9 ตุลาคม  PTA หรือ กสทช. ของปากีสถานได้ออกคำสั่งแบนแอปพลิเคชัน TikTok ในประเทศ เนื่องจากมีการร้องเรียนในภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมมาอย่างสม่ำเสมอถึงเนื้อหาที่ผิดศีลธรรมและไม่เหมาะสม ซึ่งหน่วยงานได้ออกประกาศฉบับสุดท้ายไปยัง TikTok ให้พัฒนากลไกในการกลั่นกรองเนื้อหาที่ผิดกฎหมายและให้เวลานานพอสมควรแล้ว แต่ไม่สามารถทำได้ จึงต้องสั่งแบนในที่สุด

สหรัฐฯ เป็นประเทศแรกที่เริ่มจะแบน TikTok เริ่มจากเดือนตุลาคม 2019 ฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐฯ ได้ร้องเรียนให้คณะกรรมการเพื่อการลงทุนในสหรัฐฯ (CFIUS) ตรวจสอบว่ารัฐบาลจีนสามารถรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้หรือควบคุมเนื้อหาที่แชร์ได้หรือไม่  ซึ่งทาง TikTok ได้ยืนยันว่าไม่ได้ส่งข้อมูลให้รัฐบาลจีน โดยจะเก็บข้อมูลผู้ใช้ในสหรัฐฯ ไว้ที่สหรัฐฯ และสำรองไว้ที่สิงคโปร์

พฤศจิกายน 2019 TikTok แอปโซเชียลวิดีโอมียอดกว่า 1.5 พันล้านดาวน์โหลดทั้งบน App Store และ Google Play ซึ่งขณะนั้นเป็นแอปที่ไม่ใช่เกมที่มียอดดาวน์โหลดมากที่สุดอันดับ 3 ของโลกด้วยยอด 614 ล้านดาวน์โหลด ตามหลังอันดับ 1  WhatsApp ที่มียอด 707.4 ล้านดาวน์โหลดและอันดับ 2 Messenger ที่มียอด 636.2 ล้านดาวน์โหลด นำหน้าอันดับ 4 Facebook ที่มียอด 587 ล้านดาวน์โหลดและอันดับ 5 Instagram ที่มียอด 376.2 ล้านดาวน์โหลด

เดือนธันวาคม กองทัพบกและกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้มีการประกาศสั่งห้ามทหารใช้งานแอปฯ TikTok อย่างเด็ดขาด เนื่องจากข้อกังวลด้านความมั่นคงและเพื่อหลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล

แต่แล้วก็มีประเทศแรกที่สั่งแบนอย่างเด็ดขาด ปลายเดือนมิถุนายน รัฐบาลอินเดียสั่งแบนแอปสัญชาติจีนกว่า 59 รายการ รวมทั้ง TikTok และ WeChat โดยอ้างว่าแอปทั้งหลายมีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต และส่งกลับไปยังเซิร์ฟเวอร์ในประเทศจีน

ในขณะที่สหรัฐฯ เพึ่งออกคำสั่งแบน TikTok ในเดือนสิงหาคมด้วยคำสั่งผู้บริหาร 2 ฉบับ ซึ่งฉบับแรกและตามน้ำด้วยคำสั่งของกระทรวงพาณิชย์มีผลให้ปิดดาวน์โหลดแอป TikTok เมื่อ 27 กันยายน แต่ได้ถูกศาลสหรัฐฯ สั่งคุ้มครองชั่วคราวแล้วจะตัดสินใน 4 พ.ย. ส่วนคำสั่งผู้บริหารฉบับที่สองจะมีผลในวันที่ 12 พฤศจิกายนสำหรับการปิดให้บริการ TikTok ซึ่งจะต้องรอให้ศาลพิจารณาด้วยเช่นกัน แต่ถ้า TikTok Global บริษัทที่จะตั้งใหม่ในสหรัฐฯ สามารถบรรลุข้อตกลงที่สมบูรณ์ได้คาดว่าคำสั่งแบนก็จะถูกตีตกไป

ที่มา : cnet และ pta.gov.pk

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส