มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก้าวสู่ Thammasat Smart City เดินหน้าใช้เทคโนโลยีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างศูนย์รังสิตและท่าพระจันทร์ ลงนาม MOU ร่วมกับ 4 บริษัทเอกชนชั้นนำส่งเสริม EV CAR สถานีชาร์จ และแอปพลิเคชัน หวังนำเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการและรักษาสภาพแวดล้อมในรั้วมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือ 5 ฝ่าย เพื่อส่งเสริม “รถไฟฟ้า Car Sharing” โดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต พร้อมผู้บริหาร 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด, บริษัท ฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท เอฟโอเอ็มเอ็ม (เอเซีย) จำกัด และบริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเป้าหมายการพัฒนาสู่ Thammasat Smart City โดยนำระบบเทคโนโลยีมาสร้างคุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อมที่ดีภายในมหาวิทยาลัย ล่าสุดได้ร่วมมือกับภาคเอกชน ริเริ่มนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV Car (Electric Vehicle) มาใช้งาน พร้อมระบบเช่าระยะสั้นหรือ Car Sharing ผ่านแอปพลิเคชันและสถานีชาร์จไฟฟ้าทั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และท่าพระจันทร์ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณรถยนต์ส่วนตัว ลดการใช้พลังงานและลดมลพิษภายในมหาวิทยาลัย

 

“MOU ฉบับนี้เป็นความร่วมมือที่ดีระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ 4 บริษัทชั้นนำผู้สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาระบบ Car Sharing เทคโนโลยีอุปกรณ์ต่าง ๆ ประกันภัยและการดูแลรักษา เพื่อให้คณาจารย์ นักศึกษา บุคลากร ได้ทดลองใช้เดินทางระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต และท่าพระจันทร์ เป็นเวลา 1 ปี” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว

ในส่วนของความร่วมมือในครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะสนับสนุนพื้นที่ในส่วนของจุดจอดรถ และสถานีชาร์จไฟฟ้าให้แก่ตัวรถ จำนวน 2 แห่ง โดยในการนี้ จะรวบรวมข้อมูลการขับขี่ สภาพจราจร และคุณภาพของการให้บริการ เพื่อนำไปวิเคราะห์ ประเมินผล และวิจัย เพื่อให้โครงการมีประสิทธิภาพและยัง่ยืน หากประสบความสำเร็จ ก็อาจจะได้เห็นจักรยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Motorcycle มาให้บริการ รวมไปถึงติดตั้งระบบ Solar Rooftop เพื่อนำแสงอาทิตย์มาชาร์จไฟให้แก่รถยนต์ไฟฟ้าต่อไป ทางด้านบริษัทเอกชนที่ให้ความร่วมมือนั้น เริ่มตั้งแต่ ฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์) ได้มอบรถยนต์พลงงานไฟฟ้า Hyundai IONIQ ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าร้อยเปอร์เซ็นต์ พร้อมทั้งสามารถวิ่งได้ในระยะทางถึง 280 กิโลเมตร ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง ซึ่งทางฮุนได้ ได้มอบรถยนต์รุ่นดังกล่าวจำนวน 2 คัน พร้อมทั้งประกันภัยชั้น 1 และข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการวิจัย, เอฟโอเอ็มเอ็ม (เอเชีย) หรือ Fomm มอบรถรถยนต์ไฟฟ้า Fomm ที่มีดีไซน์เล็ก เหมาะกับการสัญจรในเมือง และสามารถขับได้ไกลถึง 166 กิโลเมตร ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง จำนวน 2 คัน พร้อมทั้งประกันภัยชั้น 1

 

อีโวลท์ เทคโนโลยี สนับสนุนและติดตั้งสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้า จำนวน 2 จุด โดยจะติดตั้งภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  1 จุด (บริเวณหน้าตึกโดม) และภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (บริเวณหร้าอาคารสำนักงานอธิการบดี) และปิดท้ายที่ Haupcar ผู้ให้บริการเช่ารถโดยสารผ่านแอปพลิเคชัน สนับสนุนในส่วนของการพัฒนาระบบการเช่ารถยนต์ไฟฟ้า โดยสามารถเปิดการใช้งานผ่านแอปของ Haupcar แล้วใช้งานได้ทันที รวมไปถึงเป้นช่องทางในการอำนวยความสะดวก ทำให้สามารถใช้บริการได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงยังสามารถบันทึกข้อมูลต่างๆ เช่น การจองรถ การรับรถ การชำระเงิน บันทึกการเดินทาง และการดูแลความสะอาดของรถได้อีกด้วย