สำนักพิมพ์ด้านวิทยาศาสตร์อย่าง สมาคมอเมริกันด้านการวิจัยมะเร็ง (AACR) และ Taylor & Francis เริ่มใช้ Proofig โปรแกรมตรวจภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์ในการตรวจสอบการฉ้อโกงทางวิชาการ

Proofig เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทอิสราเอลในชื่อเดียวกัน อาศัยปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์วิทัศน์ (computer vision) และระบบประมวลภาพในการวิเคราะห์ความถูกต้องของงานตีพิมพ์เชิงวิทยาศาสตร์

ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม 2021 – พฤษภาคม 2022 ทาง AACR ได้ทดลองใช้ Proofig ทดลองงานวิจัยกว่า 1,367 ชิ้นที่ได้รับการเสนอให้ตีพิมพ์ ในจำนวนนี้มีงานวิจัยจำนวน 208 ชิ้นที่ทาง AACR ได้ติดต่อไปยังผู้เขียนให้แก้ปัญหาเกี่ยวกับข้อบกพร่องที่ปรากฎ โดยมีงานวิจัย 4 ชิ้นที่ถูกถอนออกไป

ทั้งนี้ ความบกพร่องด้านภาพเพียงเล็กน้อยที่ปรากฎในชิ้นงานวิจัย อาจส่งผลให้ได้ข้อสรุปที่แตกต่างกันอย่างมาก นักวิจัยบางรายอาจดัดแปลงภาพเพียงเล็กน้อยให้ข้อมูลดูมีมากขึ้นหรือผลลัพธ์แตกต่างออกไปจากเดิม โดยเฉพาะงานวิจัยที่เกี่ยวกับ Western blots ซึ่งเกี่ยวกับการตรวจจับภาพโปรตีนที่มีขนาดเล็กและละเอียดมาก การแยกแยะด้วยตาเปล่าอาจใช้เวลานานมากเกินไป

อย่างไรก็ดี มนุษย์ยังมีบทบาทสำคัญในการตีความข้อมูลที่ตรวจพบและลดความบกพร่องของผลตรวจ รวมถึงการใช้เครื่องมืออย่าง Proofig ยังมีราคาที่สูงมากอยู่ การวิเคราะห์ภาพเพียง 120 ภาพมีราคาสูงถึง 99 เหรียญ (ราว 3,666 บาท)

การฉ้อโกงทางวิชาการ แม้ว่าจะปรากฎไม่บ่อยครั้ง แต่มีผลกระทบใหญ่หลวงต่อชื่อเสียงของสำนักพิมพ์และวงการวิทยาศาสตร์ของโลก ตัวอย่างที่สำคัญคือการค้นพบไม่นานมานี้ว่าหนึ่งในภาพสนับสนุนงานวิจัยด้านอัลไซเมอร์ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2006 และได้รับการอ้างถึงอย่างแพร่หลาย อาจถูกดัดแปลงขึ้น

ที่มา Ars Technica

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส