ใครที่ชอบไปร้านอาหารที่ต้องรอคิวนาน ๆ น่าจะเคยเห็นหรือเคยใช้บริการแอป QueQ (คิวคิว) จองคิวกันมาบ้างแล้ว แต่รู้ไหมว่า QueQ นอกจากจะเป็นแอปที่สร้างโดยฝีมือคนไทยแล้ว ยังประสบความสำเร็จในไทย และเตรียมตัวจะกลับไปเฉิดฉายในตลาดต่างประเทศอีกครั้ง แม้จะต้องล้มลุกคลุกคลานเพราะสถานการณ์โควิด – 19 แต่ตอนนี้ โจ้ – รังสรรค์ พรมประสิทธิ์ ซีอีโอหนุ่มวัย 45 ปี บอกว่า QueQ อยู่ในช่วงขาขึ้นแล้ว เหลือแค่ทำมันยังไงให้ไปได้ไกลที่สุด 

จุดเริ่มต้น แอป QueQ

ผมอยู่ในวงการเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ มานานหลายปี จริง ๆ แล้วระบบช่วยจองคิว (Queuing Solution) มันมีมาเกิน 10 ปีแล้วนะ แค่มันยังไม่ตอบโจทย์และแก้ปัญหาให้กับผู้รับบริการไม่ได้ พอเรามองเห็นตรงนี้ เลยพยายามเปลี่ยนตัวเองจากบริษัทที่ทำด้านเทคโนโลยีให้คนอื่น เป็นการคิด Product ขึ้นมาแล้วใช้ความถนัดของเราสร้าง Product ตัวนั้น นี่คือโจทย์ที่เรามองเห็น ที่สำคัญเราทุกคนมีสมาร์ตโฟน และช่วงนั้นบริษัทเราก็รับงานสร้างแอปพลิเคชันอยู่แล้ว เลยมองว่าแอปพลิเคชันจะมาตอบโจทย์เรื่องนี้ได้

“การไปรับบัตรคิวทั้งหลาย มันต้องไปนั่ง ไปยืนรอคิวกันเหมือนเดิม มันแก้ปัญหาได้แค่ฝั่งผู้ประกอบการ” เพื่อให้จัดการลำดับใครมาก่อนหลังได้ แต่ผู้รับบริการมันมี Pain Point ที่เขาไม่ได้แก้ เราเลยยก Pain Point นี้ขึ้นมา โดยแก้ด้วยเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นแล้วในตลาดและช่วงเวลานั้น”

QueQ ทำอะไรได้บ้าง 

“จริง ๆ แล้วปัญหาลึก ๆ ของมันก็คือ ผู้ให้บริการไม่สามารถให้บริการได้ทันความต้องการของผู้รับในช่วงเวลานั้น” คุณโจ้เล่าต่อว่า แพลตฟอร์มที่เราพยายามจะสร้าง คือทำยังไงก็ได้ให้มันสมดุลกันทั้ง 2 ฝั่งเข้าด้วยกัน กลายเป็นที่มาของสโลแกนที่เราออกไปอย่างแรกคือ No More Queue Line ไม่เอาคิวไลน์แล้ว ไม่ต้องต่อแถวแล้ว ถ้าเราสร้างความสมดุลระหว่าง ดีมานด์กับซัปพลายช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งให้มันเท่ากัน มันก็ไม่ต้องมีคิว ทุกคนก็เข้ารับบริการตามเวลาไม่ต้องไปรอกัน นี่คือเนื้อในจริง ๆ ที่แพลตฟอร์ม QueQ ต้องการจะทำ และกลายเป็นที่มาที่เราก็สร้างระบบให้เหมาะกับ Segment ต่าง ๆ 

ที่คนรู้จักมากที่สุดน่าจะเป็นร้านอาหาร เพราะเป็นจุดที่คนมาออกันเยอะที่สุดแล้ว ร้านที่คิวเยอะ ๆ บางร้านไม่มีการจองโต๊ะล่วงหน้า ทุกคนต้องมาเข้าคิวเพื่อความเท่าเทียม ยิ่งช่วงกลางวันหรือเย็น ที่คนมารอคิวเยอะ ๆ เราก็แค่เกลี่ยโดยการให้คนที่จองคิวเสร็จแล้วไปเดินเล่น ชอปปิง ไปทำธุระอย่างอื่นก่อน โดยไม่ต้องยืนรอคิวอยู่เฉย ๆ ให้เสียเวลา เลยกลายเป็นที่มาของโซลูชันที่ว่า “ไปใกล้ ๆ บริเวณจองคิว และไม่ต้องรอหน้าร้าน” รอแค่มีการแจ้งเตือนไปว่ากลับมาได้แล้ว แล้วค่อยมารับบริการ เมื่อเรากระจายคนออกไปได้ คิวที่ออกันอยู่ก็จะไม่เกิด 

ส่วนที่ยากที่สุดของ QueQ 

โรงพยาบาลครับ (หัวเราะ) ถึงจะเป็นปัญหาเรื่องคิวเหมือนกันแต่ผมว่าคนละเวย์เลย ไม่ได้ยากที่การจัดคิว แต่ยากตรงการบริหารจัดการยังไงให้คิวของคนที่จองออนไลน์เข้ามาได้พบหมอตามช่วงเวลาที่จองไว้ ส่วนคนที่วอล์กอินก็ไม่ต้องมานั่งรอเหมือนเดิม มันเลยกลายเป็น 2 ระบบที่เข้ามาอยู่ด้วยกัน แต่ในแผนกต้องไม่แน่นขนัด 

นอกจากโรงพยาบาล เราทำระบบให้กับภาครัฐอีกหลายอย่างทั้งการจัดการคิวคนไทยในต่างแดนให้ได้กลับบ้าน ผ่านการทำ Fit to Fly Health Certificate ที่คนมารอกันจนล้นหน้าสถานทูตไทยในลอนดอน พอ Depa ส่งเรื่องมาให้ เราก็ Set up กันสด ๆ เลย แล้วก็ให้ทางสถานทูตหาแท็บเล็ตเอาเพราะเราส่งไปไม่ได้ คิวที่เคยออกันเต็มหน้าถนนก็หายวับไปกับตา และขยายมาสู่ภาครัฐที่อื่นที่มีปัญหาแบบเดียวกันแล้วเริ่มเห็นภาพว่าโซลูชันนี้มันแก้ปัญหาได้ ซึ่งตอนนั้นมีแค่ QueQ เจ้าเดียวที่ทำตลาดแบบนี้ 

ระบบการแยงจมูก (Swob Test) ของสาธารณสุขเราก็ทำ แม้กระทั่งการฉีดวัคซีนโควิด ของกทม. ก็ยังใช้งาน QueQ อยู่ ยังไม่รวมการไปทำระบบให้สถานที่ราชการที่มีปัญหาเรื่องประชาชนเข้าไปรับบริการเยอะ ๆ เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) หรือ สน.ทองหล่อ ที่เทสต์ระบบของเรามา 3 ปีแล้ว

ล้มแล้วรีบลุก 

เห็นว่าธุรกิจไปได้สวยแบบนี้ คุณโจ้ ยอมรับว่า QueQ ก็มีช่วงที่เจ็บหนักอยู่เหมือนกัน เราไปทำตลาดที่มาเลเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น พอเราตั้งบริษัทเรียบร้อยแล้ว โควิดก็มาตูม ร้านอาหารปิดหมด แล้วตลาดที่เราไปทำในทุกประเทศเราใช้ท่าเดียวกับที่ไทย ที่ต้องรุกตลาดร้านอาหารก่อนเพื่อให้คนรู้จัก แล้วค่อยขยายไปยังโซลูชันอื่น ๆ ตอนนั้นเลยปิดโอเปอเรชัน ตัดออกหมด เอาไทยให้รอดก่อน หลังปิดราวน์ ซีรีย์ B เราจะโอเปอเรตและไปด้วยท่าใหม่อาจจะต้องหาพาร์ตเนอร์จริง ๆ ที่เป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นในแต่ละประเทศเพื่อช่วยเราขยายให้เร็วที่สุด และการไปครั้งนี้เรามีครบแทบจะทุก Segment ไม่ใช่แค่ร้านอาหารแล้ว 

“น่าเสียดายช่วงโควิด-19 เรามีเกือบ 100 สาขา Traffic ก็มาแต่พอโควิดมา เราปิดตัวไปแล้ว”

ทำไมต้องจำกัดรัศมี 5 กิโลเมตร  

มีคำถามเข้ามาเยอะครับ ว่าทำไมต้องจำกัดบริเวณ หลายคนที่เพิ่งใช้แอปจะไม่ค่อยเข้าใจทำไมจองจากบ้านไม่ได้ คุณโจ้อธิบายว่า เราต้องสร้างสมดุลระหว่าง Pain Point ทั้ง 2 ข้าง ให้เท่ากัน บางครั้งคนกดจองคิวแล้วไม่มาหน้าร้านก็ต้องกดข้ามคิวกันยิก ๆ เลย เราเลยให้ร้านเป็นคนตัดสินใจว่าเขาจะเปิดให้จองคิวจากระยะเท่าไหร่ เช่น ยะลา เปิดครอบคลุมทั้งจังหวัดเพราะขับรถมาทัน 

“อยู่ที่ร้านเลย จะเซตให้ระยะห่างกี่กิโล หรือบางร้านที่เปิดฟรี จองเป็นสลอตเวลาก็มี จองเป็นโต๊ะมาก็ได้ มีหลายแบบให้เลือก” 

แอปใช้ฟรี เราได้อะไร 

คิวคิว เป็นธุรกิจแบบ B2B ทุกร้านที่เอาคิวคิวไปลง จะถูกเก็บค่าบริการ โดยจะคิดเป็นรายเดือน ระบบก็ไม่จำเป็นต้องไปติดตั้งอุปกรณ์อะไรที่สาขา แค่เอาอุปกรณ์ไปวางก็สามารถใช้งานได้เลย คิวคิวจะ Set Up ทุกอย่างจากหลังบ้านแบบ On Cloud 

เป้าหมายในอนาคตของคิวคิว 

No More Queue Line คือเป้าหมายแรก แต่เราซ่อนคำว่า Spend your time wisely ไว้หลังจากนั้น ซึ่งเราสามารถทำแล้วเห็นผล จนตอนนี้เรามียูสเซอร์หลายล้าน ตอนนี้เรากำลังเปลี่ยนผ่านสู่ Spend your time wisely เพราะมันมีเรื่องหนึ่งที่พอเราทำไปแล้วเกิดผู้ใช้งานกลับเข้ามา

แทนที่เขาจะไปรอคิวเขาได้เวลากลับคืนมา แล้วเวลาตรงนั้นเราสามารถสร้างคุณค่าอะไรบางอย่างให้กับเขา สำหรับช่วงเวลาได้ไหม เป็นอีกเรื่องที่ใช้เวลาให้มันฉลาด แทนที่จะต้องรออีกชั่วโมงนึง คุณอยู่เซ็นทรัลใช่ไหม มีลดราคาอยู่ที่ร้านนี้นะ หรือมีโปรโมชันนู่น นี่ อยู่แถวนั้น หรือแบบอุทยานแห่งชาติที่เราไป Cover คุณกำลังจะไปอุทยานฯ เดือนหน้าใช่ไหม? แล้วเราสามารถที่จะเสริมอย่างอื่น เพราะว่าการเดินทางต้องมีเครื่องบิน จองตั๋วรถ เราสามารถที่จะเสนออะไรบางอย่างเพื่อให้เขาไปใช้เวลา ในจุดที่เขาอยากไปได้ฉลาดมากขึ้นได้เก่งมากขึ้น นั่นคืออีกจุดหนึ่งที่เรากำลังจะไป    

ภาพ: ศักดนัย กลางประพันธ์

กราฟิกดีไซเนอร์: พัฒนพล หวังพิทักษ์วงศ์

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส