สำนักข่าว The Information เผยว่าแอมะซอน (Amazon) ได้เข้าซื้อทีมในส่วนกิจการให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของเฟซบุ๊ก (Facebook) ที่ตั้งอยู่ในลอสแองเจลิสเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาโดยไม่ได้เปิดเผยราคา เพื่อเข้ามาร่วมทำงานในโปรเจกต์ Kuiper

เฟซบุ๊กเคยมีเป้าหมายที่จะให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตไปยังพื้นที่ห่างไกล โดยได้เริ่มต้นโปรเจกต์ Aquila ที่ใช้โดรนพลังงานแสงอาทิตย์ทำหน้าที่เป็นสถานีถ่ายทอดสัญญาณอินเทอร์เน็ต เริ่มบินครั้งแรกเมื่อ 28 มิถุนายน 2016 และบินลำที่ 2 ในปี 2017 แล้วได้หยุดพัฒนาลงในปี 2018

ปี 2018 เฟซบุ๊กยืนยันว่ากำลังมีแผนจะให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Athena ในวงโคจรต่ำของโลก โดยจะเริ่มปล่อยดาวเทียมดวงแรกในต้นปี 2019 เพื่อให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแก่พื้นที่ที่อยู่ห่างไกล ซึ่งจะต้องแข่งขันกับสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) และวันเว็บ (OneWeb) แต่ตอนนี้ก็ชัดเจนแล้วว่าแผนนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว

แอมะซอนได้เสนอโครงการ Kuiper ต่อคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐฯ (FCC) เมื่อ 4 กรกฎาคม 2019 ในการใช้กลุ่มดาวเทียมวงโคจรโลกต่ำ 3,236 ดวง สำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงความหน่วงต่ำในพื้นที่ห่างไกลทั่วสหรัฐอเมริกาโดยใช้เงินลงทุนมากกว่า 10,000 ล้านเหรียญ (326,190 ล้านบาท) และได้รับอนุมัติจาก FCC เมื่อกรกฎาคม 2020

FCC ได้มีข้อกำหนดให้ Kuiper จะต้องเปิดตัวและใช้งานดาวเทียมได้จำนวนครึ่งหนึ่งภายใน 30 กรกฎาคม 2026 และกลุ่มดาวทั้งหมดไม่เกิน 30 กรกฎาคม 2029 ซึ่งตอนนี้แอมะซอนได้สร้างห้องปฏิบัติการในเรดมอนด์รัฐวอชิงตันโดยมีพนักงานประมาณ 500 คน

ธันวาคม 2020 แอมะซอนได้เปิดตัวเสาอากาศรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของโครงการ Kuiper และเมษายนที่ผ่านมาได้เซ็นสัญญากับ ULA ในการใช้จรวด Atlas V ปล่อยดาวเทียมสู่วงโคจรจำนวน 9 ครั้ง ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะปล่อยดาวเทียมดวงแรกเมื่อใด แต่ที่แน่ ๆ ตอนนี้ยังตามหลังสเปซเอ็กซ์ที่ปล่อยดาวเทียมอยู่ในวงโคจรแล้ว 1,658 ดวงและกำลังเปิดให้บริการทดลองใช้งานใน 12 ประเทศ ส่วนวันเว็บได้ปล่อยดาวเทียมแล้ว 254 ดวงและจะเปิดให้บริการปกคลุมโซนขั้วโลกเหนือในสิ้นปีนี้ 

ที่มา : theverge

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส