ผลการศึกษาของศูนย์โซเชียลมีเดียและการเมือง มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ในสหรัฐอเมริกาพบว่าอัลกอริธึมของ YouTube แนะนำวีดิโอที่เกี่ยวกับการโกงเลือกตั้งให้กับผู้ใช้งานที่มีแนวโน้มไม่เชื่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2020

ในการเลือกตั้งครั้งนั้น โจ ไบเดน (Joe Biden) จากพรรคเดโมแครตได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 48 โดยเอาชนะ โดนัล ทรัมป์ (Donald Trump) ผู้ครองตำแหน่งคนก่อนหน้าไปอย่างสูสี อย่างไรก็ดี ทรัมป์และผู้สนับสนุนของเขาไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง จนนำไปสู่การระดมคนบุกเข้าไปที่อาคารรัฐสภาของสหรัฐฯ ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งในฝั่งของตำรวจสภาและผู้ประท้วง

การศึกษาข้างต้นพบว่า แม้คลิปเหล่านี้จะมีจำนวนน้อย แต่กลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มไม่เชื่อผลการเลือกตั้งจะได้รับการแนะนำคลิปวีดิโอเกี่ยวกับการโกงเลือกตั้งมากเป็น 3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่เชื่อกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2020

“ยิ่งคุณเชื่อวิธีการเล่าเรื่องเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง [แบบที่ปรากฎในคลิป] มากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งมีโอกาสได้รับการแนะนำเนื้อหาประเภทนี้มากขึ้นเท่านั้น” เจมส์ บิสบี (James Bisbee) ผู้วิจัยระบุ

เดิมทีแล้ว บีสบีและทีมวิจัยตั้งใจจะศึกษาว่าผู้ใช้งาน YouTube ได้รับการแนะนำให้รับชมคลิปที่มีเนื้อหาอันตรายมากน้อยเพียงใด แต่ช่วงเวลาการศึกษาสอดคล้องกับช่วงการเลือกตั้งและการประกาศผลพอดี

ทีมวิจัยสำรวจกลุ่มตัวอย่างในสหรัฐฯ มากกว่า 300 คน ในช่วงระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม – 8 ธันวาคม 2020 และช่วงหลังการเลือกตั้ง ด้วยคำถามเกี่ยวกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2020 อย่างการถามเกี่ยวกับข้อกังวลที่มีต่อการโกงบัตรเลือกตั้ง การแทรกแซงผลโดยรัฐบาลต่างชาติ และถามถึงความชอบธรรมของผลการเลือกตั้ง

ทีมวิจัยยังได้ติดตามประสบการณ์ใช้ YouTube ของกลุ่มตัวอย่าง ด้วยการมอบคลิปที่แตกต่างกันให้กลุ่มตัวอย่างแต่ละคนเริ่มดู และให้ลองดูคลิปไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้ให้ อาทิ การกดที่คลิปที่ขึ้นแนะนำเป็นลำดับ 2 เสมอ

ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ไม่เชื่อผลการเลือกตั้งมากที่สุดจะถูก YouTube แนะนำให้ชมคลิปที่เกี่ยวกับการโกงเลือกตั้งมากกว่าคนที่เชื่อโดยเฉลี่ย 8 คลิป

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุตัวเองว่ามีแนวคิดแบบเสรีนิยม ได้รับการศึกษาระดับสูง และมีแนวโน้มเป็นผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต

คลิปส่วนใหญ่จะสนับสนุนแนวคิดที่ว่ามีการโกงเลือกตั้ง โดยส่วนใหญ่จะเป็นคลิปแถลงข่าวของทำเนียบขาว (ในขณะนั้น) และคลิปจาก NewsNow ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับ Fox News ที่เป็นสำนักข่าวที่สนับสนุนทรัมป์

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา YouTube มีนโยบายลบวีดิโอที่สนับสนุนทฤษฎีว่ามีการโกงเลือกตั้ง จึงทำให้คลิปประเภทดังกล่าวมีจำนวนลดลงไปมาก และเคยออกมาปฏิเสธว่าอัลกอริธึมไม่ได้ตั้งใจเผยแพร่ข้อมูลเท็จ

สำหรับตัวบิสบีเองนั้น เขาไม่ได้มองว่าอัลกอริธึมของ YouTube เป็นสิ่งที่ดีหรือแย่ แต่มองว่ามันเพียงแค่แนะนำเนื้อหาที่ผู้คนน่าจะสนใจเท่านั้น ไม่ว่ามันจะเป็นเนื้อหาที่เลวร้ายขนาดไหนก็ตาม

ที่มา The Verge

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส