เนื่องจากแพลตฟอร์มเทคโนโลยีล้ำสมัยได้ให้บริการไปสู่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกและสร้างรายได้อย่างมากมายโดยไม่ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีให้ประเทศเหล่านั้น ซึ่งปัจจุบันได้มีหลายประเทศขอเรียกเก็บภาษีจากจากแพลตฟอร์มเทคโนโลยี ได้แก่ อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ที่ใกล้บ้านเราก็มีสิงคโปร์และอินโดนีเซีย ส่วนฟิลิปปินส์และไทยนั้นกำลังเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนออกกฎหมาย

อินโดนีเซียเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนที่มีนโยบายเรียกเก็บภาษีจากแพลตฟอร์มเทคโนโลยีอย่างจริงจัง ปี 2016 เจรจาการเก็บภาษีจาก Google และได้ยอมตกลงจ่ายในปี 2017 ต่อมาต้นปี 2019 ก็ได้เรียกเก็บภาษีจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างเช่น Lazada และ Tokopedia และปลายปีเริ่มมีแผนจะเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับแพลตฟอร์มเทคโนโลยีอย่าง Alphabet (Google), Amazon และ Netflix

ปี 2563 ได้เกิดวิกฤต COVID-19 ผู้คนต้องทำงานจากที่บ้านและมีการใช้จ่าย รวมทั้งดูหนังฟังเพลงผ่านออนไลน์กันเพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจในประเทศได้รับผลกระทบ และรายรับของรัฐก็ลดลงถึง 13% ดังนั้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาอินโดนีเซียจึงได้เรียกเก็บ VAT 10% จากยอดขายกับบริษัท Amazon, Netflix, Spotify และ Google

อินโดนีเซียได้ใช้กฎการเก็บภาษี VAT 10% กับบริษัทต่างชาติที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ ซึ่งให้บริการและขายผลิตภัณฑ์ดิจิทัลในอินโดนีเซีย โดยมีมูลค่าอย่างน้อย 600 ล้านรูเปียห์ (1,280,581 บาท) ต่อปีหรือมียอดสมาชิกเข้าชมรายปีอย่างน้อย 12,000 ราย

ล่าสุด 7 ส.ค. สรรพากรของอินโดนีเซียได้เปิดเผยรายชื่อบริษัทเทคโนโลยีเพิ่มเติมที่ถึงคิวต้องจ่าย VAT 10% นั่นก็คือ Facebook, Disney, TikTok และอื่น ๆ รวมทั้งบริษัทย่อยของ Amazon ในส่วนของหนังสือเสียงและ Alexa ทั้งนี้สรรพากรย้ำว่าจะมีบริษัทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก และในฝั่งของ Facebook ได้เปิดเผยว่าจะเริ่มเก็บภาษีตั้งแต่ 1 ก.ย. นี้

การเรียกเก็บภาษีแพลตฟอร์มเทคโนโลยีในอินโดนีเซียได้ริเริ่มมาก่อนหน้านี้สองสามปี แต่การเร่งเครื่องในครั้งนี้เป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำในช่วง COVID-19 ดังนั้นการเริ่มเก็บภาษีจึงสามารถทำได้ไม่ช้านัก เพราะได้ลุยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : reuters ภาพปกจาก Pixabay

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส