หลังจากที่ทาง PayPal ประกาศเตรียมเปิดรับผู้ใช้ใหม่ในไทยอีกครั้ง โดยมาพร้อมข้อตกลงใหม่ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในสื่อสังคมออนไลน์ ที่ระบุว่าบัญชีส่วนบุคคลจะไม่สามารถพักเงินไว้ในบัญชีหรือถอนเงินได้อีกต่อไปหลังวันที่ 18 ก.พ. 2565 นั้น ล่าสุด PayPal ได้เริ่มส่งเมลให้ผู้ใช้งานได้ยืนยันข้อตกลงเพื่อเตรียมย้ายบัญชีมาดูแลกับทาง PayPal Thailand โดยตรงแล้วครับ

PayPal
เมลที่ PayPal ส่งมาเพื่อยืนยัันข้อตกลงใหม่

เมื่อยืนยันข้อตกลงย้ายบัญชีเข้าสู่ PayPal Thailand เรียบร้อยก็จะได้รับเมลที่ระบุว่า ยอดเงินที่เหลืออยู่ในบัญชีส่วนบุคคลจะต้องใช้จ่ายหรือโอนเข้าธนาคารให้หมดก่อนวันที่ 18 ก.พ. 2565 ซึ่งถ้าพ้นกำหนดไปแล้วยอดเงินที่เหลือจะถูกโอนไปยังบัญชีธนาคารที่ผูกไว้โดยอัตโนมัติตามข้อตกลงใหม่

PayPal

รายละเอียดเพิ่มเติมจากทาง PayPal Thailand

โฆษกของ PayPal กล่าวว่า “PayPal มีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะให้บริการลูกค้าในประเทศไทย และในช่วงปีที่ผ่านมา เราได้ทำงานกันอย่างหนักเพื่อกลับมาเปิดให้บริการในประเทศนี้อีกครั้ง หลังจากที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการภายในประเทศไทยครั้งใหม่นี้ PayPal Thailand จะค่อย ๆ เปิดพื้นที่ต้อนรับลูกค้ารายใหม่นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ในช่วงแรก เราได้เปิดให้ลงทะเบียนบัญชีธุรกิจสำหรับธุรกิจจดทะเบียนและผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนพาณิชย์ ทางบริษัทจะเปิดให้ลงทะเบียนบัญชีสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปในลำดับต่อไป ในปีที่จะถึง เราตั้งเป้าที่จะขยายบริการของเราให้มีความครอบคลุมยิ่งขึ้น เพื่อที่จะสามารถให้บริการลูกค้าได้มากขึ้นกว่าที่เคย ในระหว่างนี้ ก่อนที่เราจะย้ายบัญชีของลูกค้าไปยังแพลตฟอร์มใหม่ซึ่งได้รับอนุญาตให้ดำเนินการในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ลูกค้าปัจจุบัน ซึ่งได้แก่ ผู้บริโภค ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และธุรกิจต่าง ๆ จะไม่ประสบปัญหากับการใช้ระบบใด ๆ ทั้งนี้ หากเราต้องการให้กลุ่มลูกค้าเหล่านี้ดำเนินการใด ๆ เพิ่มเติม เราจะแจ้งให้พวกเขาทราบโดยตรง”

“ในฐานะผู้ให้บริการช่องทางชำระเงินรายใหม่ที่ได้รับใบอนุญาตในประเทศไทย เรากำลังเดินหน้าเปิดตัวบริการใหม่อย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อม ๆ กับยกระดับผลิตภัณฑ์และการทำงานของเรา ซึ่งนั่นหมายความว่า วิธีการใช้งานและบริการต่าง ๆ ที่เรามอบให้ก็เป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเช่นกัน ความตั้งใจสูงสุดของเราคือ การเชื่อมโยงทุกคนเข้ากับเศรษฐกิจดิจิทัลทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคชาวไทย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เจ้าของกิจการ และธุรกิจทุกขนาด”

“เราขออภัยลูกค้าของเราสำหรับความไม่สะดวกที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ เนื่องจากเรากำลังปรับปรุงผลิตภัณฑ์และกระบวนการการทำงานของเราเพื่อให้ทุกขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมาย นอกจากนี้ เรากำลังทำงานกันอย่างหนักในการสร้างแพลตฟอร์มที่ดีที่สุดในประเทศไทย เพื่อส่งมอบบริการที่น่าประทับใจต่อไป”

  • ก่อนหน้านี้ เราให้บริการ PayPal ในประเทศไทยผ่านหน่วยงานในสิงคโปร์ สำหรับการเปิดตัวครั้งใหม่ PayPal จะให้บริการในประเทศไทยผ่านนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศภายใต้ชื่อ บริษัท เพย์พาล (ประเทศไทย) จำกัด
  • บริษัท เพย์พาล (ประเทศไทย) จำกัด ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย
  • เรากำลังเริ่มย้ายฐานลูกค้าปัจจุบันไปยังนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศ และจะดำเนินการย้ายข้อมูลนี้เสร็จสิ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
  • บัญชีส่วนบุคคลของ PayPal Thailand จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถชำระเงินค่าสินค้า บริการ และซื้อสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศได้บนเว็บไซต์นับล้าน ทั้งนี้ในช่วงเริ่มต้นนี้ บัญชีบุคคลอาจจะไม่สามารถรับชำระเงิน ถือยอดในบัญชี หรือถอนเงินเข้าบัญชีธนาคารได้ แต่ฟังก์ชันเหล่านี้จะพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ควบคู่ไปกับการเปิดให้บริการในประเทศอีกครั้งอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนถึงปี 2565
  • บัญชีธุรกิจของ PayPal Thailand จะช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ (บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วน เจ้าของกิจการ) ซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทยสามารถรับชำระเงิน ถือยอดในบัญชี และถอนเงิน (บาท) ไปยังบัญชีธนาคารของไทยได้
  • ในการสมัครบัญชีธุรกิจของ PayPal Thailand ลูกค้าต้องเป็นธุรกิจที่จดทะเบียนในประเทศไทย ลูกค้าต้องมีหมายเลขจดทะเบียนธุรกิจที่ออกโดยหน่วยงานภายในประเทศ หมายเลขจดทะเบียนธุรกิจอาจเป็นหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลัก หรือในกรณีที่ลูกค้ามีหลายธุรกิจ ลูกค้าสามารถใช้หมายเลขที่ออกใหม่โดยหน่วยงานราชการก็ได้
  • ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้งานบัญชีได้บนเว็บไซต์ PayPal Thailand โดยฟังก์ชันเหล่านี้จะพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ควบคู่ไปกับการเปิดให้บริการในประเทศอีกครั้งอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนถึงปี 2565
  • เราไม่มีสิทธิ์ที่จะออกความคิดเห็นในเรื่องของพันธะผูกพันทางกฎหมาย และข้อบังคับของบุคคลภายนอก ในฐานะผู้ให้บริการชำระเงินที่ได้รับอนุญาตในประเทศแล้ว PayPal Thailand มุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามกฎหมายที่บังคับใช้ทั้งหมดในประเทศไทย

อ้างอิง – PayPal

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส