ประเด็นเรื่องข้อพิพาทระหว่างผู้ประกอบการแท็กซี่และแอปฯ เรียกรถอย่าง Grab กลับมาเป็นกระแสในสังคมไทยอีกครั้ง หลังเกิดถกเถียงกันมาอย่างยาวนานเกี่ยวกับการแข่งขันในการให้บริการลูกค้า และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ไม่ชัดเจน

แต่กว่าที่ Grab จะก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทสตาร์ตอัปมูลค่าหลายหมื่นล้านเหรียญ ให้บริการหลากหลายในหลายประเทศนั้น จน ‘การเรียก Grab’ กลายเป็นคำสามัญติดหูสำหรับบริการเรียกรถและเดลิเวอรีในชีวิตประจำวันของผู้คนจำนวนมาก

หากย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของ Grab นั้นมาจากเพียงไอเดียเล็ก ๆ ในห้องเรียนธุรกิจ

ธุรกิจเรียกรถหมื่นล้านสร้างจากห้องเรียน

ณ ห้องเรียนวิชาธุรกิจของมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด Anthony Tan และ Tan Hooi Ling นักศึกษาสองคนมีไอเดียร่วมกันที่ต้องการแก้ปัญหารถแท็กซี่ในมาเลเซีย

Anthony Tan เติบโตมาในครอบครัวนักธุรกิจยานยนต์ใหญ่ของมาเลเซีย โดยปู่ของเขาเคยประกอบอาชีพขับแท็กซี่มาก่อนที่จะสร้างบริษัท Tan Chong Motor ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ทำให้เขาคุ้นเคยกับวงการรถยนต์ตั้งแต่วัยเยาว์

ส่วน Tan Hooi Ling เรียนจบวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัย Bath และเคยทำงานที่บริษัทที่ปรึกษา McKinsey & Co. ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนให้เธอไปเรียนต่อ MBA ที่ Harvard

ไอเดียธุรกิจครั้งนี้เริ่มจากการรวบรวมปัญหาในการใช้บริการแท็กซี่ที่เพื่อน ๆ ชาวมาเลเซียพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไม่ปลอดภัยระหว่างโดยสาร การถูกคนขับโก่งราคา หรือการเรียกรถที่ยากลำบาก สิ่งเหล่านี้จุดประกายให้ทั้งสองตระหนักว่า นี่เป็นโอกาสสร้างธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม ประกอบกับเทรนด์การใช้งานสมาร์ตโฟนและอินเทอร์เน็ตในมาเลเซียก็กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งสองจึงเห็นช่องทางที่จะใช้เทคโนโลยีมือถือมาช่วยแก้ปัญหา โดยสร้างแอปพลิเคชันมือถือที่เชื่อมต่อผู้โดยสารกับคนขับแท็กซี่ที่อยู่ใกล้เคียงแบบเรียลไทม์

ทั้งคู่ได้นำไอเดียนี้ไปพัฒนาต่อเป็น โครงการส่งท้ายหลักสูตร MBA และเข้าร่วมการแข่งขันแผนธุรกิจ Harvard Business School New Venture Competition 2011 ผลปรากฏว่าแผนธุรกิจแอปฯ เรียกแท็กซี่ชนะรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้เงินทุนตั้งต้นราว 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 820,000 บาท)

แนวคิดนี้คล้ายกับบริการของ Uber ที่กำลังเติบโตในสหรัฐฯ แต่มีจุดแข็งที่สำคัญคือ Grab ต้องการทำงานร่วมกับคนขับแท็กซี่ในท้องถิ่น เกิดเป็นกลยุทธ์แบบ win-win เป็นตัวกลางช่วยให้ผู้โดยสารรู้สึกปลอดภัย สะดวกขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยคนขับแท็กซี่หารายได้และหาลูกค้าได้ง่ายกว่าเดิม

จาก MyTeksi สู่ Grab แอปฯ สามัญประจำชาวกรุง

ในปี 2012 Anthony Tan นำเงินรางวัลนี้บวกกับเงินเก็บส่วนตัว เริ่มลงมือพัฒนาแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “MyTeksi” (มาจากคำว่าแท็กซี่ในภาษามาเลย์) เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลางระหว่างแท็กซี่กับผู้โดยสาร และเปิดตัวแอปฯ MyTeksi อย่างเป็นทางการในกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของ Grab ในเชิงพาณิชย์

ความท้าทายในช่วงแรกของ MyTeksi มีทั้งบริษัทแท็กซี่และคนขับส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าจะได้ประโยชน์อะไรจากแอปใหม่นี้ ทำให้ไม่สนใจเข้าร่วมแพลตฟอร์มง่าย ๆ รวมถึง Tan Hooi Ling ซึ่งเป็นผู้ร่วมบุกเบิกไอเดียมาตั้งแต่ต้น ยังจำเป็นต้องเดินทางกลับไปทำงานที่ McKinsey ตามเงื่อนไขทุนที่ได้รับ

ทำให้ Anthony Tan ต้องเดินหน้าธุรกิจเพียงลำพังในระยะเริ่มแรก เดินหน้าอธิบายและโน้มน้าวถึงข้อดีของแพลตฟอร์ม MyTeksi แต่ในเวลาไม่นาน MyTeksi เริ่มมีทั้งคนขับและผู้โดยสารสมัครใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนยอดดาวน์โหลดทะลุ 400,000 ครั้งภายในไม่กี่เดือนแรก หลังเปิดตัวถือเป็นสัญญาณว่าโมเดลธุรกิจนี้ไปต่อได้ในตลาดมาเลเซีย

เมื่อฐานผู้ใช้ในมาเลเซียเริ่มมั่นคง Anthony จึงมองไปยังการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ ในปี 2013 MyTeksi ได้เริ่มขยายบริการไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และไทย พร้อมกับรีแบรนด์เปลี่ยนชื่อจาก MyTeksi มาใช้คำที่เป็นสากลมากขึ้นว่า “GrabTaxi” แล้วแอปฯ ก็ได้การตอบรับที่ดี ภายในปี 2013 ระบุว่ามียอดดาวน์โหลดกว่า 1.2 ล้านครั้ง และทยอยเปิดตัวใน เวียดนามและอินโดนีเซีย ส่งผลให้ภายในสิ้นปี 2014 GrabTaxi ให้บริการแล้วใน 6 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ติดปีกสตาร์ตอัปยูนิคอร์นแห่งอาเซียน

การเติบโตอย่างรวดเร็วของ GrabTaxi ทำให้นักลงทุนเริ่มให้ความสนใจ กองทุน GGV Capital ที่สิงคโปร์ ซึ่งมองเห็นศักยภาพของธุรกิจนี้ตัดสินใจลงทุนใน GrabTaxi 15 ล้านเหรียญ (ประมาณ 496 ล้านบาท) เพื่อช่วยต่อยอดธุรกิจ จึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนรายอื่น ๆ หันมาร่วมลงทุนตาม ไม่ว่าจะเป็น Tiger Global และรายใหญ่อย่าง SoftBank จากญี่ปุ่นที่อัดฉีดทุนก้อนใหญ่ถึง 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8.26 พันล้านบาท)

ในช่วงเวลาเดียวกับที่บริษัทได้รับเงินทุนมหาศาล Tan Hooi Ling ก็กลับมาร่วมงานกับ GrabTaxi อีกครั้ง หลังจากครบกำหนดทำงานใช้ทุนที่ McKinsey โดยเธอเข้ารับตำแหน่งประธานฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ของบริษัท ทำให้ GrabTaxi เร่งขยายบริการแบบก้าวกระโดด ภายในปี 2015 บริษัทได้เพิ่มบริการใหม่ ๆ นอกเหนือจากแท็กซี่ เช่น GrabCar (รถยนต์ส่วนบุคคลรับจ้าง), GrabBike (มอเตอร์ไซค์รับจ้าง) และ GrabExpress (บริการส่งพัสดุ) พร้อมทั้งขยายตลาดครอบคลุมประเทศหลักครบทุกประเทศในภูมิภาค

GrabTaxi กลายเป็นสตาร์ตอัปรายแรก ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ก้าวสู่สถานะยูนิคอร์น มูลค่ากิจการเกิน 1,000 ล้านเหรียญได้สำเร็จภายในปี 2016

ในปี 2016 Grab ได้รีแบรนด์ตัวเองครั้งสุดท้ายเป็น “Grab Holdings Inc.” และแตกไลน์ธุรกิจเป็น “ซูเปอร์แอป” ที่ให้บริการครอบคลุมทั้งการเดินทาง เดลิเวอรี และบริการทางการเงินครบวงจร ทุกวันนี้ Grab ให้บริการใน 8 ประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไทย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, เมียนมา และกัมพูชา) และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนเมืองในภูมิภาคนี้ไปแล้ว

ในปี 2018 Grab ได้สร้างความฮือฮาไปทั่วโลกด้วยการประกาศ เข้าซื้อกิจการของ Uber ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ทำให้ Uber ต้องถอนตัวออกจากภูมิภาค แลกกับการเข้าถือหุ้น 27.5% ใน Grab ดีลครั้งนี้ตอกย้ำว่า Grab คือผู้เล่นเบอร์หนึ่งที่ครองตลาดเรียกรถของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแท้จริง และเป็นบทพิสูจน์ว่าสตาร์ตอัปท้องถิ่นสามารถเอาชนะยักษ์ใหญ่ระดับโลกได้ด้วยความเข้าใจตลาดและลูกค้าในพื้นที่ดีกว่า

ผู้พลิกเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมแท็กซี่ดั้งเดิม

การเกิดขึ้นของ Grab และแอปเรียกรถอื่น ๆ ได้เปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมแท็กซี่ดั้งเดิมไปอย่างสิ้นเชิง ในด้านผู้โดยสาร เทคโนโลยีทำให้การเรียกรถมีความสะดวก รวดเร็ว และโปร่งใสมากขึ้น ผู้โดยสารสามารถเห็นชื่อคนขับ เส้นทาง ราคา และแชร์ตำแหน่งการเดินทางให้ผู้อื่นเพื่อความปลอดภัยได้ ซึ่งช่วยแก้ไขปัญหาการโก่งราคาและความไม่ปลอดภัยที่เคยเกิดขึ้นบ่อยครั้งในอดีต

สำหรับคนขับแท็กซี่ Grab เปิดโอกาสให้พวกเขาเข้าถึงผู้โดยสารจำนวนมากผ่านระบบจับคู่อัตโนมัติ ลดเวลาว่างในการขับรถตระเวนหาผู้โดยสารเปล่า ๆ เพิ่มประสิทธิภาพการหารายได้ต่อวัน

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของแอปฯ เรียกรถอย่าง Grab ดิสรัปต์อุตสาหกรรมขนส่งแบบเก่าส่งผลกระทบด้านลบกับผู้เล่นรายเดิม หลายประเทศเกิดกระแสต่อต้านจากกลุ่มคนขับแท็กซี่ดั้งเดิมที่มองว่าการเข้ามาของ Grab และบริการเรียกรถผ่านแอปทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม คนขับแท็กซี่จำนวนหนึ่งประท้วงและเรียกร้องให้ภาครัฐแบนบริการ Grab หรือกำหนดกฎเกณฑ์ควบคุมอย่างเข้มงวด

ทำให้ภาครัฐในหลายประเทศต้องทยอยปรับปรุงกฎระเบียบ รองรับบริการเรียกรถผ่านแอปให้ถูกกฎหมายมากขึ้น เช่น การออกใบอนุญาตให้ GrabCar หรือบริการเรียกรถส่วนบุคคลดำเนินการได้ภายใต้ข้อกำหนดด้านความปลอดภัยและค่าโดยสารที่ควบคุมได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทรถแท็กซี่แบบดั้งเดิมหลายแห่งได้ริเริ่มพัฒนาแอปเรียกรถของตนเองหรือร่วมมือกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเพื่อให้ยังสามารถแข่งขันในยุคดิจิทัลได้

ในท้ายที่สุดแล้ว ผู้ชนะที่แท้จริงคือผู้โดยสาร ที่ได้รับบริการที่มีคุณภาพขึ้น ในขณะที่ผู้ให้บริการแท็กซี่ก็ถูกยกระดับมาตรฐานการให้บริการตามไปด้วย

รวมทั้งเรื่องราวของ Grab เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของสตาร์ตอัปซึ่งเริ่มจากปัญหาที่พบเจอ ผนวกกับด้วยวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่และความมุ่งมั่นของผู้ก่อตั้ง ก็สามารถเติบโตจนกลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกได้สำเร็จ จากการแก้ปัญหารถแท็กซี่เล็ก ๆ ในมาเลเซีย สู่การพลิกโฉมระบบขนส่งและบริการเดลิเวอรีทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้เห็นว่า นวัตกรรมสามารถเกิดขึ้นที่ใดก็ได้ ขอเพียงเริ่มต้นจากการลงมือแก้ปัญหาใกล้ตัวอย่างสร้างสรรค์ และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่ขวางอยู่