เทสโก้ อังกฤษ โล่ง ปิดดีลประวัติศาสตร์ ขายกิจการในไทยและมาเลเซียสำเร็จ หลุดบ่วงวิกฤติเศรษฐกิจ พร้อมปักหลักธุรกิจในยุโรปเท่านั้น มั่นใจความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ระดับโลกของซีพีจะนำพาธุรกิจเติบโตก้าวหน้า พร้อมยกระดับคู่ค้าเติบโตไปพร้อมกันในระดับภูมิภาค

นอกจากนี้พนักงาน และคู่ค้าในไทย และมาเลเซีย ชื่นมื่นหลังทราบข่าวดี เพราะถือเป็นการรักษาความมั่นคงทางอาชีพในช่วงวิกฤต และในส่วนคู่ค้ายังถือเป็นการเปิดตลาดใหม่ให้ SME สามารถนำสินค้าไปขายในต่างประเทศ ซึ่งต้องอาศัยบริษัทขนาดใหญ่ไปช่วยเปิดตลาดในภูมิภาค และ เชื่อมั่นว่า ศักยภาพผู้ประกอบการเล็ก กลาง ใหญ่ของไทย สามารถแข่งขันได้ในระดับภูมิภาค

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน สหราชอาณาจักร ระบุว่า TESCO UK ได้แจ้งว่า บริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้เห็นชอบเงื่อนไขการซื้อขายเทสโก้สโตร์ในไทยและมาเลเซียแล้ว โดยจะแจ้งข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้งเมื่อธุรกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายได้เสร็จสิ้นในวันที่ 18 ธันวาคมนี้

มร. Ken Murphy ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TESCO UK กล่าวว่า กระบวนการขายธุรกิจจะเสร็จสมบูรณ์ในเร็ว ๆ นี้ ขอขอบคุณเพื่อนพนักงานในไทยและมาเลเซียที่ได้ทำหน้าที่ในเอเชียอย่างยอดเยี่ยมมานานกว่า 20 ปี ได้สร้างธุรกิจที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาที่ประสบวิกฤติโควิด-19 และมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่ากิจการ TESCO ภายใต้เจ้าของธุรกิจใหม่จะเติบโตก้าวหน้า เนื่องจากเครือซีพีเป็นธุรกิจชั้นนำในไทย มีประสบการณ์ในตลาดทั่วภูมิภาคเอเชีย และยังมีความเชี่ยวชาญรวมถึงประสบการณ์ในธุรกิจค้าปลีก สิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งความสำเร็จในอนาคต

“การขายธุรกิจในเอเชีย จะทำให้สามารถโฟกัสกับธุรกิจและบริการลูกค้าในทวีปยุโรป และจะทำให้กลุ่มเทสโก้สามารถปันผลให้กับผู้ถือหุ้นและเติมเงินจำนวน 2,500 ล้านปอนด์เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนเกษียณอายุพนักงานได้” ซีอีโอ TESCO UK ระบุถ้อยแถลงนี้ในเอกสารที่สื่อสารถึงพนักงาน TESCO UK

ซีอีโอของ TESCO UK คงโล่งอก หลังจากที่TESCO UK ต้องตกอยู่สถานการณ์คาราคาซังมานานเกือบ 9 เดือน เนื่องจากต้องรอการพิจารณาจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. อนุญาตเรื่องควบรวมกิจการของซีพีกับเทสโก้โลตัสในไทยหลังจากที่ TESCO UK ได้เคาะโต๊ะเลือกซีพีผู้ลงทุนรายใหญ่จากประเทศไทยให้เป็นเจ้าของเทสโก้โลตัสในไทยและมาเลเซียชนะผู้ลงทุนอีก 2 รายใหญ่จากไทยเช่นกัน คือ เซ็นทรัล และไทยเบฟ ซึ่งส่งผลให้การดำเนินกิจการในประเทศไทยไม่สะดุด

พนักงานทุกคนยังคงมีงานที่มั่นคง และ คู่ค้ายังคงมีเงื่อนไขทางการค้าแบบเดิม มีความมั่นใจในความต่อเนื่องของธุรกิจไปแม้นในภาวะโควิด-19 ก็ตาม นอกจากนี้กลุ่มซีพียังเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนที่ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ (Dow Jones Sustainability Index : DJSI)

สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานว่า บริษัทเทสโก้ในอังกฤษ มีแผนจะนำเงิน 6,600 ล้านดอลลาร์ (1.98 แสนล้าน)ที่ได้จากการขายกิจการให้ซีพีคืนให้แก่บรรดาผู้ถือหุ้นเทสโก้ และส่วนที่เหลือจะนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจธุรกิจค้าปลีกที่มุ่งเน้นเฉพาะตลาดอังกฤษและในยุโรปเท่านั้น แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 และมาประสบกับอุปสรรคในไทยที่การซื้อขายนี้จะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค.

ทำให้ TESCO UK หวาดหวั่นอยู่ไม่น้อย ทันทีที่คณะกรรมการ กขค.จากไทยมีมติให้ควบรวมกิจการได้ TESCO UK จึงเหมือนยกภูเขา ออกจากอก รอเพียงแต่ให้ทางเครือซีพีพิจารณาเงื่อนไข 7 ข้อที่กำหนดไว้ในมติ กขค. ซึ่งมาถึงวันนี้เป็นที่ทราบอย่างไม่เป็นทางการว่าซีพีได้เห็นชอบการซื้อขาย TESCO UK จึงถือได้ว่าเป็นข่าวดีทั้งกับผู้ถือหุ้นของเทสโก้อังกฤษที่ได้ร่บเงินปันผล และพนักงานที่จะได้รับประโยชน์ อีกกว่า 2,500 ล้านปอนด์เข้าสู่กองทุนบำนาญของบริษัท

TESCO UK เป็นเจ้าของกิจการค้าปลีกรายใหญ่ของสหราชอาณาจักร ค้าปลีกใหญ่อันดับสองของโลก มีกิจการค้าปลีกภายใต้ชื่อ TESCO กระจายอยู่ทั่วโลก ทั้งนี้ TESCO ประสบวิกฤติมาตั้งแต่ปี2557 ผลประกอบตกต่ำ กำไรหดหาย เนื่องจากคู่แข่งทำต้นทุนได้ถูกกว่า จนต้องทยอยปิดสาขาที่กระจายอยู่ทั่วโลก และต่อมาเพื่อผู้บริโภคมีพฤติกรรมซื้อขายออนไลน์มากขึ้น TESCO UK ก็ยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้น

ยอดขายล่าสุดของ TESCO ทั่วโลก สิ้นสุด ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2563 อยู่ที่ 56.5 พันล้านปอนด์ ( £56.5 bn) มีสาขากระจายอยู่ทั่วโลกประมาณ 6,707 แห่ง มีพนักงานกว่า 450,000 คน

ปี 2010 ขายกิจการในฝรั่งเศส ปี 2013 ขายกิจการในจีน ญี่ปุ่น และ สหรัฐอเมริกา ปี 2015 ขายกิจการในเกาหลีใต้ ปี 2016 ขายกิจการในตรุกี ปี 2020 ขายกิจการในโปแลนด์ ไทย และมาเลเซีย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส