สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) น่าจะเป็นคนหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงเสมอเมื่อพูดถึงบุคคลที่สร้างความก้าวหน้าให้กับวงการเทคโนโลยี เขาเป็นนวัตกรที่เฉลียวฉลาด มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ร่วมก่อตั้งบริษัท Apple กับ สตีฟ วอซเนียก (Steve Wozniak) จากที่ไม่มีอะไรเลยและช่วยทำให้มันเติบโตจนกลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก

แต่บุคคลที่ถูกยกย่องว่าเป็นอัจฉริยะผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของ Apple นี้ ช่วงหนึ่งเคยถูกบอร์ดบริหารบีบให้ออกจากบริษัทที่ตนเองสร้างขึ้นมาอย่างแสบสัน แต่หลังจากนั้นเขาก็ร่วมสร้างอีกสองบริษัท หนึ่งในนั้นคือ Pixar สตูดิโอแอนิเมชันที่หลายคนชื่นชอบ และสุดท้ายเมื่อสถานการณ์ของ Apple ไม่ค่อยสู้ดี เขาก็กลับมาพลิกฟื้นสถานการณ์และทำให้มันกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

จุดเริ่มต้น

ในปี 1976 สองสตีฟ – สตีฟ จอบส์ และสตีฟ วอซเนียก ร่วมกันสร้างบริษัทเทคโนโลยีชื่อว่า Apple ขึ้นมาโดยมีเป้าหมายในการสร้างคอมพิวเตอร์ส่วนตัวคุณภาพสูง แต่หลังจากทำงานได้ 9 ปี เขาก็ถูกไล่ออกจากบริษัทที่ตัวเองสร้างขึ้นมา คำถามที่หลายคนสงสัยคือ “บริษัทไล่คนที่สร้างบริษัทออกได้ยังไง?”

คำตอบคือ “อำนาจไม่ได้อยู่ในมือของจอบส์ในตอนนั้น” เขาไม่ได้ถือตำแหน่งซีอีโอของบริษัทเลย จนกระทั่งตอนที่กลับเข้ามาใหม่หลังจากที่ถูกไล่ออกไปแล้วนั่นแหละ ตอนที่จอบส์เริ่มก่อตั้งบริษัท Apple เขามีอายุเพียงแค่ 21 ปีเท่านั้น นักลงทุนและนักธุรกิจหลายคนรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจที่จะลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีสร้างใหม่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว (ซึ่งย้อนกลับไปยุคนั้นก็เป็นอะไรที่คลุมเครือมาก ยังเป็นเรื่องใหม่ที่หลายคนไม่เข้าใจ) ถ้ามีซีอีโอเป็นหนุ่มหน้าใหม่วัย 20 ด้วยยิ่งทำให้การหาทุนและสร้างความน่าเชื่อถือลำบากเข้าไปอีก

เพื่อแก้ไขปัญหานี้ Apple เลยว่าจ้างนักธุรกิจมากประสบการณ์คนหนึ่งชื่อว่า ไมเคิล สกอตต์ (Michael Scott) มาดำรงตำแหน่งซีอีโอของบริษัท

แน่นอนว่าพอทำแบบนี้ปุ๊บ จอบส์สามารถเอาเวลาไปทุ่มเทเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องคอยกังวลเกี่ยวกับเรื่องการดูแลบริษัท แต่ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้อำนาจการตัดสินใจในมือนั้นน้อยลงไปด้วย และแน่นอน… ทำให้เขาถูกไล่ออกได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม สกอตต์ก็ดำรงตำแหน่งอยู่ได้ไม่นาน และเขาก็ไม่ได้เป็นคนไล่จอบส์ออกจาก Apple แต่บุคคลที่ทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นคือ จอห์น สกัลลีย์ (John Sculley) ชายผู้ซึ่งจอบส์เป็นคนไปทาบทามมาให้เป็นซีอีโอของบริษัทต่างหาก

สตีฟ จอบส์ กับ Lisa Computer

Sculley vs. Jobs

เหตุผลที่จอบส์สนใจในตัวสกัลลีย์คือประวัติในการทำงานอันสวยงามที่พลิกฟื้นเป๊ปซี่ (Pepsi) จากขาดทุนอยู่ปีละกว่า 70 ล้านเหรียญ ให้กลับมาสร้างกำไรได้ถึงปีละ 40 ล้านเหรียญภายในเวลาไม่กี่ปี สกัลลีย์สร้างแคมเปญการตลาดเจ๋ง ๆ หลายอันจนสามารถทำให้เป๊ปซี่ปะทะกับคู่แข่งตลอดกาลอย่างโค้กได้อย่างสูสี

จอบส์เห็นความสามารถของสกัลลีย์แล้วรู้สึกว่านี่คือสิ่งที่ Apple กำลังต้องการ พยายามโน้มน้าวเขาหลายต่อหลายครั้งแต่สกัลลีย์ก็ปฏิเสธมาโดยตลอด จนกระทั่งในปี 1983 ในที่สุดจอบส์ก็ดึงสกัลลีย์มาทำงานเป็นซีอีโอให้กับ Apple ได้สำเร็จ ประโยคที่ทำให้สกัลลีย์เปลี่ยนใจคือตอนที่จอบส์ถามว่า

“คุณอยากขายน้ำผสมน้ำตาลไปตลอดชีวิตหรือคุณอยากมาเปลี่ยนโลกกับผม?”

เป็นประโยคที่ทรงพลังและสกัลลีย์ก็ตัดสินใจมาเปลี่ยนโลกกับจอบส์ที่ Apple ในเวลาต่อมา แต่สิ่งที่จอบส์ยังไม่รู้คือ โลกของเขาเองก็กำลังจะเปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน

สถานการณ์ของบริษัท Apple ในตอนนั้นเรียกว่าลุ่ม ๆ ดอน ๆ เจออุปสรรคเยอะพอสมควร ไม่สามารถหาผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทได้เหมือนอย่างตัว ‘Apple 2’ ที่ออกไปเมื่อหลายปีก่อนหน้านั้นแล้ว จอบส์เปิดตัว ‘Lisa’ ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยที่สุดในตอนนั้น (ซึ่งเขามายอมรับภายหลังว่าตั้งชื่อตามลูกสาวของตัวเอง) แต่ด้วยความล้ำของมันนี่แหละที่ทำให้ราคาขายก็ล้ำไปด้วย Lisa เครื่องหนึ่งขายอยู่ที่ราว ๆ 10,000 เหรียญ​ หรือคิดเป็นเงินไทยตก 350,000 บาท ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าสูงมาก ๆ สำหรับคอมพิวเตอร์หนึ่งตัว

กลายเป็นว่าตลอดช่วงสองสามปีที่วางขาย Lisa ขายได้ประมาณ 10,000 ตัวเท่านั้น

Lisa คือความล้มเหลวครั้งใหญ่และเป็นจุดเริ่มต้นของการปะทะกันระหว่างสกัลลีย์และจอบส์ในเวลาต่อมา

สตีฟ จอบส์ และ จอห์น สกัลลีย์

จบกันที่ ‘Macintosh’

ในเวลาต่อมาจอบส์ยังคงพยายามสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาอยู่ตลอด ค้นหาสูตรสำเร็จของอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีของ Lisa แต่ให้อยู่ในราคาที่เอื้อมถึงได้ จนกระทั่งได้ออกมาเป็น ‘Macintosh’ ที่ราคาถูกลง มีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ปัญหาคือเรื่องของราคาว่าต้องขายเท่าไหร่ กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่หลายเดือนระหว่างสกัลลีย์และจอบส์

จอบส์อยากขายที่ 2,000 เหรียญ ส่วนสกัลลีย์บอกว่าต้องขายที่ 2,500 เหรียญ เพื่อเอาไปชดเชยค่าใช้จ่ายในการทดลองและพัฒนาต่าง ๆ ด้วย ซึ่งเหตุผลที่จอบส์อยากขายในราคาถูกกว่าเพราะว่าในตลาดมีคู่แข่งอีกเจ้าหนึ่งชื่อ IBM ที่ขายคอมพิวเตอร์ของพวกเขาอยู่ที่ 1,600 เหรียญ ซึ่งถ้า Macintosh ขายที่ 2,000 เหรียญก็ยังจะดูไม่ห่างกันมาก

แต่หลังจากถกเถียงกันเป็นฟืนเป็นไฟ บอร์ดบริหารเห็นดีด้วยกับสกัลลีย์ ตัดสินใจวางขาย Macintosh ที่ราคา 2,500 เหรียญ

ยอดขายในตอนแรก ๆ ก็ถือว่าได้เสียงตอบรับที่ดี แต่ความนิยมก็ลดลงอย่างรวดเร็ว คนแห่ไปซื้อคอมพิวเตอร์ IBM กันหมดเพราะราคาที่ถูกกว่า แม้ว่าตัว ​Macintosh เองจะมีเทคโนโลยีที่ดีกว่าก็ตาม

Macintosh กลายเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ล้มเหลว และเหมือนเป็นฟางเส้นสุดท้ายของบอร์ดบริหารด้วย

ในปี 1985 ปัญหาภายในเริ่มร้อนระอุ ตอนนี้ทั้งคู่เริ่มมองหน้ากันไม่ติด จนเรื่องไปถึงบอร์ดบริหาร ซึ่งบอกให้สกัลลีย์นั้นควบคุมจอบส์ให้อยู่หมัด เพราะเห็นว่าจอบส์ใช้ทรัพยากรของบริษัทเยอะจนเกินไป ทั้งเงิน เวลา และทีมที่สร้างคอมพิวเตอร์ที่ล้มเหลวมาแล้วสองอันติดต่อกัน

ตอนนี้เองที่จอบส์เริ่มได้ยินข่าวแว่วเข้าหูมาว่าจะถูกลดหน้าที่ความรับผิดชอบในบริษัทลง ซึ่งเขาไม่ยอมอยู่แล้ว พยายามไปโน้มน้าวเพื่อนในบริษัทเพื่อมาร่วมมือกันปลดบอร์ดบริหาร แต่ข่าวนี้ดันไปเข้าหูของสกัลลีย์เข้า สุดท้ายสกัลลีย์เลยเรียกประชุมบอร์ดแบบฉุกเฉินขึ้นมาเพื่อแก้ไขสถานการณ์นี้โดยด่วน

ในการประชุมครั้งนี้บอร์ดบริหารได้ชี้แจงกับจอบส์ว่าอำนาจของเขาในบริษัทจะถูกลดทอนจนเกือบไม่เหลืออะไร เขาจะไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในบริษัทเลย ไม่สามารถสร้างโปรเจกต์ใหม่หรือมีพนักงานคนไหนที่ทำงานให้เขาอีกต่อไป แม้ว่าบอร์ดจะไม่ได้ “ไล่ออก” แต่มันเป็นเหมือนการ “บีบให้ออก” นั่นแหละ

จอบส์หัวเสียกับเรื่องนี้มาก ไม่ยอมรับข้อเสนออย่างเด็ดขาด ขอให้บอร์ดมีการโหวตลงคะแนนเสียงเลือกระหว่างเขากับสกัลลีย์ว่าใครควรเป็นผู้นำของ Apple ต่อไป

จอบส์แทบไม่เชื่อเลยว่าบอร์ดโหวตเลือกสกัลลีย์ ตอนนั้นเขาโมโหมาก ตัดสินใจเดินออกจากห้องประชุมและแยกทางกับบริษัทที่สร้างขึ้นมากับมือไปเลย

สตีฟ จอบส์ โพสท่ากับ NeXT Computer

ภายหลังจอบส์ไปสร้างบริษัทใหม่อีกสองแห่งชื่อว่า ‘NeXT Computer’ และ ‘Pixar’ ส่วนสถานการณ์ของ Apple เองก็ไม่ได้ดีขึ้นหลังจากที่เขาออกมา เรียกว่าเข้าขั้นวิกฤติเกือบล้มละลายแล้วด้วยซ้ำ จอบส์กลับเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในปี 1997 ตอนนั้น Apple เข้าซื้อกิจการของ NeXT Computer และเขาก็กลับมานั่งในตำแหน่งซีอีโอของบริษัท ซึ่งเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นครั้งใหม่ที่ทำให้ Apple กลับมายิ่งใหญ่ได้จนถึงทุกวันนี้

เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าการที่เขาถูกบีบให้ออกไปนั้นสร้างแผลใจให้เขามากแค่ไหน แต่มันอาจจะเป็นเรื่องดีแล้วที่มันเกิดขึ้น ไม่มีใครรู้หรอกว่าถ้าตอนนั้นเขายังอยู่ต่อไป บอร์ดเชื่อใจให้ทดลองสร้างคอมพิวเตอร์ในแบบของตัวเองต่อไป มันอาจจะสำเร็จที่พา Apple กลับมา หรืออาจจะเป็นหายนะแล้วพา Apple ดิ่งลงเหวไปก็ได้ การออกไปสร้างบริษัทใหม่สองแห่งอาจจะเป็นสิ่งที่ Apple และตัวเขาเองต้องการ สร้างประสบการณ์และความสามารถเพื่อให้กลับมาบริหารบริษัทที่เขาสร้างขึ้นจนประสบความสำเร็จยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าเขาจะล่วงลับไปนานถึง 10 ปีแล้วก็ตาม

อ้างอิง

Business Insider YouTube

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส