ช่างภาพสายข่าวนับเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงทีเดียวครับในการลงพื้นที่ในแต่ละครั้ง โดยเฉพาะสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยช่วงเวลาสุดท้ายของช่างภาพข่าวชาวญี่ปุ่นที่เคยเป็นถึงภาพชนะรางวัล Pulitzer Prize ได้ถูกเผยออกมาแล้ว หลังจากกล้องของเขาสูญหายไปนานกว่า 16 ปี

เคนจิ นากาอิ (Kenji Nagai)
ภาพของ เคนจิ นากาอิ (Kenji Nagai) จาก Wikipedia

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2007 เคนจิ นากาอิ (Kenji Nagai) ช่างภาพข่าวชาวญี่ปุ่นผู้มากประสบการณ์ ได้เข้าไปถ่ายภาพการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารในเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า (เมียนมา) ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของการปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์ (Saffron Revolution) และในครั้งนี้ก็ได้พรากชีวิตของนากาอิไปจากเหตุการณ์เปิดฉากยิงของกองกำลังทหารใส่เหล่าผู้ประท้วง

ในจังหวะหลังโดนยิง แม้เขาจะนอนบาดเจ็บอยู่บนพื้น นากาอิกลับกลิ้งตัวไปมา และพยายามถ่ายภาพเหตุการณ์ต่อไปครับ เหตุการณ์นี้ได้ถูกจับภาพโดยช่างภาพจาก Reuters และกลายเป็นภาพที่ชนะรางวัล Pulitzer Prize ในเวลาต่อมา  

ในภาพนากาอิที่ถูกยิงจนล้มลงยังคงถือกล้องในมือไว้แน่น พร้อมกับภาพของเหล่าผู้ประท้วงที่ต่างพากันหลบหนีด้วยความหวาดกลัว นับว่าเป็นช่วงเวลาสุดท้ายที่คนทั่วโลกได้เห็นก่อนเขาจะสิ้นใจ อย่างไรก็ตามกล้องตัวที่เขาถือไว้กลับหายไปพร้อม ๆ กับภาพฟุตเทจสุดท้ายที่เขาบันทึกไว้

กล้องที่กลับมาหลังหายไป 16 ปี

แต่เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2023 ที่ผ่านมา กล้องตัวดังกล่าวก็ได้เดินทางกลับมาถึงครอบครัวของนากาอิแล้วครับ เผยให้เห็นช่วงเวลาสุดท้ายของเขาหลังจากเวลาผ่านมาถึง 16 ปี

ในวิดีโอของนากาอิที่ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะเป็นครั้งแรก เผยให้เห็นวินาทีรถบรรทุกที่เต็มไปด้วยกองกำลังทหารได้ปรากฏขึ้นที่เจดีย์ซู่เล นากาอิได้พูดกับกล้องว่า “ในตอนนี้กองทัพเพิ่งจะเดินทางถึงพร้อมติดอาวุธหนัก แต่ผู้ประท้วงจำนวนมากก็ยังคงรวมตัวปักหลักกันอยู่ที่หน้าเจดีย์” และนี่ก็เป็นคำพูดสุดท้ายของนากาอิก่อนที่เหตุการณ์จะเริ่มเข้าสู่ความวุ่นวาย และวิดีโอก็ได้หยุดลงไป

ทางน้องสาวของนากาอิ โนริโกะ (Noriko) ได้ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่า “ฉันไม่คิดว่าเขาเป็นวีรบุรุษแม้ว่าเขาจะเสียชีวิตแล้วก็ตาม แต่ฉันอยากให้ผู้คนได้จดจำเขาในฐานะนักข่าวที่ต่อสู้เพื่อความจริงต่อไปค่ะ”

ในฐานะช่างภาพข่าว นากาอิได้รับมอบหมายงานมากมายในเขตความขัดแย้ง และพื้นที่อันตรายทั่วโลก งานสุดท้ายเขาได้รับมอบหมายจาก AFP News ให้เข้ามาทำข่าวการประท้วงในพม่าปี 2007

ที่มา: PetaPixel

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส