หากจะพูดถึงความปกติแบบใหม่หรือที่เรียกกันว่า New Normal ที่หมายถึง พฤติกรรมรูปแบบใหม่ของผู้บริโภคหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พฤติกรรมหลายอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก่อนเกิดการแพร่ระบาด ซึ่งในขณะนี้แวดวงการบินโดยเฉพาะสายการบินพาณิชย์ก็เริ่มขยับตัว มองหานวัตกรรมใหม่สำหรับการหาทางออกในเรื่องนี้แล้ว เริ่มจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบของที่นั่งบนเครื่องบินโดยสารให้มี “ระยะห่างทางสังคม” มากยิ่งขึ้น โดยบริษัทที่รับออกแบบภายในของที่นั่งผู้โดยสารได้ออกแบบหน้าตาของที่นั่งใหม่ให้หันหน้าคนละด้านแบบสลับหน้าหลังเผยแพร่ออกมา

บริษัท Avionteriors ของชาวอิตาเลียนได้นำเสนอเก้าอี้ที่นั่งในชั้นธุรกิจแบบสลับหน้าหลัง ตามแนวคิดที่ว่า “ความต้องการใหม่ (ระยะห่างทางสังคม) ในพื้นที่จำกัดเช่นเดิม” การออกแบบที่นั่งใหม่นี้ถูกเรียกชื่อว่า “ยานุส  (Janus)” อ้างอิงถึงชื่อเทพเจ้าโบราณของกรีก โดยเป็นที่นั่ง 2 ด้าน ตรงกลางเป็นที่นั่งที่หันด้านหลังกลับด้านระหว่างเก้าอี้อีกสองตัวที่หันไปด้านหน้า และระหว่างที่นั่งทั้ง 3 ตัวจะมีที่กั้นพลาสติกใสเพื่อรักษาความป้องกันละอองฝอยของสารคัดหลั่งที่อาจได้รับมาจากการหายใจของผู้โดยสารที่นั่งติดกัน และการออกแบบใหม่นี้จะทำให้ผู้โดยสารที่นั่งระหว่างแถวติดกันไม่ต้องเผชิญหน้ากันโดยตรง เพราะนั่งเหลื่อมกันสลับฟันปลา

ที่นั่งแบบใหม่ที่บริษัทออกแบบภายในของชาวอิตาเลี่ยนร่างขึ้น จะเห็นเป็นแบบสลับฟันปลา

ที่นั่งแบบใหม่ที่บริษัทออกแบบภายในของชาวอิตาเลี่ยนร่างขึ้น จะเห็นเป็นแบบสลับฟันปลา

ยังไม่มีความแน่ชัดว่าเก้าอี้ผู้โดยสารแบบใหม่นี้จะถูกนำไปใช้บนเครื่องบินจริง ๆ เมื่อไรและโดยสารการบินใดเป็นสายการบินแรก แต่ก็ทำให้เห็นว่า มนุษย์พร้อมปรับตัวรับกับสถานการณ์เพื่อให้ลูกค้าคลายความกังวลและธุรกิจยังดำเนินต่อไปได้ แม้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะในการตรวจสอบกับข้อกำหนดและมาตรฐานทางการบินว่าสามารถนำเก้าอี้แบบใหม่นี้ไปใช้จริงได้มากน้อยเพียงใด เพราะแต่ละที่นั่งยังคงเผื่อพื้นที่ห่างกัน 7 นิ้วสำหรับการอพยพในกรณีฉุกเฉิน การปรับตัวครั้งนี้เป็นความปกติใหม่ของแวดวงการบินพาณิชย์ที่ต้องเกิดขึ้น หลังจากธุรกิจสายการบินจากทั่วโลกหยุดชะงักการให้บริการไปมากกว่า 1 เดือนแล้ว

ที่กั้นใสระหว่างที่นั่งซึ่งดูจะเป็นการออกแบบที่เกิดขึ้นจริงได้ง่ายและเร็วกว่า

ที่กั้นใสระหว่างที่นั่งซึ่งดูจะเป็นการออกแบบที่เกิดขึ้นจริงได้ง่ายและเร็วกว่า

นอกจากยานุสแล้ว บริษัท Avionteriors ก็ยังได้นำเสนออีกชิ้นงานออกแบบที่ดูจะเกิดขึ้นจริงได้ง่ายกว่าคือ ที่กั้นระหว่างที่นั่งหรือ Glassafe เพราะไม่จำเป็นต้องปรับการใช้งานที่แตกต่างจากข้อกำหนดและมาตรฐานทางการบินมากนัก โดยนำพลาสติกใสทำเป็นที่กั้นมากั้นไว้ระหว่างกัน อย่างไรก็ดี การที่ผู้โดยสารจะยังคงต้องนั่งติดกันแบบนี้ก็ไม่สามารถเรียกได้ว่า ผู้โดยสารมีระยะห่างทางสังคมที่ควรจะนั่งห่างกัน 6 ฟุตหรือ 2 เมตร

Aviointeriors ได้เปิดเผยกับสำนักข่าว CNN ที่รายงานข่าวนี้ว่า มีสายการบินตอบรับและให้ความสนใจกับการออกแบบทั้งสองชิ้นนี้แล้ว และบริษัทจะเริ่มออกแบบให้ใช้งานได้จริงในทางวิศวกรรม (Engineering Design) ในขั้นต่อไป ซึ่งจะต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานผู้กำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ทางการบินเสียก่อน โดยบริษัทเชื่อว่า จะสามารถเห็นที่นั่งแบบนี้จริงหลังได้รับการอนุมัติและเดินหน้าผลิตในอีกราว 8-11 เดือนข้างหน้า

 

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส