ธนาคารกสิกรไทย เปิดตัวแคมเปญ “สติ” เตือนคนไทย ใช้สติป้องกันภัยกลโกงออนไลน์ที่เกิดขึ้นสูง พร้อมพัฒนาระบบการปฏิบัติงาน เทคโนโลยี บุคลากร และร่วมมือข้ามธนาคาร เสริมความแข็งแกร่งรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ ควบคู่กับการให้ความรู้แก่ลูกค้า เพื่อใช้บริการการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างปลอดภัย

ปี 61 มีการแจ้งความกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีคดีที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ 973 คดี เสียหายกว่า 500 ล้านบาท ในยุคที่โลกเชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยีและระบบคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ ยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงของภัยไซเบอร์ (Cyber Threat) โดยมิจฉาชีพหรือแฮกเกอร์ มีวิธีการหลอกลวงหลายรูปแบบและซับซ้อนมากขึ้น ทั้งการโจรกรรมข้อมูล หลอกลวงหรือการยักยอกเงิน โดยในรายงานความเสี่ยงระดับโลกประจำปี 2019 (Global Risks Report) ของสภาเศรษฐกิจโลก ระบุว่าการโจมตีทางไซเบอร์ขนาดใหญ่ (Large Scale Cyber Attack) ถือเป็น 1 ใน 10 ความเสี่ยงที่สำคัญระดับโลก และเป็นความเสี่ยงสำคัญของระบบการเงินของโลกและไทย  นอกจากนี้ ปัจจุบันประชาชนนิยมใช้งานสื่อโซเชียลในการติดต่อสื่อสาร ทำธุรกรรมทางการเงิน โอนเงินชำระค่าสินค้าหรือซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งมิจฉาชีพเองก็อาศัยช่องทางเหล่านี้ในการหลอกลวงหรือฉ้อโกงเงินมากขึ้นตามไปด้วย

ธนาคารกสิกรไทย ตระหนักถึงภัยไซเบอร์ จึงได้พัฒนาทั้งด้านระบบการปฏิบัติงาน เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ตลอดจนศักยภาพของบุคลากร เพื่อรองรับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งรวมถึงการป้องกัน การติดตามตรวจจับ การรับมือ และการเยียวยาฟื้นฟู เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการของธนาคาร นอกจากนี้ยังได้ให้ความสำคัญกับการให้ความรู้แก่ลูกค้าถึงวิธีการใช้บริการการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างปลอดภัยด้วย”

แคมเปญ “สติ” จะรณรงค์ให้คนไทยมีสติ ไม่ตื่นตระหนกเมื่อเจอเหตุการณ์ที่อาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพในโลกออนไลน์ ผ่านแฮชแท็กที่จำได้ง่าย ๆ คือ ใช้สติป้องกันสตางค์ โดยมุ่งเน้น 3 ภัยไซเบอร์ที่มีประชาชนตกเป็นเหยื่อบ่อยครั้ง ได้แก่

  1. ฟิชชิ่ง (Phishing) เทคนิคหลอกลวงทางอีเมล SMS หรือหน้าเว็บไซต์ปลอม โดยสร้างสถานการณ์ให้ลูกค้าที่ตกเป็นเหยื่อเกิดความตื่นตระหนก หรือเข้าใจผิดว่าได้รับผลประโยชน์บางอย่าง จนนำไปสู่การกดลิงก์เพื่อหลอกให้กรอกข้อมูลสำคัญ หรือเปิดไฟล์แนบที่มีโปรแกรมประสงค์ร้ายและนำไปสู่ความเสียหายต่าง ๆ กับเหยื่อ เช่น นำชื่อบัญชีและรหัสผ่านไปเข้าระบบออนไลน์ แบงกิ้งและโอนเงินออกจากบัญชี หรือใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของเหยื่อเพื่อสวมตัวตนสมัครใช้บริการทางการเงิน
  2. การหลอกลวงทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยมิจฉาชีพจะแอบอ้าง หรือสวมตัวตนเป็นเหยื่อ แล้วไปทำทุจริต หรือหลอกลวงบุคคลอื่นจนทำให้เกิดความเสียหาย โดยเหยื่อที่ถูกหลอกลวงอาจจะสูญเงินในบัญชี และบุคคลที่ถูกสวมตัวตนอาจตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิด ซึ่งอาจถูกลงโทษทางกฎหมายได้
  3. แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นขบวนการหลอกเหยื่อทางโทรศัพท์โดยสร้างสถานการณ์ให้เหยื่อเกิดความตื่นตระหนก หรือเข้าใจผิดว่าได้รับผลประโยชน์บางอย่าง หากเหยื่อหลงเชื่อและทำตามที่มิจฉาชีพบอก อาจเกิดความเสียหายถึงขั้นถูกหลอกให้โอนเงินจนหมดบัญชี หรือถูกหลอกให้บอกข้อมูลของบัตรเครดิต เพื่อนำไปซื้อสินค้าออนไลน์ จนทำให้เจ้าของบัตรเครดิตเป็นหนี้โดยไม่รู้ตัว

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

ภัยไซเบอร์ ถือเป็นภัยใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยมากยิ่งขึ้น ในปี 2561 ประเทศไทยพบคดีที่เกี่ยวกับการกระทำผิด ซึ่งมีระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ จำนวน 973 คดี คิดเป็นร้อยละ 35 ของคดี ที่มีการแจ้งความทั้งหมดกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) มีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 500 ล้านบาท

  • ตั้งแต่การหลอกขายสินค้า
  • หลอกโอนเงินผ่านอีเมล
  • หลอกโอนเงินผ่านโทรศัพท์
  • ปลอมเป็นบุคคลอื่นเพื่อหลอกโอนเงิน

ด้วยวิถีชีวิตที่มีเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่ง ทำให้มิจฉาชีพใช้กลโกงหาช่องทางและสร้างสถานการณ์ต่าง ๆ ทำให้คนหลงเชื่อ และคิดว่าตนเองจะได้รับผลประโยชน์มากมายได้โดยง่าย การที่ #ใช้สติป้องกันสตางค์ จึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการป้องกันกลโกงจากภัยไซเบอร์ที่จำเป็นสำหรับทุกคน ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยจะมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร สาระความรู้ด้านการใช้บริการทางการเงินบนโลกออนไลน์อย่างปลอดภัยอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแก่คนไทยผู้ใช้งาน