลงานออกมามีความรวดเร็ว

ซึ่งพวกเขาเป็นทีมมาจากขอนแก่น จึงมีมุมมองแตกต่างจากคนกรุงเทพมาก ๆ การมาในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการมารู้จักความคิดของคนในกรุงเทพฯ ที่หลาย ๆ ทีมมีความเก่งกาจมาก ๆ แต่พวกเขานอกจากจะแข่งกับคนอื่นแล้ว พวกเขายังแข่งกับตัวเอง ทะเลาะกับความคิดตัวเอง เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดออกมาให้กรรมการ

การไป Silicon Valley ในครั้งนี้ก็ได้เล็ง Google และ Facebook เพราะอยากเห็นระบบการทำงานภายในว่าเป็นอย่างไร

ก็เรียกได้ว่าทั้ง 3 ทีมนั้นมีทั้งฝีมือและไอเดียที่สามารถนำมาพัฒนาปรับใช้ได้อย่างดีเยี่ยม แบไต๋ก็ขอแสดงความยินดีกับทั้ง 9 ทีมด้วยครับ