Hyperloop เป็นเทคโนโลยีการเดินทางรูปแบบใหม่ที่มีความเร็วสูงสุดถึง 700 ไมล์/ชม. (1,125 กม./ชม.) ออกแบบโดยทีมงานของ Tesla และ SpaceX ที่นำโดย Elon Musk ในปี 2013 ซึ่งการทำงานจะใช้ตัวยานพาหนะที่เรียกว่า Hyperloop pod เคลื่อนที่ไปตามท่อขนาดใหญ่ที่วางอยู่บนเสาเหมือนรถไฟฟ้า โดยมีเครื่องยนต์เป็นพัดลมไฟฟ้าสร้างลมพลังแรงสูงเพื่อช่วยให้ Pod ถูกยกขึ้นจากพื้นแล้วเคลื่อนที่ไปตามท่อโดยไร้แรงเสียดทาน และสามารถลดเวลาในการเดินทางได้เมื่อเทียบกับรถไฟและเครื่องบินในระยะทาง 1,500 กม.

Hyperloop เป็นเทคโนโลยีระบบการเดินทางแบบ Open source จึงมีหลายบริษัทนำไปพัฒนาเพื่อปรับใช้จริง ซึ่ง Virgin Hyperloop One (ในเครือของ Virgin Group) เป็นหนึ่งบริษัทที่พัฒนาระบบ Hyperloop ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 ซึ่งปี 2017 บริษัทได้ทดสอบระบบ Hyperloop เต็มรูปแบบสำเร็จครั้งแรกที่สถานที่ทดสอบในลาสเวกัสรัฐเนวาดาด้วยความเร็ว 240 ไมล์ต่อชั่วโมง

8 ตุลาคม Virgin Hyperloop One เผยว่าได้เลือกรัฐ West Virginia เป็นศูนย์รับรองและติดตามการทดสอบระบบ Hyperloop ที่แรกของสหรัฐฯ ด้วยมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้สำหรับเป็นสถานที่ในการดำเนินงานให้เป็นไปตามกฎระเบียบและความปลอดภัยที่เข้ามากำกับดูแลโดยรัฐบาลกลาง เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ก่อนที่จะนำไปสร้างระบบเพื่อใช้งานจริงในวงกว้างต่อไป

บริษัทจะเริ่มสร้างศูนย์รับรองใน West Virginia ในปี 2022 คาดว่าจะได้การรับรองด้านความปลอดภัยในปี 2025 และจะสามารถเปิดให้บริการสำหรับภาคธุรกิจและการโดยสารสาธารณะในปี 2030

ปี 2018 บริษัทได้ทำข้อตกลงกับรัฐบาลอินเดียเพื่อจะสร้างระบบ Hyperloop เชื่อมการเดินทางระหว่าง Mumbai และ Pune ต่อมาปี 2019 รัฐบาลอินเดียได้อนุมัติโครงการ Hyperloop ของ Virgin Hyperloop One ซึ่งถือว่าเป็นเส้นทางแรกของระบบ Hyperloop ที่เป็นไปได้มากที่สุดของโลก

ปี 2019 บริษัทได้ติดต่อไปยังผู้ว่าการรัฐในทั้ง 50 รัฐเพื่อให้แข่งกันยื่นข้อเสนอในการสร้างศูนย์รับรองของระบบ Hyperloop และได้การตอบรับจาก 17 รัฐ รวมทั้งได้ออกโรดโชว์นำเสนอระบบ Hyperloop ไปทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังได้ระดมทุนได้มากกว่า 400 ล้านดอลลาร์โดยส่วนหนึ่งได้มาจาก DP World บริษัทขนส่งสินค้าในท่าเรือของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมของสหรัฐฯ ได้วางกรอบและแนวทางสำหรับบริษัทในการวางรากฐานระบบ Hyperloop ใช้งานเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ และที่อื่น ๆ ดังนั้นบริษัทจึงต้องสร้างศูนย์รับรองใน West Virginia โดยเลือกจาก 17 รัฐเพื่อให้รัฐบาลกลางเข้ามาติดตามการทดสอบดังที่ได้กล่าวไว้ จากนั้นเมื่อได้ใบรับรองแล้วก็จะสามารถไปสร้างโครงการในที่ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ที่มา : cnet, reuters, theverge, transportation.gov และ virginhyperloop

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส