เรียกว่าปล่อยคนละหมัดกันไปแล้วในยกแรกของการปะทะกันระหว่างไมโครซอฟท์ (Microsoft) และ กูเกิล (Google) ในช่วงไม่นานที่ผ่านมา นี่คือสัญญาณของสงครามเสิร์ชเอนจิน (Search War) ครั้งใหม่ที่กำลังปะทุขึ้นอีกครั้ง แต่ครั้งนี้สิ่งที่น่าจับตามองก็คือว่าพื้นฐานของการแข่งขันนั้นต่างออกไป ไม่ใช่แค่เพราะไมโครซอฟท์มีของเล่นชิ้นใหม่อย่าง ChatGPT ที่เป็นเทคโนโลยี AI อันชาญฉลาดจาก OpenAI อยู่เบื้องหลังเท่านั้นด้วย

ถ้าย้อนไปยังสงครามเสิร์ชเอนจินครั้งก่อนระหว่างสองยักษ์ใหญ่แห่งเทคโนโลยีนี้จะทราบดีว่ากูเกิลชนะแบบขาดลอยด้วยเหตุผลที่เรียบง่าย คู่แข่งในตลาด (แน่นอนว่าไมโครซอฟท์ก็อยู่ในนั้นด้วย) ไม่สามารถสร้างอะไรใหม่ ๆ ที่แตกต่างมากพอที่จะมางัดกับความสามารถของกูเกิลในการค้นหาและแบรนด์ที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว ที่จริงแล้วในครั้งนี้แม้ว่า Bing (เสิร์ชเอนจินของไมโครซอฟท์) จะเอา ChatGPT แชตบอทแสนฉลาดจาก OpenAI มาใช้ หรือ กูเกิลจะเปิดตัว Bard (แชตบอทของตัวเอง) ได้อย่างน่าผิดหวัง สุดท้ายแล้วคนก็อาจจะยังกลับไปใช้กูเกิลอยู่ดีในท้ายที่สุด

แต่สิ่งที่ทำให้สงครามเสิร์ชเอนจินครั้งนี้ต่างออกไปจากครั้งก่อนคือไมโครซอฟท์มีอาวุธในมืออีก 4 อย่างที่สามารถดึงออกมาใช้ได้ นั่นแหละที่ทำสงครามครั้งนี้ข้อสรุปปลายทางยังไม่แน่นอนและบัลลังก์ราชาแห่งเสิร์ชเอนจินของกูเกิลมีโอกาสที่สั่นสะเทือนได้จริง ๆ

  1. ปัจจัยแรกคือเรื่องของเงิน ค่าใช้จ่ายในการ ‘อ่าน’ เว็บไซต์ต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตด้วยการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing – NLP เป็นเทคโนโลยีแมชชีนเลิร์นนิ่งที่ช่วยให้คอมพิวเตอร์สามารถตีความ จัดการ และทำความเข้าใจภาษามนุษย์ได้) เพื่อฝึกแชตบอทเพื่อให้ตอบคำถามของผู้ใช้งานนั้นต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งไม่ได้หมายความว่ากูเกิลไม่มีเงิน เพียงแต่ สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) บอกกับสื่ออย่าง Financial Times อย่างชัดเจนว่า ‘พร้อมที่จะลดสัดส่วนของกำไรในโฆษณาลง’ เพื่อจะนำเงินส่วนนั้นมาใช้เพื่องัดกับธุรกิจหลักของกูเกิลโดยเฉพาะ
  2. ประการที่สองที่ครั้งนี้ไมโครซอฟท์อาจจะมีไพ่ในมือที่เหนือกว่าคือเบราว์เซอร์ที่เรียกว่า ‘Edge’ นั่นเอง ที่ผ่านมาเมื่อเราพูดถึงสงครามเสิร์ชเอนจิน คนก็จะคิดถึงแค่ Bing กับ Google แต่ครั้งนี้ไมโครซอฟท์ได้เปรียบตรงนี้พวกเขาเอาแชตบอทไปฝังไว้ในเบราว์เซอร์ Edge ของตัวเองเลย กดปุ่มเดียวก็สามารถให้ AI สรุปเนื้อหาหน้าเว็บไซต์นั้น (สมมุติกำลังอ่านงบการเงินของบริษัทยาว 20-30 หน้า) ให้เหลือแค่เนื้อหาที่สำคัญ ๆ ได้ทันที

    แต่ที่ Edge ทำให้ไมโครซอฟท์ได้เปรียบคือ ตอนนี้ในตลาดผู้ใช้งานเบราว์เซอร์ Edge ถือครองตลาดอยู่ 11% ซึ่งแม้จะดูไม่มาก แต่เมื่อเทียบกับตลาดเสิร์ชเอนจินที่พวกเขามีแค่ 3% นั้นก็ถือว่าเป็นสัดส่วนผู้ใช้งานขั้นต้นที่เยอะอยู่ เป็นเหมือนหัวหาดเพื่อให้คนได้เข้ามาลองใช้ระบบการค้นหาแบบใหม่ของพวกเขาด้วย
  1. อย่างที่สามคือครั้งนี้ไมโครซอฟท์เร็วกว่าก้าวหนึ่ง การเปิดตัวของ ChatGPT เมื่อปลายปีที่ผ่านมาสร้างเสียงฮือฮาอย่างมากในกลุ่มผู้ใช้งานและสร้างปรากฏการณ์ที่ทำสถิติใหม่มีผู้ใช้งานแตะล้านคนได้ภายในเวลาเพียงแค่ 5 วัน ซึ่งที่จริงแล้วไมโครซอฟท์ได้ลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัป OpenAI ไปแล้วกว่า 1,000 ล้านเหรียญตั้งแต่เมื่อสามปีก่อน และในระหว่างนั้นก็เตรียมโครงสร้างของเสิร์ชเอนจินและผลิตภัณฑ์ของตัวเองเพื่อรองรับการนำเทคโนโลยี AI ตัวนี้มาใช้

    แน่นอนว่ากูเกิลก็มีประสบการณ์มายาวนานในด้านของ AI เพียงแต่รอบนี้ไมโครซอฟท์จะถือไพ่ดีกว่านิดหน่อยในการสร้างมาตรฐานและทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าเป็นผู้นำของตลาดครั้งใหม่
  1. เครือข่ายของลูกค้าทางธุรกิจที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์ นี่คืออาวุธอีกอย่างหนึ่งที่แข็งแกร่ง เพราะอย่าลืมว่า Microsoft Words หรือ Excel ก็ยังถือว่าเป็นเครื่องมือมาตรฐานที่มีผู้ใช้งานหลายล้านคนทั่วโลก ต่อไปถ้าไมโครซอฟท์นำ AI เข้าไปช่วยทำงานอยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์เหล่านี้ จะทำให้ผู้ใช้งานสะดวกมากขึ้นอย่างมาก

ลองจินตนาการว่าเรากำลังเขียนรายงานเกี่ยวกับตลาดหุ้นอเมริกาในยุคภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ผ่านมาตลอด 50 ปี เราสามารถพิมพ์ถามแชตบอทใน Microsoft Words ได้เลยเช่น “สรุปมาให้หน่อยว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ผ่านมาตลอด 50 ปีที่ผ่านมาในอเมริกามีเหตุการณ์อะไรบ้าง แยกตามความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจและผลกระทบที่มีต่อสังคม” มันก็จะพิมพ์ตอบกลับมาให้พร้อมกับลิงก์อ้างอิงไปยังแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้เราตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง (ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ก็จะมีความสามารถพวกนี้เช่นกัน)

สิ่งเหล่านี้ทำให้สงครามเสิร์ชเอนจินครั้งนี้น่าสนใจ มุมมองที่เรามีต่อการค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตจะเปลี่ยนไป ความสำเร็จจะไม่ใช่แค่การหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องและถูกต้องในการค้นหาของผู้ใช้งานเท่านั้น แต่ต้องก้าวไปอีกขั้นในการทำให้ข้อมูลเหล่านั้นอยู่ในรูปแบบที่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดด้วย ไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรก็ตาม

ไม่ได้หมายความว่าเสิร์ชเอนจินแบบเดิมจะหายไปหรอกนะ เพราะนิสัยเดิมในการเปิดเบราว์เซอร์เพื่อค้นหาข้อมูลของเราก็คงไม่ตายง่าย ๆ แต่วิธีการใช้งานของการเสิร์ชหาข้อมูลที่สะดวกและง่ายกว่าจะเริ่มเข้ามามีบทบาทที่มากขึ้นและเราอาจจะเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ น้อยลงไปด้วย (ซึ่งตอนนี้ต้องมาดูกันต่อว่าเว็บไซต์ที่ก่อนหน้านี้สร้างรายได้จากการทราฟฟิกที่คนเข้าเว็บไซต์จะปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงนี้ยังไง)

นี่คือตลาดเสิร์ชเอนจินมูลค่า 167,000 ล้านเหรียญ (5.7 ล้านล้านบาท) ซึ่งที่ผ่านมานั้นไมโครซอฟท์ถือว่าได้ส่วนแบ่งจากตรงนี้น้อยมาก ๆ ทั้งที่มันเป็นส่วนสำคัญของชีวิตผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทุกคนเป็นอย่างมาก

แน่นอนว่ากูเกิลก็คงไม่ยอมที่จะยกธงขาวยอมแพ้กับสงครามครั้งนี้ง่าย ๆ ยังไงก็ยังเป็นเจ้าใหญ่ มีทั้งความเชื่อมั่นของลูกค้า แบรนด์ที่แข็งแกร่ง พนักงานที่มีความสามารถ และความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยี AI ที่สั่งสมมานานหลายปี แต่การเผชิญหน้ากับไมโครซอฟท์จะไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนเมื่อก่อน และมันก็แสดงออกมาให้เห็นในราคาหุ้นที่ร่วงลงแทบจะทันทีตอนที่แชตบอต Bard ของกูเกิลแสดงข้อมูลที่ผิดพลาดในวิดีโอเดโมเปิดตัว

สงครามครั้งนี้เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น ไม่มีใครทราบว่าอนาคตจะเป็นยังไง กูเกิลอาจจะล้มหรือส่วนแบ่งในตลาดหายไปอย่างมาก หรือบางทีทุกอย่างกูเกิลอาจจะแก้เกมแล้วพลิกกลับมาชนะอย่างขาดลอยอีกครั้งก็ได้ เพราะอย่าลืมว่าถึงแม้ตอนนี้ไมโครซอฟท์อาจจะดูว่ามีข้อได้เปรียบในมือที่ ‘พอจะ’ สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับ Google ได้ แต่ถ้าพวกเขาไม่สามารถสร้างความแตกต่างที่ชัดเจนหรือทำให้ลูกค้าไว้ใจและใช้งานได้อย่างจริง ๆ อีกครั้ง ข้อได้เปรียบเหล่านี้ก็ไร้ประโยชน์อยู่ดี

ที่มา:
Financial Times Financial Times
The Verge Business Research Insights

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส