วนมาอีกครั้งกับวันที่กลางคืนยาวนาน และกลางวันมีช่วงเวลาสั้นที่สุดในรอบปี กับวันเหมายัน (อ่านว่า เห-มา-ยัน นะ อย่าอ่านว่า เหมา ล่ะ อายเขา) 21 ธันวาคม 2563 นอกจากกลางคืนจะสั้นแล้ว ของปีนี้ยังพิเศษกว่าครั้งไหน ๆ เพราะเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้เห็น The Great Conjunction ที่ดาวเสาร์เคียงดาวพฤหัสบดี ใกล้ที่สุดในรอบ 397 ปี ในช่วงหัวค่ำด้วย

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ NARIT ได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กอธิบายว่า ‘วันเหมายัน’ (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) คือวันที่เวลากลางคืนยาวที่สุดในรอบปี เนื่องจากดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด สำหรับประเทศไทย ในวันดังกล่าวดวงอาทิตย์ขึ้น 06:36 น. และตกเวลาประมาณ 17:55 น. ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุด ด้วยระยะเวลาเพียง 11 ชั่วโมง 19 นาที และกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี

คนไทยมักเรียกช่วงเวลานี้ว่า ‘ตะวันอ้อมข้าว’ สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือจะนับเป็นวันที่เข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้จะเป็นช่วงเวลากลางวันจะยาวที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน

กลางวันและกลางคืน เกิดจากโลกหมุนรอบตัวเอง ในขณะเดียวกันโลกก็โคจรรอบดวงอาทิตย์ แกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแกนตั้งฉากระนาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้บริเวณต่าง ๆ ของโลกในแต่ละช่วงของปีได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน เกิดเป็นฤดูกาลในระยะเวลา 1 ปี และส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการ ขึ้น – ตก ของดวงอาทิตย์ทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่

  • วันครีษมายัน – กลางวันยาวนานที่สุด
  • วันเหมายัน – กลางคืนยาวนานที่สุด
  • วันวสันตวิษุวัตและวันศารทวิษุวัต – กลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน

นอกจากวันเหมายัน ช่วงเวลานี้ยังมีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญน่าติดตาม คือ ปรากฏการณ์ดาวเสาร์เคียงดาวพฤหัสบดี ใกล้ที่สุดในรอบ 397 ปี ห่างเพียง 0.1 องศา หรือเรียกว่า ‘The Great Conjunction 2020’ สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าถึงเวลาประมาณทุ่มครึ่งเท่านั้น (อ่านรายละเอียดของปรากฏการณ์เพิ่มเติมได้ ที่นี่)

พักจากความกังวลเรื่องโควิดชั่วครู่ แล้วสังเกตท้องฟ้ายามเย็นที่มาเร็วขึ้น และส่องหาดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์บ้างก็ไม่เลวเหมือนกันนะ

อ้างอิง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส