ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าการถ่ายภาพ และวิดีโอบนกล้องสมาร์ตโฟนในปัจจุบันถูกพัฒนาไปมากแล้วครับ ทั้งกล้องที่มีหลายตัว, เลนส์ซูม Periscope ที่ใช้หลักการซูมเลนส์จริง ๆ ไม่ใช่ซอฟต์แวร์ช่วย หรือจะพลังประมวลผลอันทรงพลัง และแอปให้มีให้เลือกกันอย่างมากมายอีก

บทความนี้เรามาดูความคิดเห็นของทางผู้ผลิตกันบ้างครับ ว่าคิดอย่างไรกับอนาคตการถ่ายภาพด้วยสมาร์ตโฟน กับบทสัมภาษณ์ระหว่างเว็บไซต์ android authority กับคุณ จัดด์ ฮีป (Judd Heape) รองประธานฝ่ายการจัดการผลิตภัณฑ์กล้องของบริษัท Qualcomm

AI จะกลายมาเป็นพื้นฐานสำคัญในอนาคต?

smartphone

การถ่ายภาพด้วยสมาร์ตโฟนได้นำเอาเทคโนโลยี AI หรือ machine learning มาใช้หลายปีแล้วครับ ในกระบวนการตั้งแต่ noise reduction, object/shadow/reflection removal และอื่น ๆ อีกมากมาย และนี่จะเป็นจุดสำคัญที่เหล่าแบรนด์ผู้ผลิตสมาร์ตโฟน และผู้ผลิตชิปจะต้องเน้นพัฒนาในจุดนี้

ฮีปกล่าวว่า AI มีอยู่ด้วยกัน 4 ระยะครับ

  • ระยะที่ 1 คือความสามารถเข้าใจวัตถุหรือฉากที่อยู่ในภาพได้
  • ต่อมาระยะที่ 2 เรียกว่า ‘3A’ ประกอบไปด้วย autofocus, auto-white balance และ auto-exposure
  • ในปัจจุบันเรากำลังอยู่ในระยะที่ 3 ที่ AI สามารถตรวจจับ และเข้าใจวัตถุหรือองค์ประกอบต่าง ๆ ในภาพได้มากขึ้น เช่น ระบบตรวจสอบใบหน้า/ดวงตา เป็นต้น

แต่สิ่งที่จะมาเปลี่ยนเกมครั้งนี้จริง ๆ อยู่ระยะที่ 4 ครับ ซึ่งยังห่างจากเทคโนโลยีในตอนนี้ไปอีก 3-5 ปี ซึ่งระยะสุดท้ายนี้ให้ลองจินตนาการว่าอยากได้ภาพที่เหมือนในฉากของ National Geographic แล้ว AI จัดให้เองทั้งโทนสี การปรับตั้งค่าต่าง ๆ ดูสิครับ ทั้งง่ายทั้งสะดวก และนี่คืออนาคตของระบบ AI บนกล้องสมาร์ตโฟนที่แท้จริง

เป็นไปได้ไหมที่สมาร์ตโฟนจะสามารถก้าวข้าม DSLR?

smartphone

Sony เคยออกมากล่าวไว้ว่าในอนาคตไม่กี่ปีข้างหน้าสมาร์ตโฟนจะสามารถก้าวข้าม DSLR ได้ ในขนาดที่เล็กพกพาง่ายกว่า ชิปประมวลผลสุดแรงที่รันคำสั่งได้เป็นล้านคำสั่ง ได้ภาพออกมาสวยเลยโดยไม่ต้องนำไป process ต่อในโปรแกรมให้ยุ่งยาก เพราะตัว AI คำนวน และให้ภาพที่ดีที่สุดแก่เราอยู่แล้ว

ฮีปให้ความเห็นว่าชิปประมวลผลอย่าง Snapdragon ทรงพลังกว่าที่ใช้ในกล้องแบรนด์ Nikon และ Canon ถึง 10 เท่า และนี่เป็นสาเหตุที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของภาพให้สูงขึ้นได้แม้จะมีเลนส์ และเซนเซอร์รับภาพที่เล็กกว่าหลายเท่าก็ตาม ไม่ว่าจะฟีเจอร์ 960fps slow-motion, 8K HDR หรือ 4K HDR แบบพร้อม 3 กล้องก็มีมาแล้ว

เขายังคิดว่านวัตกรรมของเซนเซอร์รับภาพบนสมาร์ตโฟนจะมีการพัฒนาที่เร็วกว่า และก้าวหน้ากว่าที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอื่น ๆ (ขายได้เยอะก็มีทุนพัฒนาเยอะ ผิดกับกล้องในปัจจุบันที่กลายเป็นของเฉพาะกลุ่มเฉพาะทางไปแล้ว)

ความละเอียดกับขนาดเซนเซอร์อย่างไหนสำคัญกว่า?

smartphone

ในตอนนี้สมาร์ตโฟนมาถึงจุดที่ใช้เซนเซอร์ขนาดเทียบเท่า 1 นิ้ว ที่เห็นใน Sharp Aquos R6, Xperia Pro-I และ Xiaomi 12 Ultra ซึ่งถือว่าใหญ่เทียบเท่ากล้อง compact hi-end ของหลาย ๆ แบรนด์กล้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แต่อีกสิ่งที่อยู่คู่การแข่งขันในวงการสมาร์ตโฟนคงหนีไม่พ้นความละเอียด ไม่กี่ปีก่อนกล้อง 48 ล้านพิกเซลอาจจะถือว่าละเอียดมากแล้ว แต่ล่าสุดก็มีไปแตะกันถึง 108 ล้านพิกเซลเป็นที่เรียบร้อย ไหนจะมีข่าวลือว่า Samsung จะออกกล้อง 200 ล้านพิกเซลมาใน Galaxy S23 Ultra ในปีหน้าอีก

ด้านคู่แข่งของ Qualcomm อย่าง Mediatek ก็ได้ออกมารองรับกล้องความละเอียด 320 ล้านพิกเซลกับชิปซีรีส์ Dimensity 9000 ซึ่ง Qualcomm เองก็น่าจะพัฒนาให้รองรับความละเอียดระดับนี้ได้ในอนาคตเช่นกันครับ

สำหรับความละเอียดกับขนาดเซนเซอร์อย่างไหนสำคัญกว่า ฮีฟได้ให้ความเห็นว่า ความละเอียดที่ 40-50 ล้านพิกเซลก็น่าจะเพียงพอแล้ว เพราะเราต้องการก้าวข้าม DSLR ถ้าพิกเซลน้อยลงก็จะได้เม็ดพิกเซลที่ใหญ่ขึ้นรับแสงได้ดีขึ้นด้วย แทนที่จะขึ้นไปสูงถึงระดับ 200-300 ล้านพิกเซล แต่ในแง่อุตสาหกรรมก็คงมีแบรนด์ที่พัฒนาต่างกันไปใน 2 ทางนี้

ในเวลาอันใกล้นี้เราน่าจะยังไม่ได้เห็นเซนเซอร์บนสมาร์ตโฟนที่ใหญ่กว่าขนาด 1 นิ้ว แต่ในอนาคตมีใหญ่กว่านี้มาแน่ ๆ ครับ

อนาคตของ Hardware เฉพาะทาง และวิดีโอ

smartphone

ในไม่ช้าจะมีการประกาศใช้ฮาร์ดแวร์สำหรับงานเฉพาะทางที่ใช้ในสมาร์ตโฟนมากขึ้น ยกตัวอย่างฮาร์ดแวร์ที่รู้ว่าต้องทำอย่างไรกับพิเซลในส่วนของสีผิว, เส้นผิว, ท้องฟ้า, ฉากหลัง และอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดจะถูกรวมเอามาใช้ต่อยอดได้ในงานวิดีโอได้ด้วย เช่นเดียวกับฮาร์ดแวร์ตรวจจับความลึกเพื่อสร้างโบเก้ที่ใช้กันก่อนหน้านี้ เพื่อให้ได้ภาพที่สมจริงที่สุด

หลังจากฮาร์ดแวร์เฉพาะทางแล้วเราก็จะเข้าสู่การพัฒนาด้านวิดีโอ ตอนนี้เราอาจถ่าย 8K/30p ได้แล้ว แต่ภายในไม่กี่ปีก็จะขยับขึ้นสู่ 8K/60p ตามความต้องการที่มีสูงขึ้นเรื่อย ๆ ฮีปกล่าวว่าแนวทางในการพัฒนาให้ดีขึ้นเป้าหมายคือการควบคุมวิดีโอไม่ให้เกิด ghosting, การสั่นไหวของ motion และ noise โดยเป็น 3 สิ่งที่ต้องทำงานแบบ real-time สำหรับวิดีโอ 8K/30p ที่เราต้องการ

อย่าคาดหวังกับคุณภาพกล้องซ่อนใต้จอ

smartphone

ฮีปได้ตรวจสอบสมาร์ตโฟน 2-3 รุ่นที่มีกล้องเซลฟีซ่อนใต้จอแสดงผล เช่น ZTE Axon 40 ซึ่งให้ผลชัดเจนว่ายังไม่สามารถเทียบกับกล้องในสมาร์ตโฟนระดับทั่วไปได้ครับ โดยไม่แนะนำให้ซื้อสมาร์ตโฟนที่มีกล้องหน้าในลักษณะนี้เว้นแต่ว่าการเซลฟีจะไม่สำคัญสำหรับคุณ และยังไม่แน่ใจว่ากล้องแบบนี้จะสามารถสู้กล้องเซลฟีในสมาร์ตโฟนระดับ Hi-End ในอนาคตได้หรือไม่

จะมีการตัดกล้อง zoom บนสมาร์ตโฟนออกไปไหม?

smartphone

กล้อง telephoto แบบ fix ระยะมีให้เห็นบนสมาร์ตโฟนตั้งแต่ยุค 2016 หรือกล้องยุคใหม่แบบ optical zoom ก็ยังถูกจำกัดด้วยระยะ 10x เท่านั้น จะมีก็แต่ Sony ที่คิดค้นกล้องที่เปลี่ยนระยะเลนส์ telephoto ได้ใน Xperia 1 IV เลือกได้ 2 ระยะ 85mm และ 125mm ในกล้องตัวเดียว

จากเดิมที่กล้องอาจต้องมีถึง 3 ตัว wide, ultrawide และ telephoto ก็อาจจะมีการลดจำนวนกล้องลงกลายเป็น wide กับ telephoto ในตัวเดียว เหลือกล้องเพียง 2 ตัว เพื่อลดความซับซ้อนในการออกแบบ และลดพลังงานลง

ซึ่งนี่อาจเป็นการพัฒนาที่สำคัญทีเดียวครับสำหรับอุตสาหกรรมสมาร์ตโฟน แต่การออกแบบบให้กล้องเปลี่ยนระยะได้ก็กินพื้นที่ภายในพอ ๆ กับกล้อง periscope ดังนั้นถ้าจะมีแบรนด์ไหนคิดลองทำกล้องหลัก + tele แล้วเพิ่มด้วย periscope ระยะไกลอีกตัวก็จะต้องเผชิญกับความท้าทายอันนี้ด้วย

อ้างอิง – Android Authority

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส