แฟรนซิส เฮาเกน (Frances Haugen) อดีตผู้จัดการผลิตภัณฑ์ในทีมต่อต้านการเผยแพร่ข้อมูลเท็จต่อสาธารณชน ของ Facebook เผยในรายการ 60 Minutes ทางสถานีโทรทัศน์ CBS ของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า Facebook หากินกับการปล่อยให้มีประทุษวาจา (hate speech) บนแพลตฟอร์มของตัวเอง และยังเผยด้วยว่าเธอคือคนเดียวกับที่ปล่อยข้อมูลภายในเพื่อสนับสนุนการสืบสวน Facebook ของ Wall Street Journal และสภาคองเกรสของสหรัฐฯ

แฟรนซิส เฮาเกน (ที่มา: CBS)

ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงการเพิกเฉยของ Facebook ที่มีต่อการต่อต้านการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด – 19 การเป็นต้นเหตุของ Facebook ในการสร้างความแตกแยกทางการเมืองในสหรัฐฯ และภยันอันตรายของ Instagram ที่มีต่อสุขภาพจิตของผู้ใช้ที่เป็นวัยรุ่นผู้หญิง ซึ่งเฮาเกนจะเข้าให้การต่อวุฒิสมาชิกในเรื่องดังกล่าว ในวันอังคารที่จะถึงนี้

เฮาเกนระบุว่า Facebook โกหกที่เคยให้คำมั่นต่อสาธารณชนว่าจะจัดการกับปัญหาประทุษวาจาและการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ มิหนำซ้ำยังมีการใช้อัลกอริทึมที่ส่งเสริมเนื้อหาที่สร้างความกลัวและความเกลียดชังในการหาประโยชน์ให้กับบริษัท

จากข้อมูลของเฮาเกนและรายงานของ WSJ เผยให้เห็นว่าอัลกอริทึมที่ Facebook ปรับปรุงในปี 2561 ได้เพิ่มการมองเห็นเนื้อหาที่สร้างความกลัวและความเกลียดชังให้กับผู้ใช้ เนื่องจากเนื้อหาในลักษณะนี้จะเพิ่มเวลาในการใช้งาน Facebook ของผู้ใช้ และกดเข้าไปดูโฆษณาออนไลน์เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ Facebook ได้เงินเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

“Facebook ทำเงินได้มากขึ้นเมื่อคุณบริโภคเนื้อหาเพิ่มขึ้น คนทั่วไปมักจะเพลิดเพลินในการเสพเนื้อหาที่เร้าอารมณ์ และยิ่งเป็นเนื้อหาที่ให้รู้สึกโกรธแค้นมากเท่าไหร่ คนก็จะยิ่งมีปฏิสัมพันธ์และบริโภคกับเนื้อหาเหล่านั้นมากขึ้นเท่านั้น” เฮาเกนระบุ

นอกจากนี้ เฮาเกนยังระบุด้วยว่า Facebook ถูกใช้ในการเตรียมการก่อการจลาจลที่หน้าอาคารรัฐสภาของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา หลังจากที่ Facebook ปิดระบบรักษาความปลอดภัยหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี

เฮาเกนระบุว่าเธอเคยทำงานมาแล้วหลายบริษัท รวมถึง Google และ Pinterest แต่ Facebook แย่ที่สุดเพราะหวังกำไรมากกว่าสวัสดิภาพของผู้ใช้ “มันมีความขัดกันระหว่างผลประโยชน์ของส่วนรวมและผลประโยชน์ของ Facebook ซึ่ง Facebook มักเลือกผลประโยชน์ของตนเสมอ”

ทั้งนี้ ทางนิก เคล็กก์ (Nick Clegg) รองประธานฝ่ายกิจการโลก (Global Affairs) ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN ก่อนหน้าการให้สัมภาษณ์ของเฮาเกน โดยระบุว่าข้อกล่าวหาที่บอกว่าโซเชียลมีเดียทำให้เกิดการจลาจลเมื่อวันที่ 6 มกราคม รวมไปถึงการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองนั้น “ไร้สาระมาก”

ยิ่งไปกว่านั้น ลีนา ไพสช์ โฆษกของ Facebook ยังได้ออกมาแถลงภายหลังจากการให้สัมภาษณ์ของเฮาเกนว่า “เราได้ดำเนินการมาตรการต่อต้านการเผยแพร่ข้อมูลเท็จและข้อมูลที่เป็นภัยอย่างต่อเนื่อง การพยายามเชื่อมโยงว่าเราได้ส่งเสริมหรือนิ่งเฉยต่อเนื้อหาในเชิงลบนั้นไม่เป็นความจริง”

จอห์น ทาย (John Tye) ทนายของเฮาเกนระบุว่าทั้งคู่ได้เข้าหารือกับสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติของยุโรปแล้ว และมีกำหนดจะเข้าพบกับสมาชิกรัฐสภาของสหราชอาณาจักรภายในเดือนนี้ เพื่อมุ่งผลักดันให้เกิดมาตรการเพื่อตอบโต้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยทั้งสองคนยังสนใจที่จะเข้าพบฝ่ายนิติบัญญัติจากประเทศในเอเชีย เนื่องจากหลายประเด็นที่จุดประกายเฮาเกนมาจากภูมิภาคนี้

ที่มา The Verge, Reuters, The Independent

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส