ก่อนหน้านี้ในโซเชียลเน็ตเวิร์กได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันถึงความสำคัญของวิชาประวัติศาสตร์ในหลักสูตรของนักเรียน งานเกษมสันต์ บุ๊คแฟร์ นี้เป็นงานที่เหมาะสมที่จะมาสืบเสาะ หาคำตอบว่าประวัติศาสตร์นั้นมีความสำคัญอย่างไร

เกษมสันต์ บุ๊ค แฟร์ เป็นงานหนังสือเล็ก ๆ ที่เน้นหนังสือแนวประวัติศาสตร์ โดยสำนักพิมพ์ที่เข้าร่วมงานมีมากหน้าหลายตา แต่ละที่ล้วนเป็นสำนักพิมพ์ที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักเรื่องหนังสือประวัติศาสตร์กันอยู่แล้ว โดยเฉพาะสำนักพิมพ์มติชน มูลนิธิโครงการตำรา สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป สำนักพิม์แสงดาว สำนักพิมพ์ยิปซี สำนักพิมพ์โซเฟีย (ในเครืออมรินทร์) รวมถึงเคล็ดไทย และวิภาษาก็ร่วมงานด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าจำนวนผู้ขายหนังสือจะมีน้อยราย แต่หนังสือของแต่ละเจ้าล้วนคุณภาพคับแน่น มีทั้งหนังสือออกใหม่ หนังสือหายาก และหนังสือที่หายากมากที่สุด ยากประเภทที่พี่จิ๋วแห่งมูลนิธิโครงการตำราบอกว่า บางเล่มก็เหลืออยู่แค่เล่มเดียว แถมยังมีการกระซิบถึงราคาที่ขายกันอยู่ในตลาดมือสอง พอได้ยินราคาแล้วถึงกับอึ้งไปหลายคน ถ้าไม่ซื้อตอนนี้แล้วจะไปซื้อตอนไหนล่ะ!!  (แอบชี้ไปที่ประมวลแผนที่ประวัติศาสตร์-ภูมิศาสตร์-การเมืองกับลัทธิอาณานิมในอาเซียน-อุษาคเนย์)

“บางเล่มก็ได้คืนจากสำนักพิมพ์มาแค่เล่มสองเล่ม อย่างเล่มนี้เล่มเดียว ราคาปกห้าร้อยกว่าบาท ราคาขายกันข้างนอกน่าจะคูณกันไปหลายเท่า” คุณจิ๋วจากโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ชี้ไปที่หนังสือเล่ม “อินเดียมหัศจรรย์” และหนังสืออีกหลายเล่มของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

ประวัติศาสตร์เป็นศาสตร์ที่กว้างมาก ทั้งยังเกี่ยวพันกับเรื่องมนุษยวิทยาอย่างห้ามไม่ได้ เพราะฉะนั้นหนังสือที่วางจำหน่ายจึงไม่ได้มีเพียงแค่การเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตเท่านั้น แต่ยังมีบริบทสังคมของผู้คนในแต่ละสมัย ยกตัวอย่างเช่นหนังสือหายากเกี่ยวกับชนชาติ สยามหรือไทย ไทยดำ ไทยขาว ไทยแดง คนมอญ คนเขมร รวมไปถึงเรื่องราวของคนอีสาน ทำไมถึงมีการแบ่งแยกเป็นคนอีสาน คนลาว เพราะเหตุใดจึงมีการใส่กรอบครอบผู้คนเหล่านี้ว่าเป็นคนอีสาน เนื้อหาน่าสนใจเหล่านี้อัดแน่นอยู่ในหนังสือที่วางขายในงานนี้แล้วเรียบร้อย

“มันเป็นงานหนังสือประวัติศาสตร์ครั้งแรกในประเทศไทย ผมอยากให้มันนิช ผู้คนที่มามีความสนใจด้านเดียวกัน มาแล้วก็แทบไม่ต้องตามหาอะไร เหมือนอยู่กับอะไรที่ใช่กับตัวพวกเขาแล้ว” คุณต้น พัลลภ สามสี ผู้จัดงานได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับงานหนังสือแสนน่ารักนี้ “หวังว่าจะจัดต่อไปทุกปี แต่ละปีก็มีธีมที่แตกต่างกันไป” และเมื่อถามถึงชื่องานเกษมสันต์ คุณพัลลภได้ตอบอย่างง่าย ๆ สบาย ๆ ว่า “ชื่อซอยไง” โดยเกษมสันต์เป็นชื่อซอยที่ตั้ง The Jim Thompson Art Gallery ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานหนังสือนี้ “ความหมายมันดีโดยตัวของมันอยู่แล้วด้วย แปลว่าดี รื่นรมย์ สนุกสนาน”

นอกจากหนังสือหายากมากมายแล้ว ยังมีกิจกรรมเสวนาอีกหลายหัวข้อที่คอยจัดระหว่างงาน หัวข้อในวันแรกคือ “สงครามเย็นยะเยือก” พูดคุยโดย ดร.ปรีดี หงษ์สต้น และ พิธีกรร่วมเสวนา ดร.กฤติยา กาวีวงศ์ จากนั้นยังมีเสวนาครึกครื้นอย่าง”วิถีแห่งคนจรดาบ ประวัติศาสตร์ในนิยาย” จาก ผู้กำกับหนังชื่อดังคุณวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักพิมพ์มติชน โดยถือเป็นการเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ของสำนักพิมพ์ด้วย นอกจากนั้นยังมีหัวข้อที่น่าสนใจอีกหลายหัวข้ออย่างเช่น “ประวัติศาสตร์ลับปิดฉากจักรวรรดิอังกฤษ : Indian Summer” ซึ่งเป็นการเสวนาเพื่อแนะนำหนังสือเรื่อง Indian Summer จากสำนักพิมพ์ยิปซี ส่วนหัวข้อที่โดนใจที่สุดก็คงไม่พ้นเรื่อง “Isan Mainstream บ่แม่นของแปลกเด้อ” ที่คนอีสานหลายๆคนอาจจะรู้สึกร่วมและมีความคิดเห็นที่ต้องการจะแชร์มากมายอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ท่านใดที่ไม่มีเวลาไปฟังสัมมนา สามารถฟังย้อนหลังได้ที่เพจของทาง The Jim Thompson Art Center

ถึงแม้จะเป็นงานหนังสือเล็ก ๆ ดูอบอุ่น รายล้อมไปด้วยต้นไม้ ร้านกาแฟด้านล่าง และที่นั่งกลางแจ้ง แต่สิ่งที่แอบแฝงอยู่ในงานนั้นหนักแน่น อาจเรียกได้ว่าเป็นงานที่ “แสบใช่ย่อย” เลยก็ได้ อ้างอิงจากที่ ดร.กฤติยา กาวีวงศ์ ได้ถาม ดร.ปรีดี หงษ์สต้น ว่าทำไมเราถึงต้องเรียนประวัติศาสตร์ คำตอบที่ได้รับกลับมานั้นพาผู้ที่นั่งฟังสัมมนาและผู้ขายหนังสือในงานพากันยิ้มและพยักหน้าตาม โดนคำตอบที่ว่านั่นก็คือ

“ผมว่ามันแสบเลยนะ เพราะว่ามันบอกว่า อ้าว นี่มันไม่ใช่เลย ความจริงมันคืออีกอย่างหนึ่ง ความจริงร้อยปีที่แล้วเขาไม่ได้ทำแบบนี้ ยกตัวอย่างเช่นสตรีมุสลิมในอินโดนีเซียเมื่อก่อนก็ไม่ได้มีการคลุมผ้าเคร่งกันขนาดนี้ เห็นมั้ยว่ามันแสดงให้เห็นว่ามันท้าทายข้อเท็จจริงปัจจุบันว่า อ่อ มันสร้างขึ้น มันกำหนดขึ้นมาภายหลัง และประวัติศาสตร์ก็ถูกเอาไปใช้ในบริบทต่าง ๆ แต่ถ้าตอบให้กับลูกศิษย์ก็คือ ผมก็จะพูดว่า เออ มันแสบมั้ยล่ะ เพราะมันท้าทายกับความเชื่อของพวกเราด้วย”

งานเกษมสันต์ บุ๊คแฟร์ จัดที่ The Jim Thompson Art Gallery ชั้น 2 (ซอยเกษมสันต์2) งานจัดตั้งแต่วันที่ 3-6 มีนาคม 2565 ก่อนที่จะเดินถึงทางขึ้นชั้น 2 จะเจอร้านกาแฟ Artzy ที่ชั้นลอย เมื่อซื้อหนังสือแล้วสามารถไปสั่งกาแฟ อ่านหนังสือ ฟังเพลงไปพลาง ๆ กันก่อนกลับก็ได้

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส