หลังจากเลื่อนกันมาแล้วหลายครั้ง ในวันนี้ 1 มิถุนายน 2565 นี้ บ้านเราก็จะบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA (Personal Data Protection Act) กันแล้ว แต่! ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไม่เคลียร์ วันนี้เราแบไต๋ 4 เรื่องที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับกฎหมาย PDPA โดย ‘อาจารย์ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ’ นักวิชาการด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาช่วยอธิบายให้ความเข้าใจชัดเจนไปพร้อมๆกัน

4 เรื่อง ที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับกฎหมาย PDPA

1. ถ่ายรูป-ถ่ายคลิป ติดภาพของคนอื่น โดยเจ้าตัวไม่ยินยอม ผิดกฎหมาย PDPA ไหม?

ตอบ: การถ่ายติดเฉย ๆ ไม่ผิดครับ แต่จะผิดหรือไม่ต้องดูที่วัตถุประสงค์ของการนำภาพไปใช้ ว่าเป็นการใช้ส่วนตัว หรือเป็นการใช้แสวงหาผลกำไร ทำให้ผู้ที่ถูกถ่ายติดเสียหายหรือไม่

2. ถ้านำรูป-คลิปที่ติดภาพของคนอื่นไปโพสต์ในโซเชียลมีเดียส่วนตัว โดยเจ้าตัวไม่ยินยอม ผิดกฎหมาย PDPA ไหม?

ตอบ: ในกรณีที่ใช้ส่วนตัว แค่ถ่ายติดคนอื่นบ้าง แต่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ที่ถูกถ่าย ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะมีความผิดอะไร แต่ถ้าในกรณีที่ถ่ายติดคนอื่น แล้วเอารูปนั้นมาดิสเครดิตคนที่ถูกถ่ายติด ทำให้ได้รับความเสียหาย หรือเอามาแสวงหาผลกำไร ก็ไม่ใช่การใช้ส่วนตัวแล้ว วัตถุประสงค์มันเปลี่ยน แบบนี้มีความผิด

3. กล้องวงจรปิด แล้วไม่ติดป้ายเตือน ผิดกฎหมาย PDPA ไหม?

ตอบ: ถ้ากล้องอยู่ในบ้าน จะเป็นข้อยกเว้นส่วนตัวในเรื่องที่พักอาศัย ไม่ต้องติดป้ายบอกว่ามีกล้องอยู่ตรงไหน เพราะใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ถ้าเป็นอาคาร สำนักงาน ที่สาธารณะ ซึ่งกล้องจะบันทึกกิจกรรมทุกอย่างที่เราทำ ก็ต้องติดป้ายไว้ว่ามีกล้องอยู่ ถ้าคนที่ไปทำกิจกกรรมอะไรในบริเวณที่มีป้ายติดกล้องก็ถือว่ายินยอมว่ากิจกกรรมนั้นจะถูกบันทึก เป็นคนละกรณีกันกับที่พักอาศัย แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นสำหรับสถานที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ เช่นบริเวณหวงห้าม ค่ายทหาร ก็ไม่ต้องติดป้าย

4. เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องให้ความยินยอมทุกครั้งก่อนนำข้อมูลไปใช้ ถูกต้องหรือไม่?

ตอบ: อย่างที่ว่าในกรณีของการติดกล้องที่มีป้ายเตือน เช่นในงานคอนเสิร์ต สถานที่สาธารณะต่างๆ การเข้าไปทำกิจกรรมในบริเวณนั้นก็เป็นการแสดงความยินยอมว่าเราถูกบันทึก แต่เราสามารถไปแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ว่าไม่ต้องการถูกบันทึก ให้เขาไม่เก็บรูปเราไว้ แต่ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นไปเซ็นเอกสารยินยอมอะไรขนาดนั้น ก็แจ้งเป็นรายบุคคลไป ส่วนการถ่ายรูป-คลิป ติดภาพของคนอื่นก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การนำไปใช้อย่างที่กล่าวข้างต้

สรุป

สรุปแล้วกฎหมายนี้ไม่ได้ทำมาเพื่อให้ประชาชนลำบาก แต่ทำมาเพื่อคุ้มครองประชาชนในสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล และเพิ่มภาระให้องค์กรในการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น และคุ้มครองประชาชนจากบุคคลไม่ประสงค์ดีที่อาจนำข้อมูลเราไปใช้ในทางที่ที่ให้เกิดความเสียหายได้

ทั้งนี้ทางอาจารย์ไพบูลย์ ได้ฝากสรุปสั้น ๆ 2 ข้อ ในการพิจารณาว่ารูปเราจะมีความผิดหรือไม่ ดังนี้

  1. เรานำรูปหรือข้อมูลส่วนบุคคลนี้ไปใช้แสวงหาผลกำไร หรือทำให้เขาเสียหายหรือไม่?
  2. การถ่ายรูป ติดกล้อง อะไรต่างๆ ทำให้เกิดความเสียหายอะไรกับเขามั้ย?

ช่องทางสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม:
เว็บไซต์สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
Facebook: PDPC Thailand

พิสูจน์อ้กษร : สุชยา เกษจำรัส