งาน Red Hat Forum Asia Pacific 2020 ครั้งนี้ได้ถูกจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ในครั้งนี้ ก็ได้มีการเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันองค์กรหลายแห่งต่างเร่งปรับตัวและทำให้ความพยายามในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลของตนมีการนำไป ใช้อย่างเป็นรูปธรรม ผลสำรวจที่เร้ดแฮทสนับสนุนการจัดทำเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ระบุว่า 95% ของผู้บริหารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลนั้น ได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญมากขึ้นและจัดให้เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตในยุคนิวนอร์มัล ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อสร้างสรรค์รูปแบบในการดำเนินธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ หรือการให้บริการใหม่ ๆ

การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ดังนั้นการจัดงาน Red Hat Forum Asia Pacific ในปีนี้จึงมีความมุ่งหมายในการสร้างแรงบันดาลใจให้องค์กรต่าง ๆ นำพลังของเทคโนโลยีโอเพ่นซอร์สไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายระยะสั้นของตน และเป็นเทคโนโลยีที่รองรับการเปลี่ยน แปลงในอนาคตของการทำธุรกิจในยุคเน็กซ์นอร์มัล เพื่อให้บรรลุความมุ่งหมายนี้ รางวัล Red Hat APAC Innovation Awards 2020 จึงให้การยกย่ององค์กรที่ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีไปใช้และแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ ความมุ่งมั่นแก้ไขปัญหา และการใช้โซลูชันของเรดแฮตในการสร้างความแตกต่างต่อการดำเนินธุรกิจ ต่อภาคอุตสาหกรรม หรือชุมชนขององค์กรนั้น ๆ

การคัดเลือกผู้ได้รับรางวัล พิจารณาจากผลที่ได้รับจากการนำเทคโนโลยีของเรดแฮตไปใช้ที่มีต่อเป้าหมายทางธุรกิจ อุตสาหกรรม และชุมชนต่าง ๆ รวมถึงวิสัยทัศน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของโครงการนั้น ๆ องค์กรที่ได้รับรางวัลได้แสดงให้เห็นว่าแพลตฟอร์มโอเพ่นซอร์สและวัฒนธรรมแบบเปิด ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มความคล่องตัว ประหยัดค่าใช้จ่าย ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือในการแก้ไขความท้าทายในอนาคต และเตรียมรับมือกับเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพให้กับองค์กรได้อย่างไร ในปีนี้มีหน่วยงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้รับรางวัล 27 แห่งในห้าประเภทรางวัล คือ ดิจิทัล
ทรานส์ฟอร์เมชัน, โครงสร้างพื้นฐานไฮบริดคลาวด์, การพัฒนาคลาวด์-เนทีฟ, ระบบอัตโนมัติและความสามารถด้านความยืดหยุ่น องค์กรในประเทศไทยที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ประกอบด้วย

รางวัลด้านการพัฒนาคลาวด์-เนทีฟ

ธนาคารออมสิน (GSB) เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินธุรกิจด้านสถาบันการเงิน มีสาขา 1,060 แห่งทั่วประเทศ และให้บริการลูกค้ามากกว่า 22 ล้านราย กลุ่มลูกค้าของธนาคารประกอบด้วยลูกค้าบุคคล องค์กรธุรกิจ และภาครัฐ ให้สามารถเข้าถึงบริการด้านการเงินที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและเสริมสร้างโอกาสในอนาคตให้กับคนไทย ธนาคารให้บริการทางดิจิทัลที่หลากหลาย เช่น การสอบถามยอดเงินคงเหลือในบัญชี การโอนเงินระหว่างธนาคารด้วยการใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือ และการชำระค่าบริการต่าง ๆ ด้วยการใช้บาร์โค้ดผ่านแอปพลิเคชันอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง และโมบายแบงก์กิ้ง

GSB จำเป็นต้องเร่งให้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของธนาคารออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้นท่ามกลางความสนใจของลูกค้าที่มีต่อบริการด้านการเงินในรูปแบบดิจิทัลที่ต้องมีความปลอดภัยในการใช้งาน เพื่อตอบโจทย์นี้ ธนาคารได้ริเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มโอเพ่นแบงก์กิ้งที่สามารถโฮสต์ APIs ของตนเอง และให้บริการด้านการบริหารจัดการ (managed services) ให้กับผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองค์กร ด้วยระบบรักษาความปลอดภัยที่แข็งแกร่งรัดกุม

GSB ได้โยกย้ายระบบของธนาคารไปใช้โอเพ่นซอร์สที่ทำงานอยู่บน Red Hat Enterprise Linux, Red Hat Application Runtimes, Red Hat 3Scale API Management, Red Hat JBoss Fuse และ Red Hat OpenShift ด้วยความร่วมมือและช่วยเหลือทางด้านเทคนิคจาก Red Hat Consulting การใช้ APIs ที่มีขนาดเล็กลงด้วยไมโครเซอร์วิส การที่ทีมพัฒนาและทีมปฏิบัติการ (DevOps) และเทคโนโลยีคอนเทนเนอร์ต่าง ๆ ทำงานอยู่บนสภาพแวดล้อมเดียวกัน เพื่อทำให้กระบวนการทางธุรกิจเป็นอัตโนมัติ และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการทำงาน ช่วยให้ GSB สามารถบริหารค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถเปิดตัวบริการดิจิทัลแบงก์กิ้งใหม่ ๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า ส่งบริการใหม่สู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว และมีความคล่องตัวทางธุรกิจ GSB สามารถให้บริการที่มีคุณภาพระดับพรีเมียมผ่านการใช้แพลตฟอร์มที่ทันสมัยเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้แก่ลูกค้าของธนาคาร

ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน และ การพัฒนาคลาวด์-เนทีฟ

ธนาคารทหารไทย (TMB) เป็นหนึ่งในธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศไทย ที่มีความมุ่งมั่นและเป้าหมายสำคัญที่จะช่วยให้ลูกค้าของธนาคารมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นผ่านนวัตกรรมและบริการทางการเงินที่เป็นประโยชน์สำหรับคนไทย

แพลตฟอร์มขนาดใหญ่ซึ่งเดิม TMB ใช้อยู่ มีข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งไม่ยืดหยุ่นต่อการตอบสนองการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและปริมาณธุรกรรมดิจิทัลที่เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาสิ้นเดือนหรือเมื่อมีแคมเปญพิเศษตามช่วงเทศกาล ซึ่งจะทำให้ระบบงานต้องทำงานที่ระดับสูงสุดเพื่อที่จะสามารถรองรับธุรกรรมที่สูงในช่วงดังกล่าวได้ ดังนั้นธนาคารจึงต้องการแพลตฟอร์มที่มีเสถียรภาพและยืดหยุ่นสูง สามารถรองรับการการพัฒนาแอพพลิเคชันในรูปแบบใหม่ที่ทันสมัย เพื่อส่งผลให้ธนาคารสามารถเดินหน้าเข้าสู่ระบบดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ

Red Hat Consulting ได้ทำงานร่วมกับ TMB ในการนำ Red Hat OpenShift Container Platform บน Red Hat Enterprise Linux รวมถึงการนำ DevOps มาใช้เป็นมาตรฐานแพลตฟอร์มใหม่สำหรับการพัฒนาแอพพลิเคชันต่าง ๆ ของธนาคาร ซึ่งนอกเหนือจากการที่ทำให้ธนาคารมีความสามารถในการพัฒนาบริการใหม่ ๆ ตามความต้องการของลูกค้าและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว
ยังช่วยให้ TMB สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการผ่านช่องทางดิจิทัลออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น บนคอนเทนเนอร์แพลตฟอร์มที่มีเสถียรภาพและยืดหยุ่นสูง ตอกย้ำแนวทางการเติบโตด้านธุรกิจดิจิทัลแบงก์กิ้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันที่สูงในปัจจุบัน

รางวัลด้านการพัฒนาคลาวด์-เนทีฟ พิจารณาจากวิธีการทำงานและองค์กรที่มีความคล่องตัว และประสบความสำเร็จมากที่สุดจากประสิทธิภาพโดยรวมในการสร้างสรรค์ การบำรุงรักษา และการใช้แอปพลิเคชันทางธุรกิจอย่างประสบความสำเร็จ

รางวัลด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน

บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เป็นบริษัทในเครือของธนาคารกสิกรไทย (KBank) เป็นผู้ดูแลและอยุ่เบื้องหลังเทคโนโลยีทั้งหมด ซึ่งเป็นหนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ให้บริการในฐานะที่เป็นนักพัฒนาภายในองค์กร และพันธมิตรกับบริษัทฟินเทคและบริษัทสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อขยายผลิตภัณฑ์ด้านการเงินในรูปแบบดิจิทัล และมอบบริการที่เหนือความคาดหวังท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการเงิน

ในระยะแรก KBTG ใช้งานแอปพลิเคชันสำคัญทางธุรกิจหลายรายการบนเซิร์ฟเวอร์แอปพลิเคชันที่เป็นระบบปิดบนระบบปฏิบัติการ UNIX ทำให้ยากและขาดความคล่องตัวในการรับมือกับความต้องการทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และยากที่จะลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานด้านไอทีเมื่อธุรกิจเดิบโตขึ้น ทั้งยังเผชิญกับข้อจำกัดเมื่อต้องใช้งานคอนเทนเนอร์ เพราะเซิร์ฟเวอร์แอปพลิเคชันที่ใช้อยู่ไม่เหมาะสม ดังนั้น ทีม K Pro ซึ่งเป็นทีมงานด้านโครงสร้างพื้นฐานไอทีของ KBTG จึงต้องบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานไอทีขององค์กรด้วยการลงมือทำแบบแมนนวล (manual manage) เพื่อให้มั่นใจว่าแอปพลิเคชันสำคัญต่าง ๆ จะพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา

KBTG เอาชนะความท้าทายเหล่านี้ได้ด้วยการใช้แอปพลิเคชัน Java บน Red Hat JBoss Enterprise Application Platform ใช้ Red Hat Ansible Automation Platform เพื่อทำให้การบริหารจัดการระบบเครือข่ายและการป้องกันภัยคุกคามทำงานแบบอัตโนมัติ และใช้ Red Hat Enterprise Linux เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคงให้ปริมาณงานและการใช้งานด้านไอทีทั้งหมด โครงสร้างพื้นฐานที่เล็กและคล่องตัวช่วยให้ทีม K Pro สามารถใช้ component architecture สามารถใช้ข้อมูล/เอกสารที่สามารถปรับแก้ไขให้ทันสมัยได้ตลอดเวลา (living documentation) และใช้ชุดเครื่องมือกลาง (common toolset) ซึ่งช่วยลดกระบวนการการตั้งค่าระบบต่างๆ ช่วยให้สามารถให้บริการทรัพยากรด้านไอทีได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อความต้องการทางธุรกิจใหม่ ๆ และช่วยให้สามารถนำงบประมาณด้านไอทีไปใช้ด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้มากยิ่งขึ้น แทนที่จะใช้ไปกับงานด้านการบำรุงรักษา ทำให้ทีม K Pro มีผลงานที่โดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ การรักษาความปลอดภัยและความเสถียรของระบบต่าง ๆ ได้ช่วยให้ KBTG พุ่งเป้าไปที่การสร้างสรรค์นวัตกรรมและปรับขยายขนาดการทำงานตามความจำเป็นในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการให้บริการลูกค้าของธนาคารกสิกรไทยได้มากขึ้น

รางวัลด้านโครงสร้างพื้นฐานไฮบริดคลาวด์

บริษัท กรุงไทยคอมพิวเตอร์เซอร์วิสเซส จำกัด (KTBCS) เป็นบริษัทในเครือธนาคารกรุงไทย ให้บริการด้านไอทีกับหน่วยธุรกิจต่าง ๆ ของธนาคารกรุงไทย ทั้งการปรับปรุงระบบที่ธนาคารใช้อยู่ให้ทันสมัย รวมถึงการบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบต่าง ๆ ที่มีอยู่ และการพัฒนาซอฟต์แวร์

ความคิดริเริ่มในการเป็นธนาคารแห่งอนาคต (Future Banking) ของธนาคารกรุงไทย มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตและมีศักยภาพสูงขึ้น และเพื่อตอบโจทย์นี้ KTBCS ได้ทำการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานไอทีดั้งเดิมที่ล้าสมัย ซับซ้อน และมีค่าใช้จ่ายสูงให้ทันสมัยขึ้น KTBCS ได้รับการสนับสนุนจาก Red Hat Consulting และใช้ Red Hat Enterprise Linux, Red Hat JBoss EAP และ Red Hat Data Grid เพื่อปรับปรุงให้แพลตฟอร์มต่าง ๆ มีมาตรฐานและรองรับการใช้งานกับแอปพลิเคชันใหม่ ๆ

การทำงานของ KTBCS มีความคล่องตัวเพิ่มขึ้นและอยู่ในตำแหน่งการเติบโตที่ดีขึ้น จากการนำแอปพลิเคชัน ทั้งที่มีความสำคัญระดับสูง เช่น แอปพลิเคชันโมบายแบงก์กิ้ง และคอร์ปอเรทแบงก์กิ้ง และแอปพลิเคชันที่มีความสำคัญรองลงมาซึ่งไม่ได้เป็นแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการเงิน ไปทำงานอยู่บนแพลตฟอร์มใหม่ที่ทำงานอยู่บนเร้ดแฮท ช่วยให้ KTBCS สามารถให้บริการตามข้อตกลงเกี่ยวกับระดับการให้บริการทางธุรกิจ (SLA)
ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดไว้ ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และค่าใช้จ่ายโดยรวมอีกด้วย

รางวัลด้านดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น ให้การยกย่ององค์กรต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการความท้าทายด้านไอที และสร้างมูลค่าทางธุรกิจเพื่อการแข่งขันในฐานะองค์กรดิจิทัล

รางวัลด้านโครงสร้างพื้นฐานไฮบริดคลาวด์ พิจารณาจากจุดเด่นที่แสดงให้เห็นถึงการใช้งานพับลิค
ไพรเวท หรือ โอเพ่นไฮบริดคลาวด์ ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งทางธนาคารมีเคล็ดลับให้กับผู้ที่ต้องการผลักดันสู่ Digital Transformation คือการทำ scalability จะต้องพยายามทำไปพร้อม ๆ กันกับการพัฒนาการแข่งขันทางธุรกิจ โดยเฉพาะการทำยังไงให้เราสามารถรองรับการเข้าถึง Transaction รูปแบบออนไลน์ และการเปลี่ยนแปลงให้มีผลกระทบกับลูกค้าน้อยที่สุด

และท้ายที่สุด พยายามมองให้ลูกค้าเป็นจุดศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลง เพราะปัจจุบันทุก ๆ คนกำลังอยู่ใน Digital Economy ซึ่งมีหลายเทคโนโลยีรองรับ โดยเฉพาะทาง Red Hat ซึ่งเราจะต้องเปลี่ยนมุมมองและวิธีการทำงานเพื่อตอบโจทย์ตรงส่วนนี้เพื่อให้ทุกบริษัทสามารถ Move on ไปสู่ Digitial Transformation ได้ดียิ่งขึ้น

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส