สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ กำลังได้รับความสนใจจากทั่วทุกมุมโลก ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับจำนวนยอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น หากใครได้ทำความรู้จักกับเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แล้ว คงจะพอรู้ว่าเชื้อตัวนี้เป็นเชื้อไวรัสตระกูลเดียวกันที่ทำให้เกิดโรค SARS และ MERS เมื่อหลายปีก่อน ว่าแต่การแพร่ระบาดคราวนี้ร้ายแรงขนาดไหน วันนี้เราจะเอาข้อมูลมาเปรียบเทียบกัน

รู้จักกับเชื้อโคโรนา

โคโรนา เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ส่งผลกับระบบทางเดินหายใจมีหลากหลายสายพันธุ์แต่เดิมเชื้อโคโรนาที่พบในมนุษย์จะส่งผลให้มนุษย์มีอาการเป็นหวัดแบบไม่รุนแรง แต่สำหรับสายพันธุ์ที่พบได้ในสัตว์ขนาดเล็กอาจส่งผลต่อระบบของระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท ตับ และลำไส้ของสัตว์เหล่านั้น ต่อมาเกิดการกลายพันธุ์สามารถส่งผ่านเชื้อมายังมนุษย์ได้ เป็นสาเหตุให้เกิดโรค SARS, MERS และโคโรนาสายพันธุ์ 2019

รู้จักกับโรค SARS

SARS (Severe Acute Respiratory Syndrome) หรือ โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง มีต้นเหตุมาจากเชื้อในตระกูลโคโรนาไวรัส SARS มีการค้นพบเป็นครั้งแรกในเดือนพฤษจิกายน 2002 ที่ประเทศจีน และแพร่ระบาดไปกว่า 26 ประเทศ ส่งผลให้มียอดผู้ติดเชื้อ 8,098 ราย และมีผู้เสียชีวิตรวม 774 ราย ผู้ติดเชื้อกว่า 5,000 คนเป็นชาวจีน และผู้ติดเชื้อ 20% เป็นบุคลากรทางการแพทย์ พบผู้ติดเชื้อในไทย 9 ราย เสียชีวิต 2 ราย ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคดังกล่าวมีเพียงยาที่ช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นเท่านั้น องค์การอนามัยโลกประกาศสิ้นสุดการแพร่ระบาดของโรค SARS ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2003

ปลายปี 2003 มีการรายงานว่าทีมวิจัยในห้องปฏิบัติการทางจุลชีววิทยาที่ไต้หวันและสิงคโปร์ติดเชื้อ SARS อีกครั้งแต่ครั้งนี้ควบคุมการระบาดไว้ได้ทัน

และมีนาคม 2004 มีรายงานผู้ติดเชื้อ SARS อีกครั้งที่ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยในกรุงปักกิ่ง และเกิดการแพร่ระบาดเข้าไปในชุมชนทำให้มีผู้ติดเชื้อ 7 ราย เสียชีวิต 1 ราย และผู้ที่คาดว่าจะติดเชื้ออีกกว่า 1,000 คน ต่อมารัฐบาลจีนเข้ามาสั่งห้ามจำหน่ายเนื้อชะมด (ตอนนั้นเชื้อว่าเชื้อแพร่ระบาดมาจากสิ่งนี้) หลังจากนั้นก็ไม่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อ SARS อีกเลย

รู้จักกับโรค MERS

หากเปรียบเทียบโรค SARS กับ MERS ดูเหมือนว่าน้อยคนนักที่จะรู้จักกับโรคนี้ MERS (Middle East Respiratory Syndrome) หรือ โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาเช่นกัน พบครั้งแรกที่ ประเทศซาอุดิอาระเบียในปี 2012 การแพร่เชื้อมักจะอยู่ในประเทศแถบตะวันออกกลางเป็นหลัก เช่น ซาอุดิอาระเบีย โอมาน กาตาร์ จากนั้นจึงแพร่กระจายไปยังประเทศในทวีปแอฟริกา ยุโรป เอเชีย และอเมริกา ในไทยพบผู้ติดเชื้อ 3 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวตั้งแต่ที่มีการแพร่ระบาดมาจนถึง 14 กุมภาพันธุ์ 2017 ปัจจุบันยังไม่มียารักษามีเพียงยาประคับประคองอาการเท่านั้น

รู้จักกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019

ทีนี้มาถึงสายพันธุ์ล่าสุดกันบ้างอย่างที่ทราบเราพบการรายงานโรคดังกล่าวครั้งแรกเมื่อ ธันวาคมปี 2019 ที่ประเทศจีนในเมืองหวู่ฮั่น ในตอนนี้ได้มีการแพร่ระบาดไปเกือบทั่วประเทศจีนและมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในแถบเอเชีย สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย

รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่าระดับความรุนแรงของโรค SARS ที่สามารถทำให้เสียชีวิตได้อยู่ที่ 10%, MERS 30% และ โคโรนาสายพันธุ์ 2019 อยู่ที่ 2% แต่อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจคิดว่าการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์ใหม่นี้ไม่ร้ายแรง เพราะข้อมูลที่จะนำมาประเมินความรุนแรงนั้นยังมีน้อย และที่สำคัญยอดผู้เสียชีวิตยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะเวลาเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น

ทั้งสามโรคนั้นมีลักษณะอาการแสดงที่คล้ายกัน คือมีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส มีอาการไอหอบ หายใจลำบาก ปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือในบางรายอาจมีอาการเวียนศีรษะ และอาเจียนร่วมด้วย ระยะฟักตัวของเชื้ออยู่ที่ 7-14 วัน

ทั้งนี้เราสามารถป้องกันการติดเชื้อได้โดย

  • ใส่หน้ากากอนามัย
  • ล้างมือบ่อย ๆ (เชื้อแพร่กระจายด้วยสารคัดหลั่งจากร่างกาย การล้างมือจึงสามารถช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้)
  • หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในที่ที่มีผู้คนแออัด
  • ไม่สัมผัส หรือใช้ช่วงใช้ร่วมกับผู้ป่วย

ติดตามการแพร่กระจายไวรัสโคโรนา

สำหรับประชาชนอย่างเรา ๆ สามารถติดตามสถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนาได้ด้วยตัวเอง โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ gisanddata.maps.arcgis เพื่อสามารถดูข้อมูลการแพร่กระจายไวรัสแบบ real-time ได้ค่ะ

แผนที่ติดตามเชื้อไวรัสโคโรนา

อ้างอิง PPTVHD36, Pobpad.com, Medthai.com, Mahidol.ac.th, Mahidol.ac.th, Pobpad.com