เอโค่ เผย…รับเงินทุนสนับสนุนระดับซีรีส์บีกว่า 660 ล้านบาท หรือประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากนักลงทุนชั้นนำระดับโลก นำโดย SMDV จากอินโดนีเซีย และนักลงทุนชั้นนำอื่น อาทิ RedBeat Ventures หน่วยงานลงทุนด้านดิจิทัลของแอร์เอเชีย เพื่อขยายธุรกิจสู่ตลาดยุโรปและอเมริกา

คุณกรวัฒน์ เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอโค่

เอโค่ สตาร์ทอัพที่มีฐานธุรกิจใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และลอนดอนประเทศอังกฤษ เป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มที่อำนวยความสะดวกด้านการติดต่อสื่อสารและการจัดการบริหารงานภายในองค์กรอย่างครบถ้วนในที่เดียว ด้วยการพัฒนาช่องทางที่มีความปลอดภัย มีฟังก์ชันที่ใช้งานง่ายและจำเป็นสำหรับองค์กร ทั้งการติดต่อสื่อสารแบบเรียลไทม์ การจัดการขั้นตอนและกระบวนการในการทำงาน (Workflow), การจัดการบริหารโครงการ, การจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management) พร้อม API (Application Programming Interface) ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบไอทีเดิมขององค์กร และบอท (Bots) อื่น ๆ ได้

ล่าสุด เอโค่ ได้รับเงินทุนสนับสนุนระดับซีรีส์บี เป็นจำนวนกว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 660 ล้านบาท จากนักลงทุนชั้นนำทั่วโลก นำโดย SMD Ventures (SMDV) ร่วมด้วย RedBeat Ventures หน่วยงานลงทุนด้านดิจิทัลของแอร์เอเชีย โกบี พาร์ทเนอร์ (Gobi Partners) อีสท์เวนเจอร์ส (East Ventures) และกลุ่มนักลงทุนเดิม โดยการระดมทุนครั้งนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับบริษัทสามารถขยายธุรกิจสู่ตลาดยุโรปและอเมริกาได้อย่างเต็มตัว

  • สำหรับผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา เอโค่มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าสามเท่า และมีผู้ใช้งานมากกว่า 500,000 ราย จากหลากหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีก โรงแรม ธนาคาร หรือธุรกิจบริการอื่นๆ ปัจจุบัน แพลตฟอร์มของเอโค่มีผู้ใช้บริการหลายร้อยบริษัท ตั้งแต่บริษัทขนาดกลาง ขนาดย่อม จนถึงบริษัทชั้นนำในประเทศไทย

เอโค่ ถูกออกแบบมาให้คล้ายกับ Chat แอปพลิเคชัน ที่ใช้กันทั่วไป โดยสิ่งสำคัญที่คำนึงถึงมากที่สุด คือความปลอดภัยในการพูดคุยผ่านระบบเอโค่ และพนักงานทุกคนจะสามารถเข้าใจและใช้เทคโนโลยีนี้ได้แบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน นอกจากนี้โครงสร้างราคาก็ถูกคำนึงให้มีความคุ้มทุนมากที่สุดสำหรับบริษัทที่มีพนักงานเป็นพันคน

เอโค่ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มที่ช่วยด้านการสื่อสารและการจัดการให้กับองค์กรผ่านทางโมบายเป็นหลัก เนื่องจากพนักงานภายในองค์กร มีแนวโน้มในการสื่อสารและทำงานผ่านกรุ๊ปแชทมากขึ้น โดยใช้แอปพลิเคชันที่มีอยู่ทั่วไปในตลาด จึงเกิดประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ ปัญหาเรื่องระบบรักษาความปลอดภัย การรักษาความลับของข้อมูล และร่างกฎหมายให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภค หรือ General Data Protection Regulation (GDPR)