เป็นความร่วมมือที่น่าตื่นเต้นสำหรับวันนี้ (16 ก.ค.) เมื่อ AIS ผนึกกำลังกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม , มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และกสทช. เปิดตัวและสาธิตนวัตกรรมต้นแบบจากเทคโนโลยี 5G เป็นครั้งแรกของไทย โดยการโชว์ไลฟ์บรอดแคสต์ 5G Remote Control Vehicle ซึ่งเป็นสั่งการเพื่อควบคุมรถยนต์แบบข้ามภูมิภาค ระหว่างกรุงเทพฯ และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พร้อมสาธิตระบบการสื่อสารแบบรถต่อรถผ่านเครือข่าย 5G

การบังคับรถไร้คนขับข้ามภูมิภาค

นวัตกรรมการบังคับรถไร้คนขับข้ามภูมิภาค หรือ 5G Remote Control Vehicle เป็นการแสดงศักยภาพที่สำคัญของเครือข่าย 5G ทั้งในด้านความเร็วของการรับส่งสัญญาณ (Throughput) ความเร็วในการตอบสนอง (Latency) และความเสถียรของระบบ (Stability) ซึ่งการสั่งงานระยะไกลแบบเรียลไทม์บนเครือข่าย 5G นี้ ข้อมูลต่าง ๆ จะถูกส่งต่อผ่านระบบ Video Analytics และสามารถ Streaming Video ที่มีความละเอียดสูงผ่านเครือข่าย 5G กลับมาที่ผู้ควบคุมรถได้ทันที โดยนวัตกรรมนี้จะเป็นประโยชน์มากในด้านการขนส่งสินค้าในภาคอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์

โดยการสาธิตในวันนี้ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้ทดลองใช้นวัตกรรม 5G Remote Control Vehicle

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ กำลังขับรถด้วยนวัตกรรม 5G Remote Control Vehicle

แม้ฝนจะตกหนัก แต่ก็ยังควบคุมรถได้

การสื่อสารระหว่างรถต่อรถ ผ่านเครือข่าย 5G

นวัตกรรม V2V (Vehicle to Vehicle) หรือการสื่อสารระหว่างรถต่อรถผ่านเครือข่าย 5G ซึ่งเป็นการสื่อสารกันระหว่างรถ 2 คัน เพื่อรับ-ส่งข้อมูลการขับขี่ ข้อมูลความปลอดภัย และข้อมูลการจราจร นวัตกรรมนี้จึงช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรในเส้นทาง

ทางด้าน นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ทดลองใช้นวัตกรรม V2V (Vehicle to Vehicle)

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ทดลองขับรถด้วยนวัตกรรม 5G Remote Control Vehicle (คันหลัง) และแม้รถคันหน้าจะเบรกกระทันหัน แต่ด้วยนวัตกรรม V2V รถคันหลังที่ตามมาก็สามารถหยุดได้ทันทีอย่างปลอดภัย

รถตรวจการณ์และรักษาความปลอดภัย

นวัตกรรม Mobile Surveillance หรือ Object Detection คือนวัตกรรมรถตรวจการณ์และรักษาความปลอดภัย จาก Video Analytics และ AI ด้วยการนำข้อมูลวิดีโอจากกล้องวงจรปิดบนยานพาหนะ ส่งผ่านเครือข่าย 5G ไปยังห้องควบคุมกลาง ทำให้สามารถวิเคราะห์ภาพเพื่อจำแนกวัตถุรอบคันรถ และตรวจจับลักษณะของรถ เช่น ป้ายทะเบียน , รุ่นของรถ , ยี่ห้อ , สีและลักษณะของรถ รวมถึงแจ้งเตือนความเสี่ยงในพื้นที่ต่าง ๆ ได้แบบเรียลไทม์และแม่นยำ

โดยหากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง แจ้งข้อมูลรถต้องสงสัยเข้ามาในพื้นที่ ระบบก็จะสามารถแกะรอยและแจ้งเตือนทันทีที่รถคันดังกล่าวขับเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้การเฝ้าระวังพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ห้องควบคุมกลาง

ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ภาพของ AI

นวัตกรรมจากเครือข่าย 5G ยังมีมากและจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงของการศึกษา ทดลองและทดสอบ โดยความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชนและมหาวิทยาลัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับการอนุมัติและสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล เพื่อจัดทำระบบต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City Model in Campus) ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น โดยทาง ม.อ. ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส เพื่อร่วมกันศึกษา ทดลอง ทดสอบ เทคโนโลยี 5G ในมิติต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ผ่าน Use Case ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม และตอบโจทย์การใช้ชีวิตของประชาชน ซึ่ง ดร.นิวัติ เชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จะเป็น Cross Cutting Technology Platform ที่สำคัญในการสนับสนุนการขับเคลื่อน Bioeconomy Circular Economy และ Green Economy หรือ BCG Model รวมถึงการพัฒนาโจทย์เชิงพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน

การสาธิตนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จในวันนี้ จึงถือเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำอันดับ 1 ด้านนวัตกรรมเครือข่ายและเทคโนโลยีตัวจริงของ เอไอเอส

ผู้บริหารบันทึกภาพร่วมกันผ่านเทคโนโลยีไลฟ์บรอดแคสต์

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “เราจะนำเอาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศด้วย BCG Model ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่เหมาะสมกับความเข้มแข็งของประเทศไทย และมีความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งนวัตกรรมดิจิทัลถือเป็น Cross Cutting Technology Platform ที่สำคัญในยุคปัจจุบัน และในวันนี้ได้มีการพัฒนาต่อยอดในรูปแบบของการสื่อสารยุคใหม่ V2X (Vehicle to Everything) , Smart pole และ 5G ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ Smart City Model in Campus ที่รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะเป็นกำลังที่สำคัญในการร่วมพัฒนาประเทศ ด้วย BCG Model ต่อไป”

ทางด้าน นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ภายใต้วิสัยทัศน์ของการเป็น Digital Life Service Provider เราไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตเพื่อประโยชน์ในวันนี้อยู่เสมอ โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยไปอีกขั้น โดยที่ผ่านมา เอไอเอส ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ภายใต้การสนับสนุนจาก กสทช. เดินหน้าทดลอง ทดสอบ เทคโนโลยี 5G ในมิติต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง Use Case ที่จะเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึง Use Case ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภค เพื่อให้ผู้สนใจและประชาชนทั่วไปได้สัมผัสเทคโนโลยีล้ำสมัย ช่วยสร้างเสริมองค์ความรู้ ขยายขีดความสามารถ ตลอดจนสร้างความเชี่ยวชาญให้ทีมงานและบ่มเพาะบุคลากรด้านดิจิทัลให้กับประเทศ เพราะเชื่อว่า 5G คือ โอกาสครั้งสำคัญที่จะพลิกโฉมการเดินหน้าของประเทศไปอีกขั้น”

 

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ (ซ้าย) และ นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ (ขวา)

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส