จากกรณีที่ Cambridge Analytica บริษัทที่ช่วยทำแคมเปญหาเสียง ได้ถูกเปิดโปงในกรณีละเมิดการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ Facebook โดยที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้ถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อใช้ในการผลิตสื่อจูงใจผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง และกล่าวร้ายฝ่ายตรงข้ามด้วยโฆษณาชวนเชื่อ และอาจส่งผลต่อคะแนนการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ด้วย

นั้นทำให้ Facebook ถูกตั้งคำถามในด้านความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้ โดยส่งผลถึงการปรับเปลี่ยนการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ของ Facebook ในเวลาต่อมา รวมถึงการระงับบัญชีหลายรายที่ละเมิดการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ด้วย

เผชิญหน้าสภาคองเกรส ครั้งที่ 1

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2018 ที่ผ่านมา มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Facebook วัย 33 ปี ได้ตอบคำถามต่อคณะกรรมาธิการสภาคองเกรสอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภา 44 คน และตัวแทนจากคณะกรรมาธิการด้านพลังงานและการพาณิชย์ 55 คน

การซักถามดังกล่าวใช้เวลานานถึง 5 ชั่วโมง โดยมีประเด็นการรั่วไหลของข้อมูลผู้ใช้กว่า 87 ล้านยูสเซอร์ รวมถึงกรณี Cambridge Analytica ที่ใช้แพลตฟอร์มนี้ในการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อและข้อมูลแบบผิดๆ และส่งผลให้ต่างประเทศ (เช่น รัสเซีย เป็นต้น) นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ได้

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ได้กล่าวแสดงความเสียใจและยอมรับต่อ “ความผิดพลาดครั้งใหญ่นี้” อย่างมั่นใจ โดยจะดำเนินการปรับปรุงเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก และเน้นย้ำว่า “ไม่ได้ขายข้อมูลผู้ใช้”

แต่เขาก็ยังไม่สามารถตอบคำถามในประเด็นสำคัญอย่างความน่าไว้วางใจได้ชัดเจนนัก

ประเด็นสำคัญต่างๆ มีดังนี้

1. มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ได้เปิดเผยว่า พนักงานจำนวนหนึ่งของ Facebook ได้ถูกสัมภาษณ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสวนของ โรเบิร์ท มูเอลเลอร์ อดีตผู้อำนวยการ FBI ซึ่งเป็นที่ปรึกษาพิเศษ คุมงานสืบสวนกรณีที่รัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 แต่ตัว มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เองไม่เคยถูกสัมภาษณ์

2. Facebook ได้ถูกกล่าวหาว่าละเมิดคำสั่งคณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลาง (Federal Trade Commission: FTC) เมื่อปี 2011 ซึ่ง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ได้ปฏิเสธ โดยคำสั่งดังกล่าวได้กำหนดว่า Facebook จะต้องป้องกันข้อมูลผู้ใช้อย่างไร และต้องได้รับความยินยอมก่อนที่จะถูกแชร์ ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในกรณี Cambridge Analytica นี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า Facebook ได้ล้มเหลวในการป้องกันข้อมูล

3. Facebook ได้พิจารณาให้มีตัวเลือกในการสมัครรับข้อมูลโฆษณา

4. มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ยอมรับว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่ไม่ได้อ่านข้อกำหนดในการให้บริการของโซเชียลเน็ตเวิร์คก่อนที่จะลงทะเบียน

5. Facebook ไม่มีส่วนรู้เห็นเป็นพิเศษในกรณีที่ รัสเซีย หรือจีน เจาะข้อมูลและสร้างโปรไฟล์บนยูสเซอร์ ซึ่ง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ได้กล่าวว่า “Facebook กำลังสืบสวนกรณีของ Cambridge Analytica และใครบ้างที่เก็บรายละเอียดข้อมูลผู้ใช้”

6. สมาชิกวุฒิสภา เท็ด ครูซ ได้เน้นย้ำว่า Facebook เป็นตัวสร้างรูปแบบของอคติและการเซ็นเซอร์ทางการเมือง

7. มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ปฏิเสธที่จะเปิดเผยว่าพักโรงแรมไหน ซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ดิก เดอร์บิน ได้กล่าวว่านี่เป็นประเด็นสำคัญ เรื่องของสิทธิและข้อจำกัดในความเป็นส่วนตัว และต้องการชี้ให้เห็นถึงการจัดการข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ Facebook

เผชิญหน้าสภาคองเกรส ครั้งที่ 2

ต่อมาในวันที่ 11 เมษายน 2018 ที่ผ่านมา มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ได้เข้าตอบคำถามต่อสภาคองเกรสเป็นครั้งที่ 2 โดยมีประเด็นสำคัญต่อเนื่องจากครั้งที่ 1 ดังนี้

1. Facebook ตัดสินใจใช้รูปแบบของ GDPR (General Data Protection Regulation: ร่างกฎหมายให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2018) ในการป้องกันข้อมูลผู้ใช้ทั่วโลก

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กล่าวว่า GDPR มีหลายส่วนที่สำคัญ และจะนำมาใช้กับแพลตฟอร์ม โดยจะมีการปรับแต่งให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศ

3. โปรไฟล์ของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็หลุดไปให้กับ Cambridge Analytica ด้วยเช่นกัน

4. Facebook ถูกบีบให้สร้างการป้องกันความเป็นส่วนตัวสำหรับผู้เยาว์ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี

5. สภาคองเกรสต้องการให้ Facebook ป้องกันการขายยาเสพติดออนไลน์ให้รัดกุมมากขึ้น

ทั้งนี้ ในการตอบคำถามวันที่ 2 นี้ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ยังคงขออภัยและแสดงความรับผิดชอบในข้อผิดพลาด และย้ำในเรื่องนโยบายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีอย่าง Cambridge Analytica ขึ้นอีก

อารมณ์ขันในบรรยากาศตึงเครียด

นอกเหนือจากบรรยากาศความตึงเครีียดแล้ว การตอบคำถามในครั้งนี้ยังแฝงไว้ซึ่งอารมณ์ขันแปลกๆ เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น

สมาชิกวุฒิสภา บิล นีลสัน : “ผมติดต่อกับเพื่อนผมผ่าน Facebook และแสดงความสนใจว่าผมชอบช็อกโกแลต และทันใดนั้นเอง ผมก็ได้รับโฆษณาเกี่ยวกับช็อกโกแลต จะเป็นอย่างไรถ้าผมไม่อยากได้รับโฆษณาขายของเหล่านี้”

สมาชิกวุฒิสภา มาเรีย แคนท์เวล ได้กล่าวถึง “Stanford Analytica” ซึ่ง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็ตอบว่าไม่รู้จัก แท้จริงคือการอ้างอิงถึง “Cambridge Analytica”

สมาชิกวุฒิสภา ออร์ริน แอทช์ : “คุณดำเนินรูปแบบธุรกิจอย่างไร ถ้าผู้ใช้ไม่ต้องการจ่ายค่าบริการให้คุณ”

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก : “ท่านสมาชิกวุฒิสภาครับ เรารันโฆษณาครับ”

สมาชิกวุฒิสภา ออร์ริน แอทช์ : “ผมเข้าใจล่ะ ยอดเยี่ยมมากเลย”

สมาชิกวุฒิสภา ธอม ทิลล์ส : “ผมมีเพื่อน 4,900 คน ใน Facebook ผมลบคนที่เกลียดผมออกไปเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับสมาชิกในครอบครัว และเพื่อนสนิทของผม ผมเป็นแฟนตัวยงของ Facebook”

สมาชิกวุฒิสภา บิลลี ลอง : “แล้ว Facemash ล่ะ ยังมีอยู่ไหม”

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก : “ไม่ครับ เคยมีหนังเกี่ยวกับมัน หรือเคยพูดถึงเกี่ยวกับมัน”

เป็นการอ้างอิงถึงภาพยนตร์ The Social Network เมื่อปี 2010 และ Facemash เป็นแอปที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก สร้างขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อน

ข้อมูลอ้างอิง : uk.businessinsider , businessinsiderbusinessinsider , theverge และ theverge