หลายคนอาจจะคิดว่าการใช้บริการห้องน้ำสาธารณะแล้วจบธุระด้วยการใช้เครื่องเป่าลมร้อนใส่มือเป็นกิจกรรมที่น่าจะถูกสุขลักษณะอนามัย แต่เจ้าเครื่องเป่ามือเนี่ย ได้สร้างข้อสงสัยให้กับเหล่านักวิทยาศาสตร์ว่า แท้จริงแล้วมันน่าจะเป็นตัวการแพร่กระจายเชื้อแบคทีเรียเสียมากกว่าการชำระล้างสิ่งสกปรกที่เราเข้าใจกันมาตลอดเสียอีก

ผลการทดลองหาข้อเท็จจริงจากนักวิทยาศาสตร์

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้า โรงแรม และอาคารสำนักงานทั่วไป จะมีการติดตั้งเครื่องเป่ามือนี้กันในห้องน้ำแทบทุกแห่ง เพราะความสะดวก เป็นที่นิยม และได้ภาพลักษณ์ว่าเป็นมิตรแก่สิ่งแวดล้อมในการช่วยลดความสิ้นเปลืองจากการใช้กระดาษชำระ หลังจากที่เราเข้าห้องน้ำทำธุระส่วนตัวเสร็จ ก็จะล้างมือ แล้วก็ยื่นมาใต้เครื่องนี้ เซนเซอร์ของเครื่องก็จะเป่าลมร้อนออกมาด้วยความแรงพร้อมกับเสียงจากพัดลมดัง…..ซู่ เราก็จะเดินออกจากห้องน้ำด้วยความสบายใจและมั่นใจว่าฉันทำการชำระล้างมือด้วยความสะอาดปลอดภัยสุด ๆ แต่ผลการพิสูจน์กลับตรงกันข้ามจากที่เราเชื่อถือกันมาตลอด ผลการทดลองจากนักวิทยาศาสตร์หลายท่าน ยืนยันว่าแท้จริงแล้ว เจ้าเครื่องเป่ามือ นี้แหละคือตัวการแพร่กระจายเชื้อโรคอย่างดีเลยล่ะ

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอนเน็กติคัต และมหาวิทยาลัยควินนิพิแอก ได้ร่วมทำการทดลองหาข้อเท็จจริงนี้ พวกเขาเอาจานเพาะเชื้อไปวางไว้ในห้องน้ำชายและหญิง 36 ห้อง จานส่วนหนึ่งวางไว้ในห้องน้ำที่ไม่เปิดเครื่องเป่ามือนาน 2 นาที จานอีกส่วนหนึ่งวางไว้ในห้องน้ำ ห่างจากเครื่องเป่ามือ 1 ฟุต เพียงแค่ 30 วินาที แล้วก็เอาจานทั้งหมดนั้นกลับมาอ่านค่าในห้องแล็บ

จานเพาะเชื้อจากห้องน้ำที่ปิดเครื่องเป่ามือ พบว่า เฉลี่ยแล้วมีแบคทีเรีย 0 ถึง 1 ตัวบนจานเพาะเชื้อ เมื่อปล่อยจานเพาะเชื้อทิ้งไว้ 18 ชั่วโมงเพื่อรอให้แบคทีเรียขยายตัว พบว่า แบคทีเรียขยายตัวเป็นกลุ่ม เฉลี่ย 6 กลุ่มต่อจาน
จานเพาะเชื้อจากห้องน้ำที่เปิดเครื่องเป่ามือ พบว่า เฉลี่ยแล้วมีแบคทีเรีย 18 ถง 60 ตัวบนจานเพาะเชื้อ เมื่อปล่อยจานเพาะเชื้อทิ้งไว้ 18 ชั่วโมงเพื่อรอให้แบคทีเรียขยายตัว แบคทีเรียขยายตัวเป็นกลุ่มได้สูงถึง 254 กลุ่มต่อจาน

จากผลการทดลองนี้ ได้นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่า ลมที่เป่าจากเครื่องเป่ามือนั้นคือตัวการสำคัญในการแพร่กระจายเชื้อโรค จากสมมติฐานนี้ นักวิทยาศาสตร์เลยทำการขยายผลการทดลองต่อ ด้วยการเอาจานเพาะเชื้อไปวางไว้ในห้องน้ำอีกครั้ง ครั้งนี้เอาพัดลมตัวเล็กไปติดตั้งไว้ในห้องน้ำด้วย ผ่านไป 20 นาที ก็พบว่ามีแบคทีเรียเกิดในจานเพาะเชื้อมากถึง 12 – 15 กลุ่ม ยิ่งเป็นการตอกย้ำได้อย่างชัดเจนว่า ลมที่เป่าออกมาจากเครื่องเป่ามือ นั้นคือตัวการแพร่กระจายเชื้อโรคในห้องน้ำ

ห้องน้ำสาธารณะเต็มไปด้วยเชื้อโรคที่แพร่กระจายในอากาศ

ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำทำความสะอาด จะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี

ทันทีที่เราเดินเข้าห้องน้ำสาธารณะ นั่นเราก็เริ่มเข้าไปในอาณาเขตที่เต็มไปด้วยแบคทีเรียในอากาศแล้ว ส่วนใหญ่มาจากรองเท้า ผิวหนังผู้คน แม้กระทั่งแบคทีเรียจากทางเดินอาหาร แบคทีเรียจากผิวหนังคนจะพบได้มากบนก๊อกน้ำ และ ลูกบิดประตู แบคทีเรียจากรองเท้าจะพบมากบนพื้น และที่ร้ายแรงสุดคือแบคทีเรียจากอุจจาระ จะพบมากบนฝารองนั่ง และก้านหรือปุ่มกดชักโครก

โดยเฉพาะเจ้าแบคทีเรียจากอุจจาระนี่ล่ะ ที่ฟังดูน่ารังเกียจที่สุด เรื่องที่ฟังแล้วน่าอึ้งที่สุดก็คือเรา ๆ เนี่ยล่ะ มีส่วนร่วมในการแพร่กระจายสิ่งสกปรกจากอุจจาระเข้าไปปะปนในอากาศ เหตุเริ่มจากตอนที่เรากดชักโครก กระบวนการในการชำระล้างนั้นจะมีผลให้อณูเล็ก ๆ จากอึจะฟุ้งกระจายไปในอากาศ แรงฟุ้งนี้พุ่งลอยไปได้สูงถึง 4.5 เมตรเลยเชียว แล้วที่เรามองไม่เห็นก็คือแบคทีเรียจากอึก็มาเกาะบนเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ตามร่างกายทุกคนที่เข้ามาในห้องน้ำสาธารณะ และแน่นอนแบคทีเรียอึบางส่วนก็ถูกเครื่องเป่ามือเนี่ยละสูบอากาศเข้าไปหมุนเวียนแล้วก็พ่นมันมาใส่มือทุกคนที่สอดเข้าไปใช้บริการเครื่องนั่นเอง ด้วยหลักการเดียวกันนี้จึงสามารถกล่าวรวมได้ว่า ทุกเครื่องจักรกลไกที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของอากาศภายในห้องน้ำนั้นก็สามารถแพร่กระจายแบคทีเรียได้เช่นกัน

วิธีลดการแพร่กระจายแบคทีเรียจากอึ ก็ง่าย ๆ เพียงแค่ปิดฝาชักโครกเสียก่อนที่จะกดน้ำชำระล้าง ถ้ากลัวไม่หมดก็ค่อย ๆ แง้มดูเอานะ

กระดาษชำระเป็นทางออกที่ดีกว่า

นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการวัดผลในเรื่องนี้แล้ว ด้วยการตรวจสอบหาจำนวนแบคทีเรียตกค้างบนมือ เปรียบเทียบระหว่างมือที่เช็ดทำความสะอาดด้วยกระดาษชำระ และมือที่ผ่านการเป่ามือจากเครื่อง ก็เห็นผลลัพธ์ที่ต่างกันอย่างมาก มือที่ผ่านการเป่าลมร้อนยังมีแบคทีเรียตกค้างบนมือผู้ที่ใช้กระดาษชำระมากกว่าถึง 27 เท่า นักวิทยาศาสตร์ยังทำการค้นคว้าเพิ่มเติมว่าในฐานะที่เครื่องเป่ามือเป็นตัวการแพร่กระจายเชื้่อโรคนี้ แล้วตัวมันเองจะเก็บสะสมแบคทีเรียตกค้างไว้มากเพียงใส จากการเก็บสะสมตัวอย่างจากเครื่องเป่ามือจำนวนมาก พบว่าสิ่งสกปรกตกค้างภายในเครื่องอยู่ในระดับที่ต่ำมากเพราะมันพ่นมาฝากลงบนมือผู้ใช้เสียหมดแล้ว รู้อย่างนี้ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานจากเครื่องเป่ามือไปจะดีกว่า ดีทั้งสุขภาพอนามัยตัวเองที่จะไปหยิบจับอาหาร ดีทั้งสุขภาพส่วนรวมโดยที่เราไม่ได้เป็นผู้เป่าลมเพื่อแพร่กระจายแบคทีเรียไปในอากาศ

ล้างมืออย่างน้อย 15 – 20 วินาที ล้างซอกนิ้วและหลังมือ

ดร.ชาร์ล เกอร์บาร์ นักจุลชีววิทยา แห่งมหาวิทยาลัยอริโซนา เป็นผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับเชื้อโรคมากว่า 30 ปี ก็ยังยืนยันนอนยันว่าการล้างมือด้วยน้ำสะอาดแล้วเช็ดมือด้วยกระดาษชำระเป็นขั้นตอนการทำความสะอาดที่ดีที่สุด “การล้างมือยังคงเป็นมาตรฐานที่สะอาดปลอดภัยที่สุดในการชำระร้างสิ่งสกปรกออกจากมือของเรา แต่ต้องขึ้นอยู่กับวิธีการล้างที่ถูกต้องด้วย ล้างมือควรใช้เวลาอย่างน้อย 15 – 20 วินาที แล้วต้องไม่ลืมทำความสะอาดระหว่างซอกนิ้วด้วย หลังมืออีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม พอมือเราไปจับพื้นผิวต่าง ๆ ตามที่สาธารณะ มือเราก็ปนเปื้อนสิ่งสกปรกอีกอยู่ดี” จากนี้ไปใช้กระดาษชำระเช็ดแห้งมือก็จะปลอดภัยกว่ามาก หรือถ้าอยากช่วยลดภาวะการใช้กระดาษสิ้นเปลืองก็พกผ้าเช็ดหน้าไว้ก็ดีครับ

เราต้องกังวลกับการใช้ห้องน้ำสาธารณะขนาดไหน

อ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจจะวิตกจริตได้ “อ๊ายยย! ฉันสูดอึเข้าไปเท่าไหร่แล้วเนี่ย” อย่าเพิ่งตื่นตูมไป เรายังปลอดภัยกันดี แค่เพียงเตือนให้รู้สาเหตุของการแพร่กระจายแล้วได้ช่วยกันลดมลภาวะนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมมาด้วยว่า แบคทีเรียที่พบได้มากในห้องน้ำระหว่างการวิจัยนี้ ไม่ได้มีปริมาณหรือมีความรุนแรงถึงขั้นที่มีผลต่อสุขภาพของมนุษย์ แต่ทนทางตรงกันข้ามมันกลับมีข้อดีด้วยซ้ำไป แบคทีเรียเล็กน้อยเหล่านี้ ยังช่วยกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายเราแข็งแรงด้วยเช่นกัน ถึงตรงนี้ก็ไม่ต้องไปขยันสูดหายใจในห้องน้ำสาธารณะเพื่อบริหารภูมิคุ้มกันตัวเองหรอกนะ

แต่ก็มีกลุ่มบุคคลที่ควรระมัดระวัง สำหรับกลุ่มบุคคลที่รู้ตัวเองว่าภูมิคุ้มกันค่อนข้างอ่อนแอ หรือใครก็แล้วแต่ที่มีญาติที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรืออยู่ในช่วงพักฟื้นจากอาการป่วยรุนแรง ถ้าเราจะต้องคลุกคลีใกล้ชิดกับพวกเขาก็ควรที่หลีกเลี่ยงการเข้าห้องน้ำสาธารณะที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก เพื่อจะไม่เป็นตัวพาหะนำเชื้อโรคไปใส่เขา

ห้องน้ำที่บ้านไม่น่ากังวลนะจ๊ะ

ถ้าจะระแวดระวังก็เฉพาะกับห้องน้ำสาธารณะที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ไม่ต้องวิตกจริตกังวลมาถึงห้องน้ำในบ้าน ดร.แคธี เบอร์ริส แพทย์โรคผิวหนัง จากศูนย์การแพทย์โคลัมเบีย ออกมาเตือนว่าไม่ต้องเป็นวิตกกังวลกับการใช้ห้องน้ำที่บ้านมากนัก “ถ้าคุณมีการทำความสะอาดห้องน้ำและสุบภัณฑ์อย่างสม่ำเสมอ ก็ไม่ต้องไปวิตกกังวลอะไรมากนัก เพราะปริมาณแบคทีเรียในอากาศมันขึ้นอยู่กับปริมาณผู้ใช้บริการ คนใช้เยอะแบคทีเรียก็เยอะตาม ห้องน้ำบ้านเรามีคนใช้แค่ไม่กี่คนไปเปรียบเทียบกับห้องน้ำสาธารณะที่คนใช้วันหนึ่ง เป็นร้อยเป็นพันมันต่างกันเยอะ”

จากนี้ไปเรามีส่วนร่วมในการลดการแพร่กระจายเชื้อโรคได้ง่าย ๆ ด้วยการเลี่ยงใช้เครื่องเป่ามือ ปิดฝาชักโครกทุกครั้งก่อนกดน้ำชำระ ถ้าอยากจะหลีกเลี่ยงเชื้อโรคในห้องน้ำก็ควรเลือกใช้ห้องน้ำสาธารณะที่ผู้คนไม่พลุกพล่าน แต่ก็ระวังอันตรายจากมิจฉาชีพด้วยเช่นกัน หรือถ้าปวดมาก ๆ จำเป็นต้องใช้ห้องน้ำที่คนเยอะ ก็รีบเข้ารีบออกแล้วกัน

ถ้ากลัวเชื้อโรคมากถึงขั้นไม่แคร์สายตาคนก็แนะนำให้ใส่ชุดพลาสติกกันฝนเดินเข้าห้องน้ำไปเลย ถึงแม้ว่าเราเองเลี่ยงที่จะไม่ใช้ แต่เจอเพื่อนร่วมห้องน้ำคนอื่นกำลังใช้เครื่องเป่ามือ จะเดินไปให้ความรู้ก็คงอธิบายกันนาน หรือถ้าเปิดบทความนี้ให้เขาอ่านเขาก็จะงง ง่ายที่สุดต้องประณามให้อายด้วยการตะโกนว่า “แกมันไอ้คนแพร่กระจายเชื้อโรคในอากาศ” แล้วรีบวิ่งออกไปให้ทันล่ะ

 

อ้างอิง