แม้เพิ่งผ่านเรื่องการพิชิตอวกาศของ SpaceX ไปไม่นาน แต่วงการดาราศาสตร์ก็ยังมีเรื่องน่าลุ้นต่อเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนกรกฏาคมนี้ ซึ่งถือเป็นฤกษ์งามยามดีเพราะเป็นช่วงที่ดาวอังคารจะเข้าใกล้โลกมากที่สุดของปี จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะปล่อยยานไปทำภารกิจพิชิตดาวดวงนี้กันสักที

15 ก.ค. 63 ครั้งแรกกับการส่งยานไปดาวอังคารของอาหรับเอมิเรตส์

เห็นแต่ชาติอื่นส่งยานไปสำรวจกันมาโดยตลอด ครั้งนี้ ชาติอาหรับจากภูมิภาคตะวันออกกลาง “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” จึงขอลงเล่นเกมนี้บ้าง

ยานโฮป (Hope) หรือในชื่อโครงการเต็ม Hope Mars Mission และชื่อยานในภาษาอาหรับว่า “อัลอะมัล” (الأمل ) แปลว่า ความหวัง ซึ่งเชคเคาะลีฟะฮ์ บิน ซายิด อัลนะฮ์ยาน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ประกาศถึงโครงการยานสำรวจดาวอังคารนี้ในปี พ.ศ. 2557 เพื่อพัฒนาขีดความสามารถให้กับบุคลากรประเทศและพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับบรรยากาศของดาวอังคาร การเลือกใช้ชื่อดังกล่าว จึงสื่อถึงการมองโลกในแง่ดีและความหวังอันใหม่ของชาวอาหรับนั่นเอง

ยานโฮป (Hope) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ยานโฮปเป็นยานประเภทโคจรรอบดาว (Orbiter) เพื่อสำรวจดาวอังคารของศูนย์อวกาศมุฮัมมัด บิน รอชิด (Mohammed bin Rashid Space Centre / MBRSC) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการอวกาศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประกอบและผลิตโดยห้องปฏิบัติการฟิสิกส์บรรยากาศและอวกาศ มหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ สหรัฐฯ และยานโฮปยังเป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่นอีก 2 แห่งในสหรัฐฯ

เมื่อประกอบเสร็จแล้ว ยานโฮปจะถูกขนส่งจากสหรัฐฯ ไปยังญี่ปุ่น เพื่อติดตั้งบนจรวด H-IIA (H-2A) ซึ่งมีกำหนดปล่อยขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 (ตามเวลาประเทศไทย) จากศูนย์อวกาศทาเนงาชิมะ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น 

ยานโฮปมีภารกิจ ได้แก่ การศึกษาวัฏจักรของสภาพอากาศในรอบวันและฤดูกาลในรอบปีของดาวอังคาร การศึกษาสภาพอากาศในบรรยากาศชั้นล่างของดาวอังคาร (เช่น พายุฝุ่น) การศึกษาความแตกต่างทางสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่บนดาวอังคาร และการศึกษากระบวนการสูญเสียแก๊สจากชั้นบรรยากาศของดาวอังคารสู่อวกาศ ด้วยภารกิจเหล่านี้ ตัวยานจึงมีอุปกรณ์ตรวจวัดบรรยากาศดาวอังคาร 3 ตัว ใช้ตัววัดฝุน รังสี ก๊าซและคลื่นต่าง ๆ 

หากการปล่อยยานสู่อวกาศและการเดินทางสู่ดาวอังคารเป็นไปอย่างราบรื่น ยานจะใช้เวลาเดินทางไปยังดาวอังคารนาน 7 เดือน กำหนดถึงดาวอังคารในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการครบรอบ 50 ปีที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นเอกราชพอดิบพอดี และคาดว่าจะใช้ยานโฮปโคจรปฏิบัติภารกิจรอบดาวอังคาร 2 ปี

20 ก.ค. 63 นาซาได้ฤกษ์ส่ง “เพอร์เซเวียแรนส์” และ “อินเจนูอิตี” มุ่งสู่ดาวอังคาร! 

เพื่อตอกย้ำถึงความรุ่งโรจน์ด้านอวกาศที่อเมริกาเป็นมาเสมอตั้งแต่การส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกเมื่อ 51 ปีก่อน องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ นาซา (NASA) จึงได้ประกาศกำหนดการปล่อยจรวดเพื่อส่ง “Mars 2020 Rover” หรือ “เพอร์เซเวียแรนส์ (Perseverance)” มุ่งหน้าสู่ดาวอังคาร ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เวลา 20:15 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยวันดังกล่าวก็เป็นไปเพื่อฉลองการครบรอบ 51 ปี ไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกนั่นแหละ

ภาพจำลองเพอร์เซเวียแรนส์ (Perseverance) ของนาซา บนพื้นดาวอังคาร

เพอร์เซเวียแรนส์ จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ ณ ฐานปล่อยยานอวกาศ SLC-41 แหลมคานาเวอรัล สหรัฐอเมริกา ด้วยจรวด Atlas V 541 ซึ่งเป็นจรวดรุ่นเดียวกับที่เคยใช้ส่งรถหุ่นยนต์สำรวจดาวอังคาร ‘คิวริออซิตี (Curiosity)’ ในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งครั้งนี้นอกจากจะเป็นการส่งรถหุ่นยนต์สำรวจดาวอังคารในรอบ 9 ปีของนาซาแล้ว ยังเป็นภารกิจแรกที่จะส่ง ‘เฮลิคอปเตอร์’ นาม “อินเจนูอิตี (Ingenuity)” ขึ้นไปด้วย

โดยอินเจนูอิตีได้ติดตั้งกล้องความละเอียดสูงเพื่อเก็บข้อมูลสำหรับการบิน การลงจอด การสำรวจภูมิประเทศมุมสูงและมุมอื่น ๆ ที่การสำรวจภาคพื้นดินไม่สามารถเข้าถึงได้ เพื่อค้นหาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และส่งข้อมูลกลับมายังโลก

เพอร์เซเวียแรนส์และอินเจนูอิตีจะเดินทางถึงดาวอังคารในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ลงจอด ณ หลุมอุกกาบาตเจซีโร (Jezero Crater) เบื้องต้นนาซาวางแผนให้อินเจนูอิตีมีระยะเวลาภารกิจ 30 วัน หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน เฮลิคอปเตอร์ลำนี้จะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการบินบนดาวอังคาร ที่อาจเป็นส่วนสำคัญในภารกิจส่งมนุษย์คนแรกไปยังดาวอังคารในอนาคต

23 ก.ค. 63 เมื่อโควิดไม่อาจหยุดยั้งกำหนดการ ‘อวกาศเพื่อชาติ’ แห่งความภาคภูมิของชาวจีนได้

ก่อนหน้านี้ จีนเคยพยายามส่งยานไปสำรวจดาวอังคารแล้วครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2555 “ยานอิ๋งหั่ว 1” (Yinghuo-1) ออกเดินทางสู่อวกาศ หากแต่ไม่สามารถหลุดออกวงโคจรโลกได้ ก่อนจะตกกลับมายังโลกพร้อมกับยานโฟบอส-กรุนต์ของรัสเซีย 

แต่ความล้มเหลวนั่น ก็ไม่อาจล้มเลิกความตั้งใจของจีนลงได้ (ขนาดต้องฝ่าฟันวิกฤตโควิดจีนก็ยังปรับตัว เพื่อให้งานด้านอวกาศลุล่วงตามกำหนดในปีนี้จนได้) โดยครั้งนี้ จีนจะส่งยานหุ่นยนต์ไปสำรวจดาวอังคารอีกครั้ง ด้วยยาน “เทียนเวิ่น 1″ (Tienwen-1) แปลว่า “คำถามถึงสรวงสวรรค์” ซึ่งเป็นชื่อบทกวีจีนโบราณ ของ “ชวี ยฺเหวียน” (Qu Yuan) ที่ยิ่งใหญ่ สอดรับกับนานาภารกิจของยานเทียนเวิ่น 1 และเกียรติภูมิของชาติ

ยาน “เทียนเวิ่น 1″ (Tienwen-1) ของจีน

สำหรับภารกิจของยานเทียนเวิ่น 1 ได้แก่ การตรวจหาหลักฐานบ่งชี้ถึงสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารทั้งในอดีตและปัจจุบัน การทำแผนที่พื้นผิวดาวอังคาร การวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีและน้ำแข็งเจือปนของดินดาวอังคาร การศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร และทดสอบเทคโนโลยีอวกาศเพื่อใช้เตรียมพร้อม สำหรับภารกิจในอนาคตที่จะส่งยานไปเก็บตัวอย่างดินดาวอังคารแล้วส่งกลับมายังโลก (เยอะแยะยิ่งใหญ่สมชื่อจริง ๆ )

เพื่อให้ปฏิบัติภารกิจได้ ยานเทียนเวิ่น 1 จึงประกอบด้วยยานโคจรรอบดาว (Orbiter) ยานลงจอดบนพื้นผิว (Lander) และรถสำรวจ (Rover) และมีอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ติดตั้งกับยานโคจรรอบตัวดาวและรถสำรวจอีกรวมถึง 12 ชิ้น 

องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) มีกำหนดส่งยานเทียนเวิ่น 1 ด้วยจรวดลองมาร์ช 5 ในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ณ ฐานปล่อยจรวดเหวินชาง เกาะไห่หนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน และมีกำหนดเดินทางถึงดาวอังคารในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 โดยวางแผนให้ยานลงจอดและรถสำรวจลงสู่พื้นผิวดาวอังคารบริเวณที่ราบต่ำยูโทเปีย (Utopia Planitia) ซึ่งเป็นที่ราบแห่งเดียวกันกับที่ยานไวกิง 2 ของสหรัฐฯ ลงจอดเมื่อปี พ.ศ. 2519 และคาดว่ายานโคจรรอบดาวจะสามารถปฏิบัติภารกิจได้นาน 1 ปี และรถสำรวจสามารถปฏิบัติภารกิจได้ประมาณ 93 วัน

เห็นความพยายามของนานาประเทศที่จะสำรวจและกรุยทางสู่ดาวอังคารกันขนาดนี้แล้ว ก็ขอให้สำเร็จสมหวังกันไปทุกรายตามที่ตั้งใจ มาช่วยกันร่วมลุ้นให้เดือนกรกฎาคมนี้เป็นเดือนแห่งความสำเร็จของงานด้านอวกาศที่น่าประทับใจอีกเดือนหนึ่งกันเถอะ

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส