ทางกลุ่ม “เครือข่ายพลเมืองเน็ต” ขอยื่นข้อเสนอ 12 ข้อเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลบางอย่างเพื่อทำให้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฉบับสมบูรณ์นั้นไม่ให้กลายเป็นระบบ Single Gateway โดย ณ ปัจจุบันกลุ่มนี้ก็กำลังรวบรวมรายชื่อผ่านเว็บไซต์ Change.org เพื่อให้ทุกท่านที่สนใจสามารถเข้ามาร่วมสนับสนุนลงชื่อกันได้เลย

ซึ่งปรากฎการณ์ครั้งนี้ได้เกิดขึ้นเนื่องจากการประชุม สนช. ที่ได้พิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ วาระที่ 1 โดยสมาชิก สนช. จำนวนหนึ่งอภิปรายว่า เนื้อหาของกฎหมายมีข้อห้ามเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลที่

“ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน”

ถือเป็นความหมายที่กว้างและมีความเปราะบางมาก อาจถูกตีความไปในลักษณะละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ แต่ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ก็ยังมีมติเอกฉันท์รับหลักการด้วยคะแนน 160 ต่อ 0 และส่งต่อให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างดังกล่าว และมีกำหนดส่งกลับให้ สนช. พิจารณาวาระที่ 2 ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2559 และกระทรวงไอซีทีวางเป้าหมายประกาศใช้ภายในปีนี้ จึงทำให้เกิดแคมเปญจน์นี้ขึ้นมานั่นเอง

โดยทั้ง 12 ข้อมีดังนี้

  1. มาตรา 14 (1) ควรแก้ไขให้ชัดเจนว่าเป็นการเอาผิดกับ phishing และตัดโอกาสในการใช้ฟ้องหมิ่นประมาทออกไป
  2. มาตรา 14 (2): กําหนดความผิดต่อ “ความปลอดภัยสาธารณะ” และ “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” ให้ชัดเจน
  3. ตัดมาตรา 14 (3) และ 14 (4): ซ้ําซ้อนกับมาตราอื่นหรือกฎหมายอื่น
  4. มาตรา 15: แยกแยะประเภทผู้ให้บริการหรือสื่อตัวกลาง และกําหนดภาระความรับผิดให้เหมาะสมกับประเภท
  5. มาตรา 15: ความ “ยินยอม” และโทษที่เหมาะสมของผู้ให้บริการ
  6. มาตรา 15: เสนอให้ใช้หลักการ “แจ้งเตือนและแจ้งเตือน” (Notice and Notice) สําหรับขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับ และการนํา ข้อมูลออกจากระบบ
  7. มาตรา 15: ภาระในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ขัดหลักกฎหมายอาญา และอาจขัดรัฐธรรมนูญ
  8. มาตรา 15 และ 20: ต้องจํากัดขอบเขตอํานาจและผลกระทบของประกาศที่รัฐมนตรีจะออกเพิ่มเติมได้ตามพ.ร.บ.
  9. ตัดมาตรา 20 (4) ที่อนุญาตให้ปิดกั้นข้อมูลได้แม้ไม่ผิดกฎหมายใด
  10. มาตรา 16/1 และ 16/2: คําสั่งให้ลบข้อมูล เจตนา และภาระของทั้งผู้ใช้และผู้ให้บริการที่จะสะสมเพิ่มขึ้นจนไม่ได้สัดส่วน
  11. มาตรา 15, 16, 17, 18, 20 และ 26: กระบวนการอุทธรณ์ การทบทวนการใช้อํานาจ ความโปร่งใสของการใช้อํานาจ และการเยียวยากรณีได้รับผลกระทบ
  12. กําหนดอายุของกฎหมาย (Sunset Provision) เพื่อให้มีการทบทวนกฎหมายตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยท่านสามารถอ่านรายละเอียดแบบเต็มได้ที่นี่ (เป็นไฟล์ PDF)

สรุปข้อเสนอบางส่วน

โดยทางเขาก็ได้มีการสรุปข้อเสนอบางส่วนที่สำคัญมาให้อ่านกันที่นี่

  • แก้มาตรา 14 (1) ให้ใช้ฟ้องหมิ่นประมาทไม่ได้ แก้มาตรา 14 (2) ให้เจาะจงใช้กับ “โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งยวด” และตัดมาตรา 14 (3) และ 14 (4) ที่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น
  • มาตรา 15 ต้องแยกแยะประเภทผู้ให้บริการ และกำหนดความรับผิดให้เหมาะสมกับประเภท เสนอให้ใช้หลักการ “แจ้งเตือนและแจ้งเตือน” (Notice and Notice) สำหรับขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับ และการนำข้อมูลออกจากระบบ
  • ประกาศรัฐมนตรีตามมาตรา 15 และ 20 ต้องจำกัดขอบเขตไม่ให้กระทบสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกเข้ารหัส
  • ตัดมาตรา 16/2 เรื่องความผิดหากผู้ใช้มีข้อมูลที่ศาลตัดสินว่าเป็นความผิดอยู่ในครอบครอง ซึ่งในทางปฏิบัติผู้ใช้มีโอกาสน้อยมากที่จะรู้ได้ และให้ใช้กลไกลตามมาตรา 20 แจ้งให้ผู้ใช้รู้ด้วยคำสั่งศาลแทน
  • ตัดมาตรา 20 (4) ที่ให้สั่งให้ปิดกั้นและลบข้อมูลได้แม้ไม่ผิดกฎหมาย
  • ให้มีการเก็บข้อมูลสถิติการใช้อำนาจปิดกั้นและลบข้อมูล หน่วยงานใดร้องขอกี่ครั้ง อ้างว่าผิดกฎหมายมาตราใดบ้าง ศาลอนุมัติหรือไม่ กี่ครั้ง เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายต่อไป
  • ให้มีการกำหนดอายุของกฎหมาย (Sunset Provision) เพื่อให้ต้องทบทวนกฎหมายตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป