หากใครจำกันได้ เมื่อช่วงสองปีที่ผ่านมา ชาวโซเชียลต่างแตกตื่นกับเรื่องราวของ “เคสฟรุ้งฟริ้ง” เคสสำหรับสวมโทรศัพท์มือถือที่มีสีสันสดใส ภายในบรรจุของเหลวชนิดหนึ่งพร้อมกากเพชรระยิบระยับ ที่จู่ๆ ของเหลวที่ว่ามานี้ได้เล็ดลอดออกมาจากเคส และทำให้ผู้ใช้รายหนึ่งเกิดอาการผิวไหม้ และเกิดรอยแดง จนนำไปสู่การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าของเหลวดังกล่าวนั้น คือสารอะไร

ถึงแม้ว่าจะรู้กันแล้วว่าของเหลวดังกล่าวคือ n-Decane สูตรโมเลกุล C10H22 หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า “เด็คเคน” ซึ่งสารตัวนี้เป็นสารชะล้างในโรงงานอุตสาหกรรม แต่ใช่ว่าเหตุการณ์ทำนองนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก เหตุการณ์ครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเคสฟรุ้งฟริ้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมทีผ่านมา แต่ว่าไปเกิดในต่างประเทศแทน

ล่าสุด ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถึงการสั่งควบคุม “เคสฟรุ้งฟริ้ง” หรือชื่อที่เรียกในประกาศฉบับดังกล่าวก็คือ “อุปกรณ์สําหรับห่อหุ้ม (Case) โทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องคอมพิวเตอร์แท็ปเล็ต ที่มีการนําสารเคมีมาบรรจุอยู่ภายใน” เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

ที่มาที่ไปของประกาศฉบับนี้ ได้อ้างอิงถึงการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เพื่อทำการค้นหาสารเคมีที่ผสมอยู่ในเคสแบบดังกล่าว พบว่า มีสาร เดคเคน (Decane), โนเนน (Nonane), เฮปเทน (Heptane), และกรดออกซาลิค (Oxalic acid) ซึ่งถ้าชำรุดและรั่วไหลออกมา จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยการประกาศในครั้งนี้ อาศัยความในพรบ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2541) กำหนดให้มีการติดฉลากลงบนสินค้า เพื่อแสดงรายละเอียดและเป็นประโยชน์ต่อผู้ซื้อและผู้ใช้ รวมถึงได้ทราบถึงข้อเท็จจริงที่มีต่อตัวผลิตภัณฑ์ดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ ให้ทำการติดฉลากกำกับ “อันตรายหากของเหลวรั่วไหล” โดยในส่วนที่เป็นคำเตือน ต้องใช้สีที่แตกต่างจากตัวผลิตภัณฑ์ และต้องมีขนาดตัวอักษรที่ใหญ่กว่าตัวอักษรอื่น

ถือว่าประกาศฉบับดังกล่าวที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น มีความสำคัญต่อตัวผู้ใช้งาน และผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่ได้รับความคุ้มครองจากกรณีที่สารเคมีในเคสฟรุ้งฟริ้งนั้นรั่วไหลออกมา หลังจากนี้ ผู้ผลิตเคสตามท้องตลาดต้องปรับตัวในเรื่องดังกล่าว ทั้งทำหีบห่อใหม่ และทำคำเตือนให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้น

เห็นสวย ใส และฟรุ้งฟริ้งแบบนี้ แต่มีสารเคมีอยู่ภายในนะจ๊ะ

ถึงแม้ว่าจะมีประกาศออกมา แต่นั่นเป็นแค่เพียงประกาศที่มีผลต่อผู้ผลิต และผู้ประกอบการที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ในส่วของผู้ใช้งาน ต้องระวังในการใช้งานให้มากขึ้นกว่าเดิม วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ ห้ามทำตก ห้ามกระแทก ห้ามทับ และห้ามทำให้เกิดการรั่วไหล เพราะไม่ใช่แค่ร่างกายของคุณที่จะได้รับบาดเจ็บจากสารเคมีดังกล่าวแล้วนั้น อุปกรณ์ที่คุณสวมใส่เคสฟรุ้งฟริ้งนี้ อาจจะเสียหายถึงขั้นใช้งานไม่ได้เลยก็เป็นได้

ที่มา: ราชกิจจานุเบกษา