ไม่อ่อนโยน! ไม่ปล่อยให้อีกเจ้ายืนระยะไปนานกว่านี้! ล่าสุดนี้ AMD ได้ประกาศเปิดตัว Ryzen 7000 Series อย่างเป็นทางการเมื่อ 29 สิงหาคมเวลา 6.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ที่บอกเลยว่ารอบนี้ค่ายแดงของพวกเรานำเสนอของใหม่สุดพีกแบบเบิ้ม ๆ คือ สถาปัตกรรมใหม่ Zen 4 CPU Desktop เจ้าแรกของโลกที่มีขนาด เพียง 5nm และ Socket ใหม่อย่าง AM5

Zen 4 สถาปัตย์ใหม่ประสิทธิภาพแรง!

หลังจากที่ใช้สถาปัตยกรรมเดิมมากว่า 5 ปี ก็ถึงเวลาเปิดตัว ‘Zen 4’ ที่มีจุดเด่นคือการเป็น CPU Desktop ที่มีกระบวนการผลิตขนาด 5nm เจ้าแรกของโลก เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับอีกเจ้าจะเห็นได้ว่ามีขนาดที่เล็กกว่าราว ๆ 50% และในเชิงการกินไฟ เมื่อนำไปเปรียบกับ Ryzen 5000 Series ที่มีขนาด 7 nm ก็กินไฟน้อยลงง 62% แต่ประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น 49% (วัดกับความเร็ว 4GHz เท่ากันใน Ryzen 5000 Series) พร้อมรองรับแรม DDR5 และมาตรฐาน PCIe 5.0 รองรับฮาร์ดแวร์สมัยใหม่

โดยหากดูใน AMD Ryzen 9 7950X (16 Cores 32 Threads) จะสามารถบูสต์ความเร็วได้สูงสุด 5.7 GHz (ค่าพื้นฐานจะอยู่ที่ 4.5 GHz) เมื่อเทียบกับ Zen 3 ในแง่ของ IPC Uplift หรือประสิทธิภาพต่อ Cores ยังมากขึ้น 13% ส่วน Single-Thread มีประสิทธิภาพสูงขึ้น 29% เมื่อเทียบกับ Ryzen 5000 Series ที่เป็นรุ่นสำหรับ Desktop เหมือนกันรียกได้ว่าไม่เคยมี CPU ตัวไหนที่สามารถบูสต์ความเร็วได้เท่านี้มาก่อนจากโรงงาน นอกจากนี้ทางด้าน Cache รวม ยังอยู่ที่ 80MB (L2+L3) และอัตรา TDP 170W (ดีใจด้วย Heat Sink ที่ใช้กับ AM4 ยังเอามาใช้กับ AM5 ได้อยู่นะ)

จากการทดสอบประสิทธิภาพด้วยเงื่อนไขฟิกซ์สถาปัตยกรรมรุ่นเก่าอย่าง Zen 3 และรุ่นใหม่อย่าง Zen 4 ให้เหลือ 8 Cores 16 Threads เพื่อนำไปรันกับเกมและโปรแกรมต่าง ๆ ก็ทำออกมาได้น่าประทับใจ โดยใน Far Cry 6 ทำได้มากขึ้น 12%, V-Ray (โปรแกรมออกแบบสถาปัตยกรรม) มากขึ้น 15%, F1 2022 มากขึ้น 19% และ wPrime มากขึ้น 39%

เพื่อเป็นการชี้ชัดว่า Ryzen 7000 Seires คือ CPU สำหรับเกมเมอร์ ยังได้มีการไปวัดประสิทธิภาพบน Geekbench 5.2 แบบ Single-Thread ซึ่งในรุ่น 7600X ทำได้ที่ 2175 คะแนน และบนรุ่นใหญ่สุดอย่าง 7950X ทำไปได้ที่ 2275 คะแนน และหากดูภาพรวมของทุกรุ่นจะเห็นได้ว่าเยอะกว่าทางด้านของ Intel Core i9-12900K

ส่วนผลการทดสอบภาพรวมด้านประสิทธิภาพและสมรรถภาพของการนำ Ryzen 9 7950X มาเปรียบเทียบกับ Ryzen 9 5950X ที่มี 16 Cores 32 Threads เท่ากัน ใน 65W TDP สูงกว่า 74%, 105W TDP สูงกว่า 37% และ 170W TDP ต่างกัน 35%

อีกหนึ่งความน่าสนใจคือ CPU Roadmap ของทาง AMD ที่เผยแบบคร่าว ๆ ว่าจะยิงยาวถึงปี 2024 และหากดูที่ช่วงเวลาจะเห็นได้เวลา Zen 4 ยังมีรุ่น Zen 4 3D V-Cache, Zen 4c แถมยังได้เห็นถึงเป้าหมายที่จะมีการนำเสนอ Zen 5, Zen 5 3D V-Cache และ Zen 5c ที่ต้องติดตามความน่าตื่นเต้นกันต่อไปว่ารหัส c จะหมายถึงหรือเด่นชัดด้านการทำงานในรูปแบบใด

“AM5” Socket ใหม่ใช้ได้ยาว ๆ

อีกหนึ่งไฮไลต์ตีคู่มากับ AMD Ryzen 7000 Series คือการขยับมาใช้ Socket ใหม่ในชื่อ AM5 จากเดิมที่ AM4 อยู่คู่สถาปัตย์ CPU ของทาง AMD มานานกว่า 5 รุ่น (1000 – 5000 Series) ตั้งแต่ปี 2016 โดยมีความน่าสนใจคือการติดตั้งหรือเสียบใส่ที่ง่ายเพราะเปลี่ยมาใช้เป็น 1718 pin LGA แถมยังรองรับการจ่ายไฟ 230W รองรับแรม DDR5 และมาตรฐาน PCIe 5.0 อีกทั้งครั้งนี้ AMD มีโปรไฟล์แรมเป็นของตัวเองแล้วโดยใช้ชื่อว่า AMD EXPO (EXtended Profiles for Overclocking) ที่สามารถ Overclock แรม DDR5 ทำให้บอร์ดรองรับบัสได้สูงถึง 6400 MHz โดยราคาของเมนบอร์ด AM5 จะเริ่มต้นที่ประมาณ 4,541 บาท (125 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ) พร้อมแผนสนับสนุน AM5 ที่ยาวนานเกินปี 2025+

ราคาและวันวางจำหน่าย

AMD Ryzen 7000 Series จะเริ่มวางจำหน่ายในวันที่ 27 กันยายนนี้ โดยจะออกมากลุ่มแรกทั้งสิ้น 4 รุ่น ได้แก่

  • Ryzen 9 7950X (16 Cores/32 Threads) – ประมาณ 25,394 (699 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ)
  • Ryzen 9 7900X (12 Cores/24 Threads) – ประมาณ 19,945 บาท (549 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ)
  • Ryzen 7 7700X – (8 Cores/16 Threads) – ประมาณ 14,495 บาท (399 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ)
  • Ryzen 5 7600X – (6 Cores/12 Threads) – ประมาณ 10,862 บาท (299 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ)

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส