โซ่ว จื่อ โจว (Shou Zi Chew) ซีอีโอของ TikTok ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘The David Rubenstein Show’ เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากเข้ารับตำแหน่งได้เกือบปี ถึงความท้าทายและอนาคตสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับ TikTok หลังจากเขาเข้ามารับตำแหน่ง ในวิดีโอสัมภาษณ์เราจะเห็นว่าโจวไม่ได้พูดถึงคู่แข่งคนอื่น ๆ ในตลาดเลย ไม่ว่าผู้สัมภาษณ์จะถามอย่างตรงไปตรงมาเลยว่า “ถ้า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) มายืนตรงนี้ คุณก็จะบอกว่าไม่ต้องสนใจเราอย่างนั้นเหรอ?” ซึ่งโจวตอบว่า “อาจจะฟังดูซ้ำซากนะครับ แต่ในระยะยาวแล้วคู่แข่งของเราคือตัวเราเองมากกว่า” เพราะเขาเชื่อว่า “TikTok ยังพัฒนาไปได้อีกเยอะเพราะยังเป็นบริษัทที่เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น”

แม้จะเพิ่งก่อตั้งมาในปี 2016 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า TikTok ได้กลายเป็นแอปพลิเคชันที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการโซเชียลมีเดียที่ถูกครองตลาดโดยยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่เจ้ามานานหลายปี หลายคนบอกว่ามันเป็น “ลมหายใจใหม่” ของวงการ อีกส่วนหนึ่งบอกเป็น “แสงสว่างบนโลกโซเชียลมีเดีย” ที่พึ่งพาระบบอัลกอริทึมช่วยดันคอนเทนต์ที่น่าสนใจให้กลายเป็นไวรัลมากกว่าพึ่งพาจำนวนผู้ติดตามอย่างโซเชียลมีเดียแบบดั้งเดิม ทำให้คนที่สร้างคอนเทนต์สนุก ๆ สามารถมีชื่อเสียงขึ้นมาได้โดยพึ่งพาความสามารถของตัวเอง (ดูอย่าง คาบี ลาเม (Khaby Lame) ก็ได้)

TikTok มีผู้ใช้งานมากกว่า 1,000 ล้านคนต่อเดือนไปแล้ว ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างรวดเร็วและก็ได้รับความสนใจอย่างมากจากสื่อ ผู้ใช้งาน และแน่นอนนักลงทุน แม้บริษัทจะยังไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้น แต่ก็น่าจับตามองว่าต่อจากนี้จะเป็นยังไงเพราะหลังจากที่ตำแหน่งซีอีโอของบริษัทถูกทิ้งร้างไว้มานานหลายเดือนตั้งแต่ เควิน เมเยอร์ (Kevin Mayer) ลาออกไปในเดือนสิงหาคม 2020 (วาเนสซา พาพาส (Vanessa Pappas) ประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์ขึ้นรับตำแหน่งชั่วคราว) ตอนนี้พวกเขาได้โจว ซีอีโอหนุ่มคนใหม่ชาวสิงคโปร์เข้ารับตำแหน่งเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2021 เรียบร้อยแล้ว ที่สำคัญก่อนหน้านี้เคยทำงานตำแหน่งซีเอฟโอของ Xiaomi และเป็นส่วนพาบริษัทเข้าตลาดหุ้นของฮ่องกงได้สำเร็จมาแล้วด้วย

โจวเกิดและโตที่สิงคโปร์ในครอบครัวระดับกลางถึงบน หลังจากเรียนจบมัธยมปลายก็ขวนขวายไปเรียนต่อต่างประเทศเพราะรู้สึกว่าสิงคโปร์แม้จะเป็นประเทศที่มีความเจริญ แต่อยากออกไปเรียนรู้โลกที่กว้างกว่านี้ “ผมรู้ว่าตัวเองอยากเห็นโลกให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้” เขากล่าวในพิธีจบการศึกษาของ University College London (UCL) ในช่วงเดือนมีนาคม 2022 ในฐานะอดีตนักเรียนที่จบไปจากที่นี่เมื่อหลายปีก่อน

หลังจากจบมัธยมปลายเขาก็สมัครไปเรียนที่ UCL คณะเศรษฐศาสตร์ที่ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยชื่อดังทางด้านนี้ การตัดสินใจครั้งนี้ทำให้เขาสามารถเติมความรู้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องการเงินและธุรกิจ เรียนจบมาในปี 2008 ก่อนจะไปเรียนต่อปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจที่ Harvard อีกสองปี แม้ว่าตอนแรกเขาจะยังลังเลกับการตัดสินใจก็ตาม

​“ผมจำได้ว่าไม่มั่นใจกับการตัดสินใจเลย คิดอยู่ว่ามันจะช่วยเรื่องงานหรือจะยิ่งทำให้มันช้าลงไปอีก”

Shou Zi Chew และภรรยา Vivian Kao

แต่การไปเรียนที่ปริญญาโทต่อนั้นถือเป็นการตัดสินใจที่ดีสำหรับเขา นอกจากจะได้พบกับภรรยาแล้ว ยังมีโอกาสได้ไปฝึกงานที่ Facebook ระหว่างที่ยังเป็นสตาร์ตอัป นอกจากนั้นยังได้เรียนรู้ผ่านคอร์สเรียนที่นำพวกเคสธุรกิจต่าง ๆ มาศึกษาจริง ๆ แถมยังมีเพื่อนที่มีความสามารถเต็มไปหมด เขากล่าวว่า

“HBS [Harvard Business School] ได้ทำให้ผมได้เห็นมุมมองต่าง ๆ มากมายที่ไม่เคยมีโอกาสได้เห็น แพลตฟอร์มที่ HBS มอบให้เรานั้นได้ช่วยทำให้เราประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในส่วนนี้ของโลก”

เมื่อออกจากรั้วมหาวิทยาลัยโจวได้งานที่โกลด์แมน ซาคส์ (Goldman Sachs) วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาซึ่งถือว่าเป็นก้าวแรกในชีวิตการทำงานที่เริ่มต้นได้เป็นอย่างดี ทำตรงนั้นอยู่ 2 ปีก่อนจะย้ายไปที่บริษัทลงทุนเล็ก ๆ อีกแห่งหนึ่งชื่อ DST Global ซึ่งที่นี่เองที่เขาได้ติดต่อกับบริษัท ByteDance (บริษัทแม่ของ TikTok) เป็นครั้งแรก ซึ่งขณะนั้นยังเป็นสตาร์ตอัปขนาดเล็กจากประเทศจีน เขาเป็นผู้นำทีมของนักลงทุนไปลงเงินใน ByteDance ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ และติดต่อกันมาตลอดตั้งแต่ตอนนั้น

หลังจากอยู่ที่ DTS Global ได้อีกประมาณ 5 ปี ก็ได้ร่วมงานกับบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่อีกเจ้าหนึ่งของจีนที่เราน่าจะรู้จักกันดีนั่นคือ Xiaomi ในตำแหน่งซีเอฟโอและประธานฝ่ายธุรกิจต่างประเทศ ก่อนจะช่วยนำ Xiaomi เข้าตลาดหุ้นฮ่องกงได้สำเร็จ อยู่ที่นั้น 5 ปี ก่อนจะถูก จาง อีหมิง (Zhang Yiming) ผู้ก่อตั้ง ByteDance ชวนให้รับตำแหน่งซีเอฟโอของ ByteDance ในเดือนมีนาคม 2021 และโปรโมตให้มาเป็นซีอีโอของ TikTok ในเดือนพฤษภาคม 2021 ต่อมาในภายหลัง

อีหมิงบอกว่าโจว “นำเอาความรู้เชิงลึกของบริษัทและอุตสาหกรรมมาด้วย การนำทีมของนักลงทุนกลุ่มแรก ๆ ในบริษัทเรา และทำงานในส่วนของเทคโนโลยีมาเป็นสิบปี”

แม้เส้นทางที่ผ่านมาดูประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม โจวยอมรับว่าเขามีสับสนและไขว้เขวอยู่บ้างระหว่างทาง โดยเฉพาะตอนที่ตัดสินใจไปเรียนต่อที่อเมริกา “หลังจากที่เรียนจบผมไม่รู้เลยว่าอยากทำอะไรหรือชีวิตจะพาไปไหน มองย้อนกลับไปมันไม่ได้มีแผนการอะไรที่ยิ่งใหญ่ ผมแค่ทำงานหนักกับสิ่งที่ตัวเองมี เอาตัวเองออกไปเจอสิ่งใหม่ ๆ และลองทำเมื่อโอกาสเข้ามาถึงมือ”

เขากล่าวถึงช่วงเวลาที่ได้ทำงานให้กับโกลด์แมน ซาคส์ว่าตัวเองไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนเลย แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกยอมแพ้หรือไม่อยากทำ

“ผมไม่ได้มีประสบการณ์ลงทุนอะไรเลยตอนนั้น แต่ก็ลองเรียนรู้ดูเรื่อย ๆ ผลักตัวเองให้ออกจากคอมฟอร์ตโซน และผมก็ได้เจอกับผู้ก่อตั้งบริษัทหลายคนในช่วงเวลานั้น รวมถึงผู้ร่วมก่อตั้ง ByteDance และ TikTok ด้วย และหลายปีต่อมาผมก็พบตัวเองรับงานปัจจุบันกับ TikTok แล้ว”

เมื่อถูกถามในการสัมภาษณ์ว่า “เป้าหมายคือการเข้าตลาดหุ้นรึเปล่า?” โจวคิดนิดหนึ่งแล้วก็ตอบว่า “ตอนนี้เรายังโฟกัสที่ธุรกิจของเราก่อน มีอีกหลายอย่างมากที่เราจะทำสำหรับ TikTok นั่นคือสิ่งที่เราต้องโฟกัสคือขยายธุรกิจออกไป และทำให้แน่ใจว่าเราลงทุนไปกับสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อถึงเวลานั้นเราคงเข้าตลาดหุ้น เมื่อถึงเวลา แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้”

ต้องยอมรับว่าโจวเข้ามารับตำแหน่งที่ถือว่างานหินสุด ๆ งานหนึ่งเลย ต้องคอยแก้ปัญหาและตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย เรื่องข้อมูลของผู้ใช้งาน เรื่องความไม่เชื่อใจจากรัฐบาลสหรัฐ และข่าวลืออีกมากมายที่บอกว่าเขาเป็นเพียงหัวโขนหนังหน้าไฟเพื่อจะสร้างภาพลักษณ์ของความเชื่อมั่นให้กับคนภายนอก โดยมี ByteDance ซึ่งเป็นบริษัทจีนควบคุมอยู่เบื้องหลัง

เป้าหมายระยะสั้นของเขาในฐานะซีอีโอ คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งานว่าคอนเทนต์ที่ถูกนำขึ้นไปบนระบบนั้นได้ผ่านการตรวจสอบ ไม่ผิดกฎหมาย ไม่นำเสนอความรุนแรง หรือเรื่องลามกอนาจาร ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยปรับตัวให้เข้ากับข้อกำหนดทางกฎหมาย พิสูจน์ให้เห็นว่า TikTok แม้จะเป็นบริษัทลูกของ ByteDance ก็เป็นบริษัทที่ปลอดภัยในการใช้งานโดยชี้แจงเรื่องฐานข้อมูลที่ตั้งอยู่ในประเทศอเมริกาและสิงคโปร์ว่าปลอดภัยอย่างแน่นอน

“เรายังเป็นบริษัทที่เพิ่งก่อตัว และผมก็คิดว่าความเชื่อใจเป็นอะไรที่เราจะได้รับผ่านการลงมือทำ ยกตัวอย่างเช่นการลงทุนอย่างต่อเนื่องในเรื่องความปลอดภัย ไม่ใช่แค่การขยายธุรกิจ แต่เป็นการสร้างความเชื่อใจกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั่วโลกตลอดเส้นทาง”

โจวเพิ่งรับตำแหน่งไปได้ประมาณปีกว่า ๆ เราเห็นฟีเจอร์ใหม่ ๆ อย่างการเปิด Live Stream หรือ E-commerce ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับคอนเทนต์ครีเอเตอร์มากมาย แต่เชื่อว่าต่อจากนี้งานของโจวจะยากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อคู่แข่งอย่าง Facebook, Instagram หรือ YouTube ต่างเริ่มเข้ามาสู้ในตลาดคอนเทนต์วิดีโอสั้นและทุ่มเงินมหาศาลเพื่อดึงเอาคนกลับมาอยู่แพลตฟอร์มของตัวเอง

TikTok จะต้องสร้างความแตกต่างต่อไป ตอนนี้พวกเขาต้องกลับมามองจุดแข็งของตัวเองและพัฒนาต่อยอดจากตรงนั้น อย่างที่โจวกล่าวตั้งแต่แรกว่าการโฟกัสไปที่คู่แข่งก็คงไม่ได้ช่วยอะไร และในระยะยาวคนที่จะทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จได้ก็คือตัวเองนั่นแหละ

ที่มา:
Study International YouTube
Alumni HBS The NY Banner
The New York Times

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส