#beartai เปิดห้องพูดคุยเกี่ยวกับธุรกิจ SME บนแพลตฟอร์ม CLUBHOUSE โดยมีเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ อดีตประธานกรรมการ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ร่วมแบ่งปันความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับธุรกิจ SME ในปัจจุบัน มีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังมากกว่า 9000 คน (ห้องหลัก 8,000 + ห้องเสียงพันกว่า) สำหรับใครที่พลาดไป beartai ขอสรุปประเด็นให้ฟังดังต่อไปนี้

ช่วงแรก คุยกับคุณธนินท์

มุมมองความแตกต่างระหว่างวิกฤต Covid-19 กับต้มยำกุ้ง อะไรรุนแรงกว่ากัน?

โควิด-19 รุนแรงมากกว่าเพราะส่งผลกระทบทั่วโลกส่วนวิกฤตต้มยำกุ้งมีเขตจำกัดแค่ในเอเชีย แต่ธุรกิจในยุโรปและอเมริกายังสามารถไปต่อได้ ไม่ค่อยส่งผลเท่าไหร่ สำหรับวิกฤตต้มยำกุ้งในไทยไม่ได้เกิดความเสียหายมาก เพียงแต่รัฐในตอนนั้นจัดการได้ไม่ดีทำให้เกิดความเสียหาย ต้มยำกุ้งไม่ได้เกิดความเสียหายใหญ่ขนาดนั้นอยู่ที่ผู้นำมากกว่าที่บริหารไม่ดี

ธุรกิจตอนนี้ต้องดูแลตัวเอง SME ต้องวางแผนยังไง?

ในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีสามารถอำนวยความสะดวกสบายได้มากมายแม้กระทั่งการทำงานในยุคนี้ที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศอย่างเดียวแล้วเดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ในยุคใหม่เราควรปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เข้ากับยุคสมัยใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์

กฎหมายของเราไม่ได้ต้อนรับคนเก่ง เพราะมัวแต่ใช้กรรมกร คนงาน เนื่องจากแรงงานถูก ซึ่งในปัจจุบันมันหมดยุคไปแล้ว

กลุ่ม Startup ในเมืองไทยยังขาดเงินทุนให้การสนับสนุนเนื่องจากรัฐบาลไม่ได้เอื้อกับกลุ่ม Startup เหล่านี้เท่าไหร่ ทำให้ Startup ต้องไปจดทะเบียนที่อเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ เพราะกองทุนต่าง ๆ ไม่ได้อยู่เมืองไทย และรัฐบาลไทยจะไปเก็บภาษีกองทุนเหล่านี้ Startup ก็เลยไม่มาตั้ง ทางออกคือรัฐบาลต้องมีการช่วยเหลือ startup และดึงคนเก่งให้เข้ามาอยู่เมืองไทย แต่กฎหมายของเราไม่ได้ต้อนรับคนเก่ง เพราะมัวแต่ใช้กรรมกร คนงาน เนื่องจากแรงงานถูก ซึ่งในปัจจุบันมันหมดยุคไปแล้ว เพราะต่อไปจะไม่มีแรงงาน มีแต่วิศวกร มีแต่ช่างเทคนิค ใช้เครื่องจักร ทำแทนคนหมด ไม่มีสหภาพแรงงาน และไม่มีเกษตรกร ทุกวันนี้เราขาดคนเก่ง ขาดคนที่มีความรู้ คนรุ่นใหม่ที่สร้างธุรกิจ คนเหล่านี้สร้างยาก เราต้องดึงคนเหล่านี้เข้ามา และมาดึงคนไทยเก่งขึ้นไปด้วย

เราควรจะเปลี่ยนการทำธุรกิจที่ไม่มีคนซื้อตอนนี้ไปทำอย่างอื่นอย่างไร?

เราต้องศึกษาธุรกิจของเราก่อนจากการดูธุรกิจของคนอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรา ควรจะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนในรูปแบบการต่อยอดมากกว่า เปลี่ยนเป็นสิ่งใหม่ที่เรายังไม่ถนัด ยกตัวอย่างธุรกิจกระเป๋าเดินทาง ในปัจจุบันธุรกิจการท่องเที่ยวซบเซาลงเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 อาจจะต้องเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งาน หรือเพิ่มฟังก์ชันเพื่อให้มันน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่นธุรกิจทำกระเป๋าเดินทาง ตอนนี้คนเที่ยวน้อย ยอดขายก็ตก ก็ลองหาโอกาสใหม่ ๆ อย่างทำกระเป๋าที่สามารถเก็บความเย็น หรือกระเป๋าสำหรับการขนส่ง ก็น่าจะมีตลาดอยู่

รัฐบาลต้องทำความเข้าใจ เพื่อเลี้ยงธุรกิจเหล่านี้ให้รอดพ้นไปได้ เพราะฉะนั้นรัฐอาจจะต้องให้การช่วยเหลือ โดยให้เงินกู้ดอกเบี้ยถูก ผมเชื่อว่าหากหมดโควิด-19 การขายกระเป๋าเดินทางอาจจะมากยิ่งขึ้นเพราะคนอาจจะเก็บกดจากการไม่ได้ท่องเที่ยวพอสถานการณ์ปกติ การท่องเที่ยวจะกลับมาบูมอีกครั้ง เพราะเราเรียนรู้จากวิกฤตโควิด-19 แล้วว่าอยู่ไหนก็สามารถทำงานได้

คณธนินทร์มีแผนตั้งกองทุนช่วยเหลือกลุ่ม Startup 100 ล้านเหรียญ ตั้งใจมุ่งไปที่ใครบ้าง?

ดูจาก Startup แต่ละคนมีการลงทุนธุรกิจแบบ 4.0 หรือแบบใหม่หรือไม่ หรือมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้อย่างไรบ้าง Startup ต้องทำของใหม่เพื่อให้ดีกว่าจากการต่อยอดจากสิ่งเดิม ให้เงินเขาอย่างเดียวไม่พอ ต้องดูแลให้ความรู้เขาเพื่อการส่งเสริมการขาย สร้างประสบการณ์จากของเก่าสิ่งที่เราเชี่ยวชาญอยู่แล้ว เพื่อให้ของใหม่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สมมุติว่าจะทำสินค้ามาขายกับ 7-11 ตัวเซเว่นเองต้องไปดูว่าจะทำยังไงให้ได้สินค้าที่เป็นของดีราคาถูก ก็ต้องเข้าไปช่วยในการบริหาร เอาประสบการณ์โลกเก่าเข้าไปช่วย ทุกวันนี้หาซื้อวัตถุดิบได้ง่ายขึ้น พอผลิตสินค้าแล้ว จะทำออกไปขายทั่วโลก แต่ Startup ก็ต้องศึกษาข้อมูลวัตถุดิบ ข้อมูลตลาดทั่วโลก ชวนคนเก่งจากทั่วโลกเข้ามาช่วยกัน วันนี้ต้องเอาคนเก่งเป็นทีมมาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เพราะทุกวันนี้ไม่ใช่ One Man Show แล้ว

การจะพัฒนาคนในตอนนี้ ที่ผู้คนมีอารมณ์หดหู่กันอยู่ มีการปลุกพลังคนในองค์กรอย่างไร?

ต้องคิดว่าทีมงานของเราเหมาะสมกับอะไรศึกษาคนเพื่อให้อำนาจและให้โอกาสเขา ให้ลองถูกลองผิด ให้โอกาสให้เงินเขา แล้วชี้แนะแต่ไม่ชี้นำ เรามีหน้าที่สนับสนุน เรามีหน้าที่ติดตาม สุดท้ายการตลาดสำคัญมากให้เขาไปลองถูกลองผิด Startup ไม่มีคนไหนไม่เคยผิด กองทุนที่ตั้งต้องให้ความรู้เขาเพื่อให้เขาประสบความสำเร็จ ยังไม่พอต้องช่วยเขาหาตลาดเรียกได้ว่าช่วยเหลือในทุก ๆ ด้านเพื่อให้เขาประสบความสำเร็จ .ให้ศึกษา Startup จากต่างประเทศ ว่าเขาขายให้ใคร แล้วประสบความสำเร็จอย่างไร

อาจจะมีกองทุนใหญ่อีกกองทุนหนึ่ง สำหรับลงทุนในบริษัทที่ทำสำเร็จแล้ว เรียนรู้แล้วก็ต่อยอด วิกฤตเที่ยวนี้ทำให้ธุรกิจเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ คนใหม่ ๆ ก็มาแทนที่คนเก่า Disruption ต้องระวังคนจากข้างหน้า เพราะคู่แข่งมาจากนอกอุตสาหกรรม สถาบันผู้นำ เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ของ CP นำเสนอโครงการต่อหน้าคุณธนินทร์

คิดอย่างไรกับการบุกต่างประเทศ?

เพราะเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นในเมืองไทย ยกตัวอย่างเช่นกุ้งขาวมาจากอเมริกา จึงนำมาต่อยอดและขยายพันธุ์ ไก่เนื้อเลี้ยง 8 อาทิตย์ได้กิโลครึ่ง จากเดิมเลี้ยง 6 เดือนก็มาจากอเมริกา จาก Rockefeller ผมไปร่วมทุนกับเค้า เราไปร่วมกับคนเก่ง แล้วถึงวันนี้ก็ยังร่วมอยู่ อย่างพันธุ์ไก่เนื้อ เราก็มีโอกาสเดินทางไปรู้ ไปเห็น เอาความรู้มาต่อยอด เมื่อหลายสิบปีก่อนก็เป็นคนแรกที่ขายไก่เนื้อเข้าญี่ปุ่น เข้า EU จนถึงวันนี้เราก็ยังขายอยู่ ถ้าอเมริกายอมให้ขาย เราก็ขายเข้าไปได้ แต่อเมริกาก็กลัวว่าเราจะไปทำร้ายเกษตรของเขา

ช่วงที่ 2 เจ้าของธุรกิจถามคุณธนินท์ เจียรวนนท์

คุณ โจ ไตรเทพ ProPlugin

ทำธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมดนตรี ขายอุปกรณ์เกี่ยวกับเสียง นำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ ในช่วง 3-4 ปีหลังก็พยายามสร้างระบบนิเวศขึ้นมา สร้างกลุ่มอุปกรณ์ให้ครบช่วง ทั้งคนที่ต้องการเป็นศิลปิน เป็น Content Creator แล้วก็ทำสถาบันสอนเรื่องดนตรี

คำถามคือ : การขยายธุรกิจตอนนี้ ถ้าขยายไปนอกกรอบ มันก็จะล้มลุกคลุกคลาน จึงอย่างถามว่า CP มีวิธีสร้าง ecosystem ได้ยังไงให้มีประสิทธิภาพ

คุณธนินทร์ : ทำถูกธุรกิจแล้ว ในธุรกิจนี้จะเจริญรุ่งเรือง คิดถูกแล้วว่าต้องทำอะไรที่เกี่ยวข้อง แต่มีข้อเสนออย่างนี้ คือต้องดูว่าพระเอกหลักเรามีปัญหาไหม ถ้าจะก้าวเร็วแต่เงินเราไม่พอ ก็ต้องควบรวม ก็ต้องหาพาร์ตเนอร์ แต่ถ้าไม่มี ธุรกิจหลักก็ต้องอยู่รอดก่อน ถ้ากำลังของเรายังไม่พร้อม จะยังไม่ไป หรือถ้าจะไปก็ต้องหาทางควบรวม

แต่ก็ต้องหาปัญหาให้เจอว่าปัญหาอยู่ไหน จะทำให้สำเร็จต้องทำยังไง ทุกขั้นตอนต้องสอดคล้องกัน มันถึงจะเร็วและมีประสิทธิภาพ ตอนต้มยำกุ้ง CP ก็ต้องขายธุรกิจทิ้งไปหลายอย่าง เพื่อรักษาธุรกิจหลักเอาไว้ให้ได้ ในวิกฤตนี้ต้องดูพลังของเราก่อน รักษาแกนไว้ให้ได้ ถ้ามีโอกาสค่อยพุ่ง แต่ถ้ายังไม่ถึงเวลาก็อย่าเพื่งออกไป

คุณมินต์ ทำห้องน้ำพกพา ติดรถได้

สามารถเอาไปใช้ได้ในเวลาเดินทาง เปลี่ยนของเหลวให้เป็นเจลและเก็บกลิ่น เก็บไว้ได้นาน 5 ปี ซึ่งได้รับผลกระทบจาก Covid-19 อยู่ ตอนนี้จะขยายจากผู้ใหญ่เป็นเด็ก เริ่มขยายไปกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง

คำถามคือ : เนื่องจากเป็นของใหม่ จะทำยังไงให้ผู้ใช้แล้วบอกต่อ

คุณธนินทร์ : มองว่ามีอนาคต แต่เริ่มต้นแคบไปหน่อย สำหรับคนท่องเที่ยวเป็นหลัก น่าจะต่อยอดไปทำกับโรงพยาบาล ทำอะไรออกมาที่ใช้ได้ชัวร์ ๆ แล้วพอคนไม่เที่ยว คนไม่ออกนอกบ้าน มันก็จำกัดจำนวน ผู้ป่วยติดเตียงก็ยังมีจำกัด อาจจะคนต่างจังหวัด คนที่เข้าป่า ลองคิดวงกว้างขึ้น เราผลิตเครื่องมือแล้ว ลงทุนอีกไม่มาก ก็ต้องโฆษณามากขึ้น แล้วถ้าผลิตมากขึ้นจะสามารถทำให้ถูกกว่านี้ได้ไหม พยายามอย่าคิดเจาะจงเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

คุณตั้มจากกลุ่ม Startup

คำถามคือ : ตอนที่ Jack Ma เป็นนักลงทุนรายเล็ก ๆ มาขอทุนกับคุณธนินทร์ แต่คุณธนินทร์ไม่ได้ให้ทุนไป

คุณธนินทร์ : ตอนนั้นไปฮ่องกง แล้วเจอ Jack Ma แล้วฟังที่นำเสนอไม่เข้าใจ เพราะที่ผ่านมาทำธุรกิจหนักมาตลอด แล้วยังนึกภาพไม่ออกธุรกิจเบาอย่าง e-commerce ที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างตอนนั้น จะเป็นเงินได้ยังไง เหมือนตอนนี้ที่ยังไม่รู้จัก Bitcoin ลึกเท่าไหร่ ถ้าตอนนั้นไปลงทุนกับ Jack Ma ก็คงรวยไม่รู้เรื่องแล้ว ของ Softbank ก็เหมือนกัน ถ้ากล้าลงทุน แต่ผมก็ยังไม่กล้าลงทุน เพราะเรื่องไฮเทคต้องเรียนรู้ เราทำของหนักมาก แต่เค้าทำของเบา Jack Ma เคยเชิญไปกินข้าวที่บ้าน 2 ครั้ง

คุณอาหลง ทำบริษัททัวร์

ตอนนี้มี inbound กับในประเทศที่ยังรอด แต่ก็ไม่ได้การช่วยเหลือจากรัฐบาล แม้รัฐบาลบอกว่าจะให้ soft loan แต่พอไปขอจริง ธนาคารบอกว่าเป็นธุรกิจที่เสี่ยง จนทำให้หลายบริษัทต้องปิดไปแล้ว

คุณธนินทร์ : ผมยังอยากลงทุนกับธุรกิจแบบนี้ เพราะคิดว่ายังมีอนาคต แต่ต้องเสริมรูปแบบใหม่ ๆ เข้าไปด้วย ให้ทันสมัย ไม่ใช่พาไปเที่ยวอย่างเดียว ถ้าคุณธนินทร์เป็นรัฐบาลจะกู้เงิน เลี้ยงธุรกิจแบบนี้ให้อยู่รอดก่อน เอามาอบรมว่าหลัง Covid-19 แล้วคนต้องการอะไร อยู่ ๆ ไปปิดทัวร์ 0 เหรียญ ก็ไม่เข้าใจว่าปิดทำไม ทั้งที่จริงๆ อาจจะทำให้คนกลับมาเที่ยวใหม่ก็ได้

สำหรับครั้งหน้าจะเป็นเรื่องอะไรฝากกดติดตาม @nuishow บน CLUBHOUSE ด้วยนะครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส