สำหรับคนที่เป็นเพศทางเลือก คงไม่มีเวลาไหนในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่ยอดเยี่ยมไปกว่าตอนนี้อีกแล้ว สังคมมีการเปิดกว้างและยอมรับมากยิ่งขึ้น แม้บางคนในบางส่วนของโลกยังคงมีความเชื่อแบบเดิม ๆ ว่าชายต้องเป็นชาย หญิงต้องเป็นหญิง เพศทางเลือกเป็นสิ่งต้องห้าม (หรือแม้กระทั่งผิดกฎหมาย) แต่มันก็ดีกว่าแต่ก่อนมาก ๆ 

ในประเด็นนี้เราก็ต้องขอบคุณคนรุ่นก่อน ๆ ที่เสียสละ กัดฟัน กับการกดขี่ข่มเหง ต่อสู้เพื่อเกียรติและสิทธิ์ในสังคม ไม่ใช่แค่ในฐานะของคนที่เป็นเพศทางเลือก แต่ในฐานะของมนุษย์คนหนึ่งของโลกใบนี้ที่ควรได้รับความเท่าเทียมกัน

ถึงแม้สังคมจะเปิดรับมากขึ้น แต่การออกมายอมรับหรือเปิดเผยเรื่องเพศสภาพของตัวเองนั้นไม่เคยเป็นเรื่องง่าย สังคมอาจจะเข้าใจ คนรอบข้างอาจจะรับรู้ แต่สำหรับหลาย ๆ คนมันคือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะไม่เพียงแต่อาจจะส่งผลกระทบต่อทั้งภาพลักษณ์ ชื่อเสียง หน้าที่การงานของตัวเองเท่านั้น แต่ยังอาจจะส่งผลถึงองค์กรหรือบริษัทที่ตัวเองทำงานอยู่ด้วยก็ได้

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการออกมายอมรับว่าตัวเองเป็นเกย์อย่างเปิดเผยของ ทิม คุก (Tim Cook) ซีอีโอของ Apple บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในบทความที่เขาเขียนให้กับ Bloomberg ในปี 2014 จึงเป็นการแสดงจุดยืนสำคัญที่มอบความหวังให้กับคนอื่น ๆ ที่เป็นเพศทางเลือกว่าออกมายอมรับในตัวตนอันแท้จริงของตัวเองนั้นแม้จะน่ากลัว แต่สำหรับคุกแล้ว “การเป็นเกย์คือของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งที่ได้รับจากพระเจ้า”

คุกเป็นคนที่เงียบ ๆ เก็บเนื้อเก็บตัว ก่อนหน้านั้นแม้ไม่เคยปฏิเสธเกี่ยวกับเรื่องเพศสภาพของตัวเอง แต่ก็ไม่เคยออกมายอมรับเช่นกัน

“แม้ว่าผมจะไม่เคยปฏิเสธเรื่องเพศสภาพของตัวเอง แต่ก็ไม่เคยออกมายอมรับอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะเช่นกันจนกระทั่งตอนนี้” เขาเขียนไว้ในบทความ “เพราะฉะนั้นขอให้ผมพูดให้ชัดเจนเลยก็ได้ว่าผมภูมิใจที่เป็นเกย์ และผมก็คิดว่าการเป็นเกย์คือของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ได้รับจากพระเจ้า

“หลายปีที่ผ่านมา ผมเปิดเผยเรื่องรสนิยมทางเพศกับหลาย ๆ คน เพื่อนร่วมงานจำนวนมากที่ Apple รู้ว่าผมเป็นเกย์ และเรื่องนี้ก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาปฏิบัติกับผมแตกต่างออกไปเลย แน่นอนว่าผมโชคดีที่ได้ทำงานในบริษัทที่รักความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม และรู้ว่ามันจะเติบโตได้ก็ต่อเมื่อคุณยอมรับความแตกต่างของผู้คน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่โชคดีแบบนี้”

คุกเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอในเดือนสิงหาคม 2011 ไม่นานหลังจากที่ สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) เสียชีวิตจากโรคมะเร็งร้าย เขากล่าวว่าการไม่ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้อย่างเป็นทางการเกี่ยวกับเรื่องรสนิยมทางเพศของตัวเองเป็นการพยายามรักษาความเป็นส่วนตัวของตัวเองในขณะที่ต้องบริหารบริษัทที่มีอิทธิพลระดับโลก

แม้ว่าหลาย ๆ คนจะทราบดี แต่การออกมายอมรับก็เป็นสิ่งที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง

ลอร์ด บราวน์ (Lord Browne) ซึ่งลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ BP ในปี 2007 หลังจากโกหกในชั้นศาลเพื่อพยายามขัดขวางการตีพิมพ์เรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องเพศและชีวิตส่วนตัวของเขา กล่าวกับสื่อ The Guardian ว่า การออกมาของเปิดตัวของคุกจะ ‘เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ’

“ผมหวังว่า ทิม คุก ได้สร้างตัวอย่างที่ผู้นำคนอื่น ๆ จะทำตาม ถ้ามีซีอีโอและผู้นำคนอื่น ๆ ในธุรกิจออกมายอมรับว่าเป็นเกย์อย่างเปิดเผยมากขึ้น มันจะทำให้คนอื่น ๆ มั่นใจที่ออกมายอมรับและได้เป็นตัวของตัวเองที่ทำงาน มันไม่ใช่แค่ดีสำหรับพวกเขาในระดับปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่สำหรับบริษัทที่จะได้รับผลประโยชน์จากการมีส่วนร่วมและประสิทธิผลที่มากขึ้นด้วย”

แชด กริฟฟิน (Chad Griffin) ประธานของ Human Rights Campaign ซึ่งเป็นกลุ่มสิทธิมนุษยชน LGBTQ+ ที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกากล่าวว่าสิ่งที่คุกทำนั้นจะ “ช่วยชีวิตคนอีกนับไม่ถ้วน เพราะที่ผ่านมาเขาเป็นแบบอย่างที่ดีมาโดยตลอด และวันนี้คนนับล้านทั่วโลกจะได้รับแรงบันดาลใจจากแง่มุมที่แตกต่างจากชีวิตของเขา ทิม คุก คือเครื่องพิสูจน์ว่าคนหนุ่มสาวที่เป็น LGBTQ+ สามารถมีความฝันที่ยิ่งใหญ่เท่าที่อยากจะฝันได้ อยากจะเป็นหมด เป็นสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐฯ หรือแม้แต่ซีอีโอของแบรนด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ตาม”

คุกเป็นหนึ่งคนที่คอยสนับสนุนเรื่องสิทธิความเท่าเทียมของกลุ่มเพศทางเลือกเสมอมา และจะออกมาต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อย ดังที่เราได้เห็นจากผลิตภัณฑ์หลายอย่างของ Apple ไม่ว่าจะเป็นหน้าปัดหรือสายของนาฬิกา Apple Watch หรือภาพบนหน้าปัดหรือวอลเปเปอร์ที่เป็นธงหลากสี LGBTQ+ ครั้งหนึ่งเขาเคยออกมาให้ความเห็นรัฐแอละแบมาบ้านเกิดของเขาว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ช้าเกินไปเกี่ยวกับเรื่องสิทธิของเพศที่ 3 เพราะที่ทำงานบางแห่งถ้าคุณเป็นเกย์อาจจะถูกไล่ออกจากงานได้เลย ซึ่งเขาก็บอกว่า “เราไม่สามารถเปลี่ยนอดีตได้ แต่เราสามารถเรียนรู้จากมันได้และสร้างอนาคตที่แตกต่างออกไป”

คุกเขียนเอาไว้ในบทความบน Bloomberg ว่า “ตลอดการทำงานที่ผ่านมาผมพยายามจะรักษาระดับความเป็นส่วนตัวเอาไว้ ผมมาจากพื้นฐานที่ไม่ได้มีอะไร ไม่อยากดึงความสนใจมาหาตัวเอง Apple เป็นบริษัทที่ถูกจับตามองมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอยู่แล้ว และผมก็พยายามโฟกัสไปที่ผลิตภัณฑ์และสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่ลูกค้าของเราสามารถสร้างสรรค์ขึ้นมาได้

“แต่ในเวลาเดียวกัน ผมก็เชื่ออย่างสุดใจในคำพูดของ ดอกเตอร์ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง ที่บอกว่า ‘คำถามที่สำคัญและเร่งด่วนคือเราได้ทำอะไรเพื่อผู้อื่นบ้าง?’ ผมพยายามจะท้าทายตัวเองกับคำถามนั้นเสมอ และก็ตระหนักได้ว่าความต้องการความเป็นส่วนตัวของผมเองกำลังขัดขวางผมในการทำสิ่งที่สำคัญอยู่ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้วันนี้เกิดขึ้น”

คุกบอกว่าการเป็นเกย์นั้น “หลายครั้งลำบากและอึดอัด” แต่มันก็ทำให้เขา “เข้าใจจิตใจของผู้อื่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งนำเขาไปสู่ชีวิตที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น” และมอบ “ความมั่นใจที่จะเป็นตัวเอง เดินตามเส้นทางของตัวเอง เอาชนะความยากลำบากและความเชื่อที่ผิด ๆ นอกจากนั้นแล้วมันยังทำให้ผมมีความอึดทน ซึ่งมีประโยชน์มากเมื่อเป็นซีอีโอของ Apple”

โลกเปลี่ยนไปมากสำหรับคนที่เป็นเพศทางเลือกจากครั้งที่เขายังเป็นเด็ก แต่คุกก็บอกว่ามันยังมีอะไรให้ทำอีกมากเพื่อจะสร้างสังคมที่ยุติธรรมและเท่าเทียมกัน

“มันยังมีกฎหมายในหลาย ๆ รัฐที่อนุญาตให้นายจ้างปลดพนักงานออกเนื่องจากรสนิยมทางเพศของพวกเขาเท่านั้น ยังมีเจ้าของบ้าน ห้องเช่า มากมายที่ขับไล่ผู้เช่าออกเพราะเป็นเกย์ หรือไม่อนุญาตให้เข้าไปเยี่ยมคนรักของพวกเขา ผู้คนนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะเด็ก ๆ ต้องเผชิญหน้ากับความหวาดกลัวและถูกล่วงละเมิดทุกวันเพราะรสนิยมทางเพศของพวกเขา”

แม้คุกจะไม่ได้นับว่าตัวเองเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของเกย์ แต่เขาตระหนักว่าตัวเองได้รับประโยชน์อย่างมากจากการเสียสละของนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิที่เท่าเทียมกันตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

“ผมต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่ทางเลือกที่ง่ายเลย ความเป็นส่วนตัวยังถือว่าสำคัญมาก ๆ สำหรับผมและยังต้องการรักษามันไว้สักเล็กน้อย ดังนั้นหากการได้เห็นว่าซีอีโอของ Apple เป็นเกย์แล้วมันสามารถช่วยให้ใครสักคนที่กำลังพยายามที่ยอมรับในสิ่งที่ตัวเขาหรือเธอเป็น หรือถ้ามันจะช่วยปลอบประโลมใครสักคนที่รู้สึกโดดเดี่ยว หรือเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนลุกขึ้นมายืนหยัดต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของพวกเขา มันก็คุ้มแล้วที่จะแลกด้วยความเป็นส่วนตัวของผมเอง”

ที่มา:
CNBC The Guardian
Bloomberg Business Insider
ภาพ: Apple

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส