หากใครยังจำกันได้ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้นำเสนอนโยบาย ‘กรุงเทพฯ 9 ดี’ อันประกอบไปด้วย ปลอดภัยดี, สุขภาพดี, สร้างสรรค์ดี, สิ่งแวดล้อมดี, บริหารจัดการดี, เรียนดี, โครงสร้างดี, เศรษฐกิจดีและเดินทางดี ซึ่งหนึ่งในหมวด 9 ดี ในด้านสิ่งแวดล้อมดี ผู้ที่อยู่เบื้องหลังคือ พรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ เจ้าของนโยบายสิ่งแวดล้อมกว่า 34 นโยบาย ซึ่งเป็นนโยบายที่มีมากเป็นอันดับที่ 3 ในหมวด 9 ดี แล้วทำไมเรื่องสิ่งแวดล้อมต้องสำคัญขนาดนั้น?

พรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่ากทม. (รับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม)

คุณพรพรหมเล่าว่า “สมัยก่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมคนมักจะพูดถึงน้อย เพราะคิดว่าถ้าเราไปทำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก ๆ จะทำให้เศรษฐกิจไม่ดี จึงเป็น Passion แรกที่ผมอยากจะนำสองสิ่งนี้มาจับเข้าด้วยกัน ทำให้นโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่า BCG (Bio Circular Green Economy) เป็นคอนเซ็ปต์ของประเทศไทยเรา โดยเน้นการส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว

เลยเป็นที่มาให้เขาหันมาเน้นที่สิ่งแวดล้อมเป็นหลัก จากเดิมที่เรียนเกี่ยวกับการต่างประเทศมา ถึงแม้ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอะไรที่ค่อนข้างใหญ่ แต่ก็เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวคนที่สุดในเวลาเดียวกัน เช่น เรื่องอากาศหรือการจัดการขยะให้ถูกวิธี หากเราจัดการเรื่องใกล้ตัวได้ก็จะส่งผลไปถึงระดับประเทศด้วย ผมจึงสนใจเรื่องมิติสิ่งแวดล้อมของเมือง และมีโอกาสได้ร่วมงานกับท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ ทำนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงการทำงานกับ UN Environment Programme (หรือ UNEP) ที่ได้ทำเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและขยะด้วยเช่นกัน”

ต่างประเทศมีอะไร?

ผมเคยไปเรียนที่ลอนดอนตอนช่วงปริญญาตรี ที่นั่นผมเห็นอยู่ 2 อย่าง หนึ่งคือจะมีสวนหย่อมเล็ก ๆ อยู่ในทุกมุมของเมือง เป็นสวนหย่อมที่ภาครัฐทำด้วย รวมถึงประชาชนร่วมมือกันทำขึ้นมา ซึ่งอันนี้เป็นแรงบันดาลใจมาสู่นโยบาย ‘สวน 15 นาที’ ด้วย

อีกเรื่องคือการดูแลสภาพอากาศของอังกฤษก็ทำได้ค่อนข้างดี ที่ลอนดอนจะมีพื้นที่ที่เรียกว่า Congestion Charge หรือพื้นที่ที่เก็บค่าธรรมเนียมจากการจราจรคับคั่ง เรียกได้ว่าเป็นไข่แดงของเมือง คือถ้าอยากขับรถเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวคุณต้องเสียเงิน ตอนแรกผมมองว่า Congestion Charge เป็นการแก้ปัญหาเรื่องรถติด แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่เมืองได้ประโยชน์ตามมาคือเรื่องการลดมลพิษทางอากาศ ซึ่งเขาใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาแก้ปัญหา แทนที่จะไปห้ามให้ขับรถเข้ามา ถ้าคุณอยากเข้าคุณก็จ่ายเงินสิ

ต่อมาปริญญาโทผมย้ายไปเรียนนี่นิวยอร์ก ผมได้เห็นการต่อยอดพื้นที่รกร้างเอามาสร้างเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ โดยที่มีภาคีภาคประชาสังคม รวมถึงประชาชนเข้ามามีส่วมร่วมในการออกแบบ โดยที่ภาครัฐไม่ต้องออกแรงมาก ผมก็ได้แรงบันดาลใจจากที่นี่เช่นกัน เพราะในกรุงเทพฯ เองก็มีพื้นที่รกร้างเยอะ และการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมก็เป็นหัวใจสำคัญของนโยบาย ‘สวน 15 นาที’ อีกเช่นกัน

สวน 15 นาที

สวน 15 นาที เป็นหนึ่งในหมวด 9 ดี ในด้านสิ่งแวดล้อมดี เป็นคอนเซ็ปต์ที่ไม่ได้จำกัดว่าสวนจะต้องขนาดไหน จะเล็กจะใหญ่ก็ได้ แต่คำว่า 15 นาทีหมายถึงการเข้าถึง ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนในละแวกก็สามารถเดินมาที่สวนได้ภายใน 15 นาที หรือประมาณ 800 เมตร

เราตั้งเป้าไว้ที่ 500 สวนในกทม. ตัวเลขนี้ไม่ได้คิดขึ้นมาเล่น ๆ เรามีสูตรว่า สวน 1 แห่งต้องครอบคลุมพื้นที่ 3 ตร.กม. ซึ่งเมื่อเทียบกับขนาดของกทม.กว่า 1,500 ตร.กม. จึงเท่ากับปริมาณสวน 500 แห่งพอดี

ข้อมูลความหนาแน่นของประชากรกับพื้นที่สีเขียว อ้างอิงข้อมูลจาก mapmap! Map for Our Better Cities

ปัจจุบันมีสวน 15 นาทีประมาณ 250 สวน (สวนเดิมประมาณ 200 สวน และสวนสร้างใหม่ 50 สวน รวมถึงที่ที่พร้อมทำสวนเพิ่มอีกกว่า 100 แห่ง) ซึ่งการทำสวน 15 นาที เราอาศัยข้อมูล (Data) มาช่วยทำให้เรารู้ว่าในกทม. ต้องการพื้นที่สีเขียวขนาด 800 เมตรเพิ่มตรงไหนบ้าง และพื้นที่ตรงไหนยังขาดอยู่ เราก็ไปเช็กความหนาแน่นของประชากรและความเขียวขจีในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งมีประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์ เราไม่ได้สร้างสวนเพราะเห็นว่ามีที่ว่าง แต่สร้างสวนขึ้นมาเพื่อให้คนในพื้นที่ใช้และเกิดประโยชน์สูงสุด

ก่อนที่เราจะทำสวน เรามีการเซอร์เวย์กับชุมชนในพื้นที่ มาช่วยออกแบบและสอบถามความต้องการของคนในชุมชน อย่างที่นี่ (สวน 15 นาทีหลังตลาดแสงจันทร์) เรามีพื้นที่ตรงกลางให้คนสูงอายุได้ออกกำลังกายแอโรบิก และมีพื้นที่รอบ ๆ รวมถึงเครื่องเล่นให้เด็กเล่นได้

รู้หรือไม่ว่าสถานที่ที่มีพื้นที่ว่างเยอะคือวัด วัดมีลานจอดรถหรือที่รกร้างในวัด หลายวัดก็ยินดีที่จะเปิดให้เป็นสวน 15 นาที ซึ่งทีมของผมมีการใช้ข้อมูล ของวัดในกทม.มาใช้หาพื้นที่สวน 15 นาทีด้วย โดยให้แต่ละเขตช่วยคุยกับวัดในการเปิดพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีที่เอกชนที่ยินดีมอบให้เราเอามาใช้ทำสวน 15 นาทีอีกด้วย

บรรยากาศสวน 15 นาทีหลังตลาดแสงจันทร์

ตอนนี้เรามีตัวเลขที่บอกว่าคนเข้าถึงสวนภายใน 15 นาทีอยู่ที่ 30% จากตอนแรกมีแค่ประมาณ 10% แต่ต่อไปเราต้องเพิ่มให้ถึง 50% ให้ได้ หรือพูดง่าย ๆ ว่า คนกรุงเทพฯ ครึ่งหนึ่งต้องเข้าถึงสวนได้นั่นเอง คือถ้าเราเพิ่มสวนแต่คนไม่ได้เข้าไปใช้มันก็ไม่ประสบผล แล้วการเพิ่มสวนต้องได้คุณภาพ ไม่ใช่แค่การปรับภูมิทัศน์ เราจะมีเกณฑ์ว่าจะเป็นสวน 15 นาทีต้องมี ที่พักผ่อนหย่อนใจ มีต้นไม้ มีพื้นที่ออกกำลังกาย มีพื้นที่ให้เด็กเล่น บางที่อาจจะมีสวนผักคนเมืองที่คนเข้ามาปลูกได้ด้วย

Dog Park ใกล้ ๆ กับสวน 15 นาทีหลังตลาดแสงจันทร์

ส่วนเรื่องฝุ่นเองเราต้องมีการประสานงานกับรัฐบาลกลาง เพราะแหล่งกำเนิดใหญ่อาจไม่ได้อยู่ในกทม. ไม่ว่าจะหน้าไหนกทม. จะมี base line ของฝุ่นอยู่ที่ประมาณ 20 – 30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่หลัก ๆ มาจากจราจร แต่ในวันที่มีปัจจัยอื่น เช่น การเผาชีวมวล อาจทำให้ค่าฝุ่นเพิ่มขึ้นและเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวเองก็เป็นเหมือนฝาชีที่ครอบเมืองไว้ ทำให้ฝุ่นไม่สามารถระบายอากาศ ทางกทม.ก็มีระบบในการช่วยเตือนประชาชนล่วงหน้าได้ว่าวันไหนค่าฝุ่นสูงกว่าปกติ แนะนำให้ใส่แมสก่อนออกจากบ้าน

กำจัดขยะให้ถูกวิธี

ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมในกทม. ที่ควรได้รับการแก้ไขด่วนที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องอากาศและขยะ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องขยะ เพราะเป็นหน้าที่ของกทม.โดยตรง ทั้งการทำให้การจัดเก็บและคัดแยกมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งการทำงานกับกทม. ทำให้ผมสามารถนำงานที่เคยศึกษามาใช้จริงได้เลย เป็นการแก้ปัญหาเชิงรับในด้านสิ่งแวดล้อมดี

ชมคลิปแบไต๋ร่วมเก็บขยะกับผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

กทม. ทำงานเกี่ยวกับเรื่องขยะในทุกมิติ ตั้งแต่การส่งเสริมการไม่สร้างขยะตั้งแต่แหล่งกำเนิด อาทิ ชุมชน ตลาดหรือห้างสรรพสินค้า การกำจัดขยะด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ฝั่งกลบ เตาเผาหรือทำปุ๋ยหมัก หรือระบบการจัดเก็บด้วยรถขยะที่ไปให้บริการทุกคืน อย่างตอนนี้เรามี GPS ช่วยติดตามรถขยะทุกคัน ทำยังไงให้จะสามารถเก็บขยะได้มากขึ้นในเส้นทางที่ดีที่สุด เหมือนคุณทำระบบโลจิสติกส์ เมื่อเรามีข้อมูลแล้วต้องนำมาวิเคราะห์ต่อได้ มิฉะนั้น GPS ที่ติดตั้งไว้ก็ไม่เกิดประโยชน์

การทำงานของเรากับกทม. มี 2 รูปแบบ คือทำงานให้ได้ตามเป้า อย่างสวน 15 นาที หรือต้นไม้ 1 ล้านต้น มีตัวเลขกำกับอยู่ ตอนนี้ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น แต่อีกส่วนคือการจัดการระบบที่ต้องทำให้การทำงานดีขึ้น เช่น การเก็บขยะเรามีแผนว่าต้องเก็บขยะในครัวเรือนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เรามีเป้าที่จะลดขยะด้วยวิธีการรณรงค์ไม่เทรวม การแยกขยะในห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ทำให้ปริมาณขยะจากเดิมมีมากถึงวันละ 10,000 ตัน แต่ 7 เดือนที่ผ่านมา ขยะลดลงวันละ 500 ตัน

รู้หรือไม่ว่า กทม.ใช้งบ 1,900 บาทในการจัดการขยะ 1 ตัน ซึ่งถ้าเราลดขยะได้กว่า 500 ตันต่อวัน ทำให้กทม. ประหยัดเงินไปกว่า 950,000 บาท ปีนึงจะลดรายจ่ายได้กว่า 346 ล้านบาทเลยทีเดียว

เงินจำนวนนี้สามารถไปลงทุนกับสิ่งแวดล้อมหรือการศึกษาต่อได้และเราภูมิใจมาก ๆ ที่เราทำได้ จริง ๆ แล้วเป้าหมายสูงสุดของเราคือการลดขยะของเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไม่ค่อยเห็นกันหรอก แต่มันมีตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เราทำมันมีผลจริง ๆ ซึ่งตัวเลขนั้นมาจากการที่เราชั่งน้ำหนักรถขยะทุกคันก่อนทิ้งแล้วพบว่ามันลดลงเกือบ 10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เมื่อเราทำสำเร็จแล้ว คนจึงจะค่อย ๆ อยากทำตามมากขึ้น

ทีมงานแบไต๋ถ่ายทำการคัดแยกขยะร่วมกับกทม.

สิ่งที่กทม.อยากทำให้ได้มากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องขยะคือ การจัดเก็บขยะตามประเภทในแต่ละวัน ซึ่งยังมีความท้าทายในการจัดการด้านโลจิสติกส์ รวมถึงมาตรการในเชิงกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจน

เรื่องขยะในประเทศไทยขึ้นกับพรบ.รักษาความสะอาดของกระทรวงมหาดไทยและพรบ.การสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุข เขียนว่า ท้องถิ่นมีหน้าที่ในการเก็บขยะและกำจัดขยะ แต่ประเทศอื่นกฎหมายเขาเขียนว่า ประชาชนมีหน้าที่คัดแยกขยะและจัดการขยะ แค่นี้ก็ต่างกันแล้ว

อย่างตอนนี้เวลากทม. เก็บขยะมาแล้วเราต้องจ่ายเงินค่านำขยะไปกำจัด แต่ในทางกลับกัน ถ้าเรามองขยะเป็นทรัพยากรจริง เราควรจะต้องมีรายได้จากการนำไปใช้ประโยชน์มากกว่า ดังนั้นคำถามคือเราจะทำยังไงให้มีการคัดแยกขยะ จนขยะกลายเป็นทรัพยากร และคนต้องการทรัพยากรเหล่านี้ให้ได้ แม้ผมจะทำไม่ได้ในช่วง 3 ปีนี้ แต่เราต้องปักหมุดให้ได้และท้องถิ่นต้องได้เงินจากขยะเหล่านั้น นี่คือเป้าหมายระยะยาวของเรา

ต้นไม้ 1 ล้านต้น

ส่วนการแก้ปัญหาเชิงรุกคือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือเพิ่มต้นไม้ ซึ่งเป็นอีกส่วนที่เราใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเยอะ เรามีนโยบายต้นไม้ 1 ล้านต้น (สามารถติดตามนโยบายได้ที่ https://tree.bangkok.go.th/) อย่างไรก็ตามมีข้อกังวลว่าจะมีพื้นที่ปลูกไหม จะมีคนมาช่วยปลูกรึเปล่า เราก็เลยลองดำเนินการดู โชคดีที่มีภาคเอกชนและประชาชนเข้ามาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก

การปลูกต้นไม้ของเราไม่ใช่ปลูกไปมั่ว ๆ แต่เราต้องรู้ด้วยว่าต้นไม้ต้นนั้นชนิดพันธุ์อะไร ปลูกอยู่ที่ไหน ใครเป็นคนปลูกและปลูกวันที่เท่าไหร่ ปัจจุบันยอดปลูกต้นไม้ที่ปลูกสำเร็จแล้วอยู่ที่ 651,763 ต้น (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ตุลาคม 2023) มียอดจองต้นไม้ไปแล้วกว่า 1.6 ล้านต้น ซึ่งเราจะเน้นที่ไม้ยืนต้น ที่มีประโยชน์ในการดูดซับคาร์บอนและช่วยกรองฝุ่น

ข้อมูลการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นในเว็บไซต์ tree.bangkok.go.th

ดาต้าของเรายังสามารถดูได้ว่าภาคเอกชนและเขตเข้ามาช่วยปลูกมากน้อยแค่ไหน ไปจนถึงดูรายละเอียดในแต่ละเขตได้เลยว่าปลูกต้นไม้ไปแล้วเท่าไหร่ ถ้าเขตไหนปลูกน้อยเราก็สามารถลงไปจี้ได้ ทำให้เห็นว่าเราสามารถใช้ข้อมูลในการประเมินผลแต่ละเขตได้นั่นเอง

อีกสองปีเราจะมีการตรวจสอบต้นไม้ทุกต้นด้วยเจ้าหน้าที่ (วัดความสูง ความกว้างและวงรอบของต้นไม้) ไปจนถึงวิเคราะห์อัตราการรอดของต้นไม้ เพื่อไปสู่เป้าหมายสำคัญคือ การทำดาต้าแบบนี้ช่วยให้รู้ว่าต้นไม้ทั้งหมดที่เราปลูกสามารถดูดซับคาร์บอนได้กี่กิโลตัน ซึ่งถ้าเราไม่ทำดาต้าไว้ไม่มีใครรู้หรอกว่าต้นไม้ที่เราปลูกไว้ตอนนี้ไปอยู่ที่ไหนแล้ว

ภาพ: ศักดนัย กลางประพันธ์
กราฟิกดีไซเนอร์: พัฒนพล หวังพิทักษ์วงศ์