พล.อ. สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) เผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหารวมถึงสกัดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หนทอ COVID-19) ซึ่งมีโฮสต์หรือสิ่งมีชีวิตเป็นพาหะ เช่น คน และแพร่กระจายจากคนสู่คน โดยเฉพาะการเดินทาง ดังนั้นมาตรการที่จะลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส คือการทำให้คนอยู่กับที่ ไม่เคลื่อนที่รวมถึงงดการเดินทาง จึงเกิดมาตรการทำงานที่บ้านหรือ Work from Home ที่อินเทอร์เน็ตกลายเป็นเรื่องจำเป็นมากขึ้นกว่าเดิม

และสืบเนื่องมาจากที่การนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ขอความร่วมมือสำนักงานกสทช. เชิญผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมมาประชุมหารือเป็นการเร่งด่วนเมื่อวันที่ 22 มี.ค.2563 เพื่อนำผลการประชุมนำเสนอที่ประชุม กสทช. วันที่ 23 มี.ค.2563

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวกับสื่อว่า ที่ประชุม กสทช. ได้นัดประชุมวาระพิเศษเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือประชาชนทุกระดับ โดยที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยการลดค่าใช้จ่ายด้านโทรคมนาคม และส่งเสริมการทำงานที่บ้าน รวมทั้งสนับสนุนการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนต่อไป ดังนี้

1. สนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband) เพิ่ม 10GB ต่อคน ต่อเดือน ให้แก่ผู้ใช้งานในปัจจุบัน โดยผู้ใช้บริการ 1 คนจะได้รับการสนับสนุน 1 เลขหมาย ต่อ 1 ผู้ให้บริการ เป็นระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบมาตรการดังกล่าว จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 โดยใช้ฐานลูกค้าที่มีผู้ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เท่านั้น ให้หักจากเงินที่ผู้ให้บริการมีหน้าที่จะต้องชำระค่าประมูลคลื่นความถี่ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขใบอนุญาตที่ กสทช. กำหนด จนกว่าจะครบจำนวน และให้ กสทช. นำเงินส่วนที่เหลือส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป โดยประชาชนจะสามารถรับสิทธิได้ด้วยการลงทะเบียนผ่านระบบ USSD ของผู้ให้บริการแต่ละค่ายที่ตนใช้งานอยู่

2. สนับสนุนการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (Fixed Broadband) ให้แก่ผู้ใช้งานในปัจจุบัน โดยปรับเพิ่มขนาดความจุเท่าที่ผู้ให้บริการจะสามารถดำเนินการได้ กรณีบริการ ADSL/VDSL/Copper ให้ปรับเพิ่มความเร็วสูงสุดที่สามารถทำได้ และกรณีบริการ FTTX ให้ได้ระดับความเร็วในการดาวน์โหลดที่ 100 Mbps โดยหักเป็นค่าใช้จ่ายจากเงินที่ต้องนำส่งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)

อ้างอิง เดลินิวส์

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส