ท่ามกลางการแข่งขันทางด้านสื่อ โดยเฉพาะดิจิทัลทีวี ที่ทุกวันนี้ไม่ได้สู้เพื่อเป็นที่หนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสู้เพื่อความอยู่รอดของสถานี จนมาถึงวันนี้ วันที่ต้องมีผู้แพ้เดินลงจากสังเวียนการแข่งขันของวงการสื่อ เหลือไว้เพียงชื่อและผลงานที่สร้างเอาไว้

วันนี้ ที่สำนักงานกสทช. เป็นวันสุดท้ายที่กำหนดให้ทีวีดิจิทัลที่ต้องการคืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลมายื่นคำร้องของคืนใบอนุญาต โดยตั้งแต่ช่วงเช้า มีความเคลื่อนไหวทั้งที่กสทช. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เนื่องจากการแจ้งเรื่องขอคืนใบอนุญาตนั้น ต้องแจ้งกับทางกลต. และตลาดหลักทรัพย์ เป็นลายลักษณ์อักษรให้รับทราบด้วย ซึ่งทางกสทช. ได้เปิดให้ผู้ประกอบการที่สมัครใจขอคืนใบอนุญาต สามารถมายื่นได้ภายในวันที่ 10 พฤษภาคม ก่อนเวลา 16.30 น.

กลุ่มสปริงนิวส์ขอคืนสองช่องในเครือ

หลังจากที่เริ่มเปิดให้ยื่นคำร้อง สปริงนิวส์ ช่องหมายเลข 19 ได้ออกแถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษร แจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์และเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบกัน แต่ไม่มีการระบุรายละเอียดถึงการขอคืนช่องดังกล่าว

ถัดมาไม่นาน เนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ป หรือ เครือเนชั่น ได้ออกแถลงการณ์คืนช่องสปริง 26 หรือในชื่อ นาว 26 (Now 26) เดิม กับทางกสทช.

โดยในแถลงการณ์ฉบับนี้ เครือเนชั่นได้ให้เหตุผลไว้ว่า

จากการตัดสินใจเข้าร่วมประมูลและได้สถานีมาดำเนินกิจการ ได้นำเสนอรายการที่เป็นสารคดี กีฬา วาไรตี้ ซีรีส์ และภาพยนตร์ต่างประเทศ ทั้งที่ตัวของบริษัทไม่ได้มีความชำนานในการจัดการเนื้อหาในรูปแบบดังกล่าว และทำให้มีผลประกอบการที่ขาดทุนมาโดยตลอด และมองว่าประโยชน์ที่ได้จากการขอคืนช่องในครั้งนี้ จะทำให้ได้เงินค่าชดเชยกลับมา ช่วยให้ลดภาระหนี้สิน ลดความเสี่ยงจากการบริหารโครงสร้างทุน ลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสูง และไปโฟกัสกับธุรกิจหลักที่บริษัทมีความรู้และความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง นั่นคือสื่อสิ่งพิมพ์ และธุรกิจสื่อที่ตนเองนั้นเชี่ยวชาญจากแถลงการณ์ของช่องสปริง 26

โดยหลังจากนี้ สปริงนิวส์เดิมที่เคยออกอากาศผ่านหน้าจอโทรทัศน์ จะโยกตัวเองไปอยู่ในรูปแบบออนไลน์ต่อไป

วอยซ์ทีวีเป็นรายที่สองที่ขอคืน

วอยซ์ทีวีได้ออกแถลงการณ์ หลังจากที่ตกเป็นข่าวลือข้ามคืนและยาวมาจนถึงช่วงเช้าว่าจะส่งคืนหนือไม่ โดยในแถลงการณ์ที่ออกมานั้นได้ระบุไว้ว่า ทางวอยซ์ทีวีได้ตัดสินใจในการขอคืน พร้อมทั้งเตรียมแผนพัฒนาในการนำเสนอเนื้อหาของทางสถานี โดยจะย้ายตัวสถานีไปออกอากาศในระบบทีวีดาวเทียม และแบบออนไลน์ ไม่มีการยุติการออกอากาศแต่อย่างใด

นอกเหนือจากนี้ ทางวอยซ์ทีวีได้อธิบายเพิ่มเติมว่า จะปรับโครงสร้างการทำงานให้เหมาะสมกับทิศทางและรูปแบบในอนาคต โดยให้เกิดผลกระทบกับโครงสร้างเดิมให้น้อยที่สุด เพื่อดำเนินกิจการไปได้โดยไม่มีปัญหาและอุปสรรคใดๆ

อสมท. คืนช่อง 14 นำร่องปิดช่องเด็ก

ทางด้านบมจ. อสมท. ที่ครองใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลถึงสองใบ คือ ช่องเด็ก และช่องความคมชัดเอชดี (HD) ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่าได้ตัดสินใจขอคืนใบอนุญาตช่องรายการเด็ก นั่นคือ ช่อง MCOT Family หมายเลข 14

กลุ่มบีอีซีเวิลด์ส่งคืนสองช่อง หยุดวงจรขาดทุน

กลุ่มบีอีซีเวิลด์ที่มีสถานีในระบบดิจิทัลมากถึงสามสถานี คือ  3 Family หมายเลข 13, 3SD หมายเลข 28 และ 3HD ช่อง 33 (ไม่นับรวมช่องสามที่ออกอากาศในระบบอนาล็อกภายใต้สัญญาสัมปทานของอสมท.) ได้ตัดสินใจขอคืน 2 ใน 3 สถานี คือช่องเด็ก 3 Family และช่องทั่วไป 3SD โดยบีซีเวิลด์ได้อ้างอิงถึงการที่รัฐบาลหันมาใส่ใจถึงปัญหาทีวีดิจิทัล จนออกคำสั่งให้กสทช. มารับเรื่องดังกล่าวนี้

ทั้งนี้ ยังได้ประกาศด้วยว่า ทางบีอีซีเวิลด์ ยังคงมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำในธุรกิจ โดยสร้างสรรค์รายการที่ดีและมีคุณภาพ ที่ให้ทั้งความบันเทิงและสาระที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ชม พร้อมทั้งทิ้งท้ายด้วยการขอบคุณผู้ที่ติดตามชมและผู้สนับสนุนที่ให้ความเชื่อมันกับรายการและสถานี

ปิดท้ายที่ไบรต์ทีวี ช่องหมายเลข 20 ที่ขอยื่นคำร้องยุติกิจการ แต่ยังไม่แถลงการณ์ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน

ในส่วนของการออกอากาศที่แต่ละสถานีที่ยื่นขอยุติกิจการต้องดำเนินต่อไปนั้น เลขาธิการกสทช. ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ได้ชี้แจงว่า ผู้ประกอบการที่ขอคืนสถานี จะยังคงออกอากาศรายการและดำเนินกิจการของตนเองต่อไป โดยผู้ประกอบการจะต้องนำส่งแผนงานยุติกิจการมายังกสทช. ให้ทราบภายในระยะเวลา 60 วัน และแจ้งให้ผู้ชมได้ทราบล่วงหน้าก่อนยุติการออกอากาศ 30 วัน โดยทางกสทช. จะใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 30 ถึง 45 วัน ถ้าไม่มีปัญหาอะไร ถึงจะอนุมัติให้ยุติการออกอากาศของสถานีนั้นๆ โดยสมบูรณ์

ซึ่ง #beartai ได้มองในช่วงของเวลาเตรียมตัวก่อนปิดสถานีที่ระยะเวลาเกือบๆ 2 เดือนว่า เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ให้ผู้ประกอบกิจการเตรียมความพร้อมยุติการออกอากาศและแจ้งให้กับผู้ที่รับชมและติดตามได้ทราบ บุคลากรในแต่ละสถานีได้เตรียมความพร้อมในการโยกย้ายหรือปรับหน้าที่การงานของตนเอง โดยจะไปที่สถานีอื่น หรือเปลี่ยนไปทำงานอื่นเลยนั้น ขึ้นอยู่กับตัวของบุคลากรที่จะตัดสินใจเอง และส่วนของผู้ผลิตรายการลงสถานี จะได้เตรียมความพร้อมในการติดต่อกับสถานีโทรทัศน์อื่นๆ ที่ยังดำเนินกิจการ ในการขอนำรายการของตนเองไปออกอากศในสถานีอื่นๆ ต่อไป

แต่สิ่งหนึ่งที่หลายต่อหลายท่านที่ติดตามเรื่องดังกล่าวนี้รู้สึกกังวลใจ ถึงบุคลากรส่วนหนึ่งที่ต้องยุติการทำงานลง เนื่องจากการยุติประกอบกิจการทีวีดิจิทัลของบางสถานีในครั้งนี้ ซึ่งจากการคาดการณ์ในเบื้องต้นนั้น คาดว่ามีบุคลากรที่ไม่ได้ปฏิบัติงานต่อมากถึงประมาณ 1,500 คน ซึ่งเรื่องนี้ หนึ่งในนักวิชาการผู้คร่ำหวอดวงการสื่อ และเป็นถึงอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัหอการค้าไทย อาจารย์มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยังได้ตั้งข้อห่วงใย และออกแถลงการณ์ร่วม ขอให้ผู้บริหารของสถานีออกมาช่วยเหลือและเยียวยาบุคลากร นอกเหนือจากการจ่ายเงินชดเชยในฐานะที่ถูกผู้ประกอบกิจการทำการเลิกจ้าง

ท้ายที่สุดนี้ หลังจากวันนี้เป็นต้นไปที่สิ้นสุดช่วงเวลาเปิดรับคำร้องในการขอคืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ทางสำนักงานกสทช. จะดำเนินการเยียวยาผู้ประกอบการ ตามแผนที่ได้มีการประกาศเป็นคำสั่งในราชกิจจานุเบกษาเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา โดยตามแผนคร่าวๆ นั้น คือการส่งคืนค่างวดใบอนุญาตประกอบกิจการฯ สำหรับผู้ที่ทำการชำระมาก่อนหน้านี้, งดเว้นการเก็บค่างวดใบอนุญาตในสองงวดสุดท้าย, ตรวจสอบและเรียกเก็บค่างวดในงวดก่อนหน้านี้ สำหรับผู้ประกอบการที่ยังค้างชำระ และท้ายที่สุดคือการจ่ายเงินเยียวยาให้กับสถานี โดยเงินเยียวยาที่ว่ามานี้ จะมาจากการนำคลื่นความถี่ 700 MHz มาให้ผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมทั้งสามค่ายรับไปทำระบบ 5G หรือถ้าไม่ได้เป็นเช่นนั้น อาจจะมาจากการนำคลื่นชุดดังกล่าว มาเข้าสู่ระบบประมูล เพื่อนำเงินประมูลมาใช้ในการจ่ายเงินเยียวยาต่อไป

โดยการจ่ายเงินเยียวยานั้น จะเกิดขึ้นหลังจากวันยุติการออกอากาศ 1 วัน แต่ทั้งนี้ จะได้รับกลับมาเป็นจำนวนมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับผลประกอบการที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ช่วงปี 2557 ถึงปี 2562) ร่วมด้วยยอดเงินประมูลที่มีการจ่ายไปแล้ว, อายุที่เหลือ, อายุของใบอนุญาต และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นมาในช่วงที่ยังประกอบกิจการอยู่ ซึ่งทั้งหมดนี้ กสทช. มีสูตรการคำนวณที่เตรียมไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม #beartai ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลทุกราย และบุคลากรที่อยู่ในวงการสื่อทุกท่าน มา ณ ที่นี้ สู้ต่อไป และตั้งใจในการผลิตเนื้อหาที่ดีและมีคุณภาพ ให้กับผู้ชมทุกท่านต่อไป