AIS ผนึกกำลัง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตรการออกแบบสถาปัตยกรรม (นานาชาติ) หรือ INDA จัดงานนิทรรศการ interactive สุดล้ำภายใต้ชื่อ IoT GARDEN ในรูปแบบของสวนดอกไม้ดิจิทัล ซึ่งเกิดจากแนวความคิดในการนำข้อมูล IoT (Internet of Things) ที่ได้จากการวัดค่าความชื้น ค่า PM 2.5 และค่าความถี่เสียงต่างๆ จาก 12 เขตในกรุงเทพฯ มาออกแบบและนำเสนอในรูปแบบของสวนดอกไม้ดิจิทัล ที่สามารถปฏิสัมพันธ์โต้ตอบได้ ผ่านการเปลี่ยนสี การหุบบานของดอก และเสียงของธรรมชาติต่างๆ ทำให้ผู้เข้าชมสนุกสนาน ตื่นตาตื่นใจไปกับนิทรรศการครั้งนี้

นายอราคิน รักษ์จิตตาโภค Head of Novel Engine Executive Team – AIS กล่าวว่า “ในฐานะ Digital Life Service Provider ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลูกค้าและยกระดับ Digital Infrastructure ของประเทศแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ Platform ความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในกลุ่มสำคัญ อาทิ มหาวิทยาลัย หรือ Startup เพื่อผนึกกำลังต่อยอด สร้างสรรค์นวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ โดยมี AIS สนับสนุน Infrastructure ไม่ว่าจะเป็นโครงข่าย, เทคโนโลยี, ระบบหลังบ้าน, องค์ความรู้ รวมถึงบุคลากร อย่างเต็มที่”

“โดยความร่วมมือกับ INDA ในครั้งนี้ มาจากแรงบันดาลใจที่จะนำเทคโนโลยี IoT มาสร้างประโยชน์ให้สังคมอย่างเป็นรูปธรรม ในรูปแบบที่สวยงามน่าสนใจ และง่ายต่อการเข้าถึง หรือ ใช้งาน ดังนั้นจึงผสมผสานจุดแข็งของทั้ง 2 ฝ่ายเข้าด้วยกัน โดย INDA นำ Sensor IoT ไปออกแบบในรูปแบบของดอกไม้ที่สามารถปรับเปลี่ยนสี ลักษณะการหุบบาน ตามสภาพอากาศของพื้นที่นั้นๆ นี่จึงเป็นผลงานที่เราเชื่อว่าจะจุดประกายให้คนไทยหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าใจและเห็นภาพประโยชน์ของ IoT ที่จะช่วยเตือนให้ตระหนักถึงผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมได้อย่างชัดเจน”

งาน IoT Garden ถือเป็นก้าวสำคัญก้าวแรกของ AIS ในการสร้างแพลตฟอร์ม AIS Hackathon เพื่อสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคการศึกษา เพื่อตอบรับกับพันธกิจ “ถ้าเราทุกคนคือเครือข่าย” ในรูปแบบของการนำเอาเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์ให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่ตอบรับ
กับปัญหาต่างๆ ของสังคม โดยใช้ทั้งมุม Tech และ Design ในการทำรูปแบบงานให้น่าสนใจ

นิทรรศการนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่าง ทีม AIS NEXT (Novel Engine Execution Team) ที่มีเทคโนโลยีการเชื่อมโยงข้อมูล IoT ผ่านเครือข่าย AIS IoT กับ นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ระดับชั้นปีที่ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (International Program in Design and Architecture) หรือ INDA ในรายวิชา Design-Build Project ที่เน้นการออกแบบและผลิตผลงานการออกแบบรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงปานกลาง เพื่อให้นิสิตได้นำความรู้มาผลิตเป็นผลงานการออกแบบจริงๆ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของหลักสูตร โดยทางกลุ่มนิสิตผู้สร้างสรรค์ผลงานของ INDA จำนวน 12 คน ได้นำเสนอแนวคิดการออกแบบให้เป็นสวนดอกไม้ดิจิทัล หรือ IoT Garden และจัดทำให้เป็นนิทรรศการแบบ interactive ที่ผู้เข้าชมสามารถปฏิสัมพันธ์กับดอกไม้ ซึ่งดอกไม้แต่ละดอกสามารถเปลี่ยนสี เปลี่ยนลักษณะการหุบบาน และเลียนเสียงธรรมชาติ ตามค่าความชื้น ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 และค่าความถี่เสียง โดยดอกไม้ทั้งหมดเชื่อมต่อข้อมูลผ่านเครือข่าย AIS IoT

 

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส